ไม่มีฟันเคี้ยวก็อร่อยได้ เปิดเมนูอาหารสุขภาพน่าทาน เพื่อผู้สูงวัย
องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ภายในปี พ.ศ. 2593 ประชากรผู้สูงอายุในโลกนี้จะมีจำนวนประมาณ 2,200 ล้านคน "สังคมสูงวัย" จึงเป็นสังคมแห่งโอกาส โดยเฉพาะจะเกิดตลาดใหม่ที่เป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเลือกซื้อสูง ทั้งผู้สูงอายุ และผู้ดูแลผู้สูงอายุ
องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ภายในปี พ.ศ. 2593 ประชากรผู้สูงอายุในโลกนี้จะมีจำนวนประมาณ 2,200 ล้านคน "สังคมสูงวัย" จึงเป็นสังคมแห่งโอกาส โดยเฉพาะจะเกิดตลาดใหม่ที่เป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเลือกซื้อสูง ทั้งผู้สูงอายุ และผู้ดูแลผู้สูงอายุ
เมื่อเร็วๆ นี้ เครือข่าย CARE FOOD ประกอบด้วย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์กรมหาชน) (สวก.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันกำหนดทิศทางการวิจัยสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร ที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตในสังคมสูงวัยของประเทศไทย และผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ผู้ประกอบการสามารถผลิตและ จำหน่ายได้จริงในเชิงพาณิชย์
ภายในงานภายใต้แนวคิด “Health Food for Good Health” ได้นำ Technology Show Case ผลงานวิจัยผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อผู้สูงอายุมากกว่า 30 ผลงานมาแสดง บางเมนูเหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคต่างๆ อาทิ โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคกระดูกพรุน ผู้มีปัญหาการขบเคี้ยว รวมทั้งผู้ที่รักสุขภาพทั่วไป ก็มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารให้เลือกรับประทาน ซึ่งถูกคิดค้นมาแล้วจากกลุ่มนักวิจัยจากหลากหลายสถาบัน
เราลองมาดูหน้าตาอาหารเพื่อผู้สูงวัย จะน่ารับประทานขนาดไหน...
- ผลิตภัณฑ์อาหารข้นหนืดตำหรับไทยสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะกลืนลำบาก ผลงานวิจัยโดย ผศ.ดร.พร้อมลักษณ์ สมบูรณ์ปัญญากุล ปวีณ์ริศา ช้อยเชื้อดี และ ผศ.ดร.ฉัตรภา หัตถโกศลคณะสาธารณะสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ในปัจจุบันนักวิจัย เห็นว่า ผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมบริโภคสำหรับผู้สูงอายุในท้องตลาดมีอยู่จำกัด ส่วนใหญ่อยู่ในรูปเครื่องดื่มและอาหารเสริม ซึ่งเป็นของเหลวหรือมีเนื้อสัมผัสไม่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะกลืนลำบาก ทำให้เสี่ยงต่อการสำลักและติดเชื้อที่ปอด จึงได้มีการทำวิจัยผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะกลืนลำบากขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น ผู้สูงอายุที่สูญเสียฟัน ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โรคสมองเสื่อม โรคพาร์คินสัน ผู้ป่วยมะเร็งลำคอ กล่องเสียง หลอดอาหาร
ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ต้องเคี้ยว กลืนง่าย มีคุณค่าทางด้านโภชนาการครบถ้วน สามารถเปิดรับประทานได้ทันที สะดวกต่อการพกพา อายุการเก็บรักษานาน 1 ปี ที่อุณหภูมิห้องมีความหนืดอยู่ในช่วง 4.9-7.7 Pa.s และได้มีการทดสอบกับผู้สูงอายุที่มีภาวะกลืนลำบากแล้ว พบว่า มีเนื้อสัมผัสเหมาะสม และไม่ทำให้เกิดการสำลักในขณะรับประทาน อาทิ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ต้มข่าไก่เพียวเร่ ข้าวเหนียวมะม่วงเพียวเร่
- ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของเอนไซม์โบรมีเลนจากเหง้าเหลือใช้ของสับปะรด ผลงานวิจัยโดย ศาสตราจารย์ ภญ.ดร.อรัญญา มโนสร้อย ศูนย์วิจัยสุขภาพและความงาม มาโนเซ่
เหง้าสับปะรดเป็นของเหลือหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งมีเอนไซม์ที่สำคัญ คือ โบรมีเลน (bromelain) มีฤทธิ์ช่วยในการย่อยอาหารและสมานแผลในกระเพาะอาหาร และช่วยลดคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด และลดลิ่มเลือดในกระแสเลือดในผู้ที่มีปัญหาเส้นเลือดตีบตัน ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของเอนไซม์โบรมีเลน ที่จำหน่ายส่วนใหญ่มีราคาสูงและนำเข้าจากต่างประเทศ
ผลงานวิจัยนี้จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีฤทธิ์เสริมภูมิคุ้มกันที่มีส่วนผสมของเอนไซม์โบรมีเลนจากเหง้าสับปะรดที่เพาะปลูกในประเทศไทย โดยพัฒนาการสกัดโบรมีเลนจากเหง้าสับปะรดให้ได้เอนไซม์ที่มีฤทธิ์สูงและนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีฤทธิ์เสริมภูมิคุ้มกันต้านอนุมูลอิสระและต้านมะเร็ง โดยมีต้นทุนการผลิตต่ำ มีประสิทธิภาพและปลอดภัย
สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชุดนี้มีส่วนผสมของเอนไซม์โบรมีเลนจากเหง้าสับปะรดในรูปแบบแคปซูล มี 2 ชนิด คือแคปซูลที่บรรจุแกรนูลที่มีส่วนผสมของสารสกัดโบรมีเลนอย่างเดียว และแคปซูลที่บรรจุแกรนูลที่มีส่วนผสมของสารสกัดโบรมีเลนผสมสารสกัดขมิ้นชัน ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ กระตุ้นภูมิคุ้มกันและต้านการแบ่งตัวในเซลล์มะเร็งปอด ซึ่งรับประทานวันละ 1 แคปซูล (500 mg) เหมาะสำหรับกลุ่มที่มีปัญหาระบบการย่อยอาหารและผู้ที่ต้องการเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ
- ผลิตภัณฑ์อาหาร โลว์จีไอ (Low GI) ผลงานวิจัยโดย รศ.ดร.ศิริธร ศิริอมรพรรณ หน่วยวิจัยการพัฒนากระบวนการแปรรูปและผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ ภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคเบาหวานมากถึงประมาณ 358 ล้านคน และตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่าประมาณ 20 ปีข้างหน้า ในปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยเบาหวานมากถึง 5 ล้านคน หนึ่งในปัญหาที่ทำให้เกิดโรคเบาหวาน ก็คือ พวกแป้งหรือข้าว เมื่อบริโภคในปริมาณมากจะทำให้แป้งเปลี่ยนเป็นน้ำตาลและสะสมในร่างกาย เป็นสาเหตุของโรคเบาหวานและภาวะอ้วน เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะทำให้สามารถบริโภคข้าวหรืออาหารที่มีแป้งต่อไป คงต้องมีการพัฒนาระบบการหรือเทคโนโลยีที่ทำให้ทานข้าวหรืออาหารที่มีแป้งปลอดภัยมากขึ้น
นักวิจัยจึงได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปอาหารด้วนกรรมวิธีพิเศษ ที่มีแป้งหรือข้าวให้มีการเปลี่ยนแปลงคือ ให้แป้งสามารถย่อยเป็นน้ำตาลช้าลง ความหมายคือเมื่อแป้งเปลี่ยนเป็นน้ำตาลช้าลง ก็จะทำให้น้ำตาลเข้าสู่เลือดในร่างกายได้น้อยลง ผลิตภัณฑ์นี้เรียกว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีโลว์จีไอ (Low GI ) หรือผลิตภัณฑ์ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลหรือค่า Glycemic index (GI) ต่ำ ซึ่งในผลิตภัณฑ์นี้จะกำหนด GI ที่ต่ำกว่า 55
ปัจจุบันได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาในหลายรูปแบบ ได้แก่ ข้าวบรรจุถุง โจ๊ก ซุปข้าว ซีเรียลบาร์ เป็นหนึ่งในการป้องกันโรคเบาหวาน ทำให้ผลิตภัณฑ์นี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวานและผู้รักสุขภาพทั่วไป
- ผลิตภัณฑ์อาหารผู้สูงอายุที่มีภาวะอ้วนลงพุง ผลงานวิจัยโดย ดร.เนตรนภิส วัฒนสุชาติ สถาบันค้นค้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
งานวิจัยนี้ได้พัฒนาอาหารพร้อมบริโภคที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมด้วยสารอาหารที่ช่วยสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุให้แข็งแรงโดยใช้ส่วนผสมที่เป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพดี และมีพืชผักที่เป็นแหล่งแคโรทีนอยด์ (carotenoids) และปรับให้ปริมาณน้ำตาล ไขมันและโซเดียมลดลง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันและคอเลสเตอรอลสูง โรคหลอดเลือดอุดตัน รวมไปถึงโรคหัวใจ
ผลิตภัณฑ์อาหารชุดนี้ ประกอบด้วย 6 เมนู ได้แก่ ซุปผักหมู่ตุ๋น ผักผัดเปรี้ยวหวาน สตูว์ไก่ถั่วพี ปลาทูต้มน้ำอ้อย ออมเล็ตผักโขม และข้าวต้มลูกชิ้นปลาอินทรีย์ ซึ่งช่วยในการเสริมใยอาหาร เป็นผลิตภัณฑ์พร้อมบริโภคที่มีโปรตีนสูง น้ำตาล ไขมัน และโซเดียมต่ำ เมื่อเทียบกับอาหารในท้องตลาด มีรสชาติอร่อย เนื้อนุ่ม เคี้ยวง่าย เหมาะสำหรับผู้สูงอายุและผู้ดูแล สามารถหารับประทานได้สะดวกรวดเร็ว และที่สำคัญเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาการบดเคี้ยว
ทั้งหมด คือเมนูที่ลูก-หลาน สามารถซื้อหามาให้ผู้สูงอายุบริโภคได้ นอกจากมีประโยชน์ ดีต่อสุขภาพแล้ว ผลิตภัณฑ์อาหารผู้สูงอายุยังคงรสชาติแบบเดิมที่เคยได้รับถึงแม้สภาวะร่างกายจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
ข้าวผัดผงกระหรี่หน้าปลานึ่ง สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะโรคกระดูกพรุน
กุยช่ายสำหรับผู้มีปัญหาการขบเคี้ยว
น้ำตาลจากกล้วยตาก ตกเกรด อุดมด้วยวิตามินเกลือแร่และกรดอะมิโนต่างๆ
เมนูจากญี่ปุ่นก็มา
เห็ดเป๋าฮื้อ ต้มน้ำซีอิ๊ว เพื่อสุขภาพ
ผงนัวผัก ปรุงรสชาติในอาหารสำหรับผู้สูงวัย