เมื่อ "ทอทหาร" ล่องใต้...เรื่องเล่าสบายๆ แต่หนักหัวใจกับปัญหาสามจังหวัดชายแดน
พันเอก ดร.ธีรนันท์ นันทขว้าง นายทหารนักยุทธศาสตร์ชื่อดัง เจ้าของนามปากกา "ทอทหาร" เขียนบทความในเว็บไซต์ http://tortaharn.net เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางลงพื้นที่ชายแดนใต้เที่ยวล่าสุดโดยถอดเครื่องแบบทหาร แต่ไปในฐานะนักวิชาการเพื่อเป็นวิทยากรในเวทีเสวนาที่มีแต่เยาวชนและนักศึกษา ทำให้ได้สัมผัสแนวคิดและวิถีธรรมดาๆ ของคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากประสบการณ์ที่เคยรับรู้มา
บทความที่ว่านี้ชื่อ "ความมั่นคงศึกษา - เรื่อง สบาย สบาย แต่หนักหัวใจกับปัญหาชายแดนภาคใต้" โพสต์ลงในเว็บไซต์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 ก.พ. หลังจากร่วมวงเสวนาเพียงวันเดียว "ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา" เห็นว่าเป็นบทความที่มีเนื้อหาน่าสนใจ จึงขอนำมาถ่ายทอดให้ได้อ่านกัน...
เมื่อวันที่ 11 ก.พ.55 ผมได้มีโอกาสไปเป็นวิทยากรในการเสวนาวงปิดของ ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา เรื่อง "ชายแดนใต้ในกระแสการเปลี่ยนแปลง...ประชาคมอาเซียน 'โอกาส' หรือ 'วิกฤติ'" ที่ โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี ผู้เข้าร่วมเป็นนักศึกษาและนักเรียนปอเนาะชั้นสูง (เทียบเท่านักเรียน ม.5 ม.6 ของโรงเรียนไทย) รวมแล้ว 30 คน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา, โรงเรียนประทีปวิทยา (โรงเรียนปอเนาะ หรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม)
ตอนแรกที่ได้รับการติดต่อจาก คุณปกรณ์ พึ่งเนตร บรรณาธิการข่าว ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา ก็งงเหมือนกันครับว่า นักศึกษากับนักเรียนปอเนาะชั้นสูงจะมีความสนใจในเรื่องของประชาคมอาเซียนด้วย แต่ไม่ว่าจะอย่างไรผมรีบตอบรับทันที
เมื่อมาที่โรงแรมช่วงเช้า ด้วยความที่ผมเป็นทหาร มียศนำหน้า ผู้เข้าร่วมเสวนาจึงมีคำถามกับผู้จัดงานว่าวิทยากรที่มาเป็นทหารหรือ ทางผู้ที่รับลงทะเบียนได้เล่าบรรยากาศให้ผมฟังว่า หลายคนทำหน้าแปลกๆ ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เมื่อช่วงเช้า ตอนเริ่มบรรยายใหม่ๆ นั้น หลายคนมองผมด้วยแววตาไม่ไว้ใจ แต่เมื่อเวลาผ่านไปถึงช่วงเวลาซักถาม ก็เริ่มมีผู้ซักถามบ้างและมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพูดคุยกันได้สักพัก สิ่งที่ผมเห็นและรู้สึกได้คือ ความสนใจในการที่จะเตรียมตัวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน
คำถามที่ผมเจอส่วนใหญ่นั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเป็นประชาคมอาเซียนจะมีผลกระทบกับเขาอย่างไร เขาต้องทำอย่างไร เตรียมตัวอย่างไรถึงจะได้ใช้โอกาสในอาเซียน แทนที่จะปล่อยให้เป็นไปตามมีตามเกิดและกลายเป็นวิกฤติไป บางคนถามถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ว่าจะยังคงมีต่อไปหรือไม่หากเกิดประชาคมอาเซียนขึ้นแล้ว
หลังจากภาคเช้าเสร็จ ทางผู้จัดได้พาไปทานข้าวที่ "ร้านครูเจน" ซึ่งเป็นร้านอาหารที่ได้รับความนิยมมากใน อ.เมืองปัตตานี เป็นร้านที่ทั้งมุสลิมและพุทธสามารถเข้าไปนั่งทานได้อย่างไม่รู้สึกอะไร ทางน้องๆ นักข่าวที่นั่นบอกว่า ร้านครูเจนเริ่มต้นจากการเช่าร้านฝั่งตรงข้ามโรงแรมซี.เอส.ปัตตานี ผ่านมา 2 ปี ตอนนี้ซื้อตึกที่เช่านั้นเอง และปรับปรุงอย่างดี มีห้องประชุมด้วย อาหารที่คนส่วนใหญ่สั่งทานคือ "ก๋วยเตี๋ยวเรือ"
เมื่อเริ่มคุ้นเคยกัน ถึงเวลาทานข้าวก็ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากขึ้น สิ่งที่เริ่มค้นพบคือการเริ่มพูดถึงปัญหาความเป็นอยู่ ปากท้อง ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการที่แท้จริงที่อยากจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ได้มีความต้องการให้มีความรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่ที่เขาอยู่ แต่สิ่งหนึ่งทีผมคิดว่าเป็นปมสำคัญที่สะท้อนถึงปัญหาปากท้องนั่นคือ การเริ่มต้นชีวิตหลังจากเรียนจบ เพราะเงินเดือนที่มีอยู่นั้นไม่สามารถทำให้ดำรงชีพอยู่ได้ เพราะสังคมตรงนั้นเมื่อเรียนจบจะเริ่มแต่งงานมีครอบครัว และการมีครอบครัวเป็นภาระที่ต้องแบกรับ
นอกจากนั้น ยังมีการเล่าถึงเรื่องที่ว่าหากชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี และยอมจำนนกับการใช้ชีวิต เขาจะเข้าหาศาสนา จากนั้นก็จะมีคนบางคนใช้ศาสนาชักจูงโดย สร้างความเชื่อที่ว่าชาตินี้เราจนเพราะพ่อแม่เราจน ปู่ย่าตายายเราจน เราจึงต้องจนต่อไป แล้วก็สร้างความหวังว่าจะมีความสุขสบายในชาติหน้า แต่ต้องกระทำการบางอย่าง (เพื่อให้ได้บุญแล้วจะสบาย) สิ่งที่น้องๆ เล่ามาให้ฟังนั้นผมทำให้ผมคิดว่าเป็นการสะท้อนสิ่งที่อยู่ใจและเป็นปัญหาที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ระหว่างการพูดคุยผมได้ขายแนวความคิดในเรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิตโดยใช้เทคโนโลยี โดยการทำธุรกิจออนไลน์ นำสินค้าที่มีในจังหวัดมาทำ เพราะมีสิ่งที่มีค่ามากมายในชุมชนที่เขาอยู่ สามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ผมได้มีโอกาสถามนักเรียนปอเนาะชั้นสูงว่าเขาเล่นอินเตอร์เนตบ้างหรือไม่ หลายคนเล่น และผมยังพูดทีเล่นทีจริงว่า มี chat กับสาวๆ บ้างไหม หลายคนอมยิ้ม แสดงว่าเขามีการ chat กับสาวๆ ทำให้ผมทราบว่าเยาวชนหลายคนนั้นมีความเป็นวัยรุ่นเหมือนที่อื่นๆ ความเป็นสังคมเมืองได้คืบคลานเข้าไปในชุมชนของเขา แต่มีความรุนแรงที่ปรากฏในสังคมตรงนั้นครอบงำและยึดโยงอิสระต่างๆ ในวัยเด็กของพวกไว้
เมื่อได้พูดถึงการช่วยเหลือจากรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐ ก็กล่าวกันว่าการช่วยเหลือนั้นทำในลักษณะสักแต่ว่าทำ เพราะไม่เคยสนใจถึงความต้องการที่แท้จริงในชุมชน มีคำพูดที่พูดเล่นๆ ในวงรับประทานอาหารว่า งบประมาณที่ให้มานั้นไปลงที่ "ไก่" หมด (โครงการเลี้ยงปลาเลี่ยงไก่ของทางราชการ) ส่วนคนไม่ได้รับ และยังเล่ากันเล่นๆ ว่า "ขอปลาได้ไก่ ขอไก่ได้วัว" คำพูดที่ออกมาเหล่านี้เป็นคำพูดที่สะท้อนถึงความรู้สึกที่อยู่ข้างในได้อย่างชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นก็ทำเพียงแต่เขียนโครงการของบประมาณขึ้นไป โดยไม่ได้สนใจว่าความต้องการในชุมชนนั้นๆ ที่แท้จริงคืออะไร
ผมได้พูดคุยถึงยาเสพติดในพื้นที่นั้น มีการเล่ากันว่าสิ่งที่เป็นที่นิยมกันคือ ใบกระท่อม และกัญชา ส่วนอื่นๆ ที่จะมีคือยาบ้าและยาไอซ์ นักข่าวในพื้นที่เล่าให้ฟังว่ามีเด็กอายุไม่ถึงสิบขวบที่นั่นสามารถทำแก้วสำหรับเสพยาไอซ์ได้
ในการพูดคุยนั้น ผมได้มีโอกาสพูดถึงขบวนการที่ก่อการโดยใช้ความรุนแรงในพื้นที่ ผมถามเขาว่าคิดว่ามีจริงหรือไม่ โดยถามเป็นคำพูดเล่นๆ ว่า หมู่บ้านหนึ่งมีความเชื่อว่ามีกลุ่มยักษ์กินคน แต่เรายังไม่เคยเห็นหัวหน้ายักษ์ เราเคยเห็นแต่เหยื่อของยักษ์ กับยักษ์ตัวเล็กๆ เป็นไปได้หรือไม่ว่าไม่มีหัวหน้ายักษ์จริงๆ ก็มีคำตอบจากน้องๆ ว่ามีหัวหน้ายักษ์จริง แต่ว่าหัวหน้ายักษ์ยังแรงไม่พอ ผมเลยพูดเล่นๆ ว่า หัวหน้ายักษ์อาจจะไม่มีก็ได้ แต่มีการสร้างความเชื่อว่ามีหัวหน้ายักษ์ และขอเงินมาปราบหัวหน้ายักษ์กัน และที่สำคัญกลุ่มคนนอกหมู่บ้านจากที่อื่นหาเงินมาช่วยสร้างเรื่องให้หัวหน้ายักษ์มีจริง...เราก็หัวเราะกัน
เมื่อทานอาหารเสร็จ น้องๆ แยกกันไปละหมาด ส่วนผมกับคุณปกรณ์ไปรอในห้องสัมมนาเพื่อรอการพูดคุยในตอนบ่าย ซึ่งแผนเดิมนั้นคุณปกรณ์วางไว้ว่าจะเป็นการพูดคุยเรื่องข่าว น้องๆ ก็ถามกันถึงช่องทางการนำเสนอข่าวหรือความคิดเห็นจากน้องๆ ที่อยู่ในพื้นที่ พอคุยกันเรื่องข่าวไม่นานก็วกกลับมาคุยกันเรื่องอาเซียนอีก
คราวนี้ก็คุยกันถึงเรื่องการศึกษา ผมได้เล่าถึง 8 สาขาอาชีพที่เมื่อเราเข้าเป็นประชาคมอาเซียนแล้ว ผู้ที่จบการศึกษาสามารถไปสมัครงานที่ไหนก็ได้ในประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ เช่น วิศวกรรม การสำรวจ สถาปัตยกรรม แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล บัญชี การบริการ และการท่องเที่ยว เป็นต้น
ผมได้มีโอกาสเล่าให้ฟังว่าความจริงหากน้องๆ ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนปอเนาะแล้วหรือยังไม่สำเร็จก็ตาม น้องๆ สามารถได้คุณวุฒิ ม.6 ได้ด้วยการสอบ GED (General Educational Development) และ IGCSE (International General Certificate of Secondary Education) แต่ต้องมีความรู้ภาษาอังกฤษที่ดี และสามารถเตรียมแนวการสอบได้ที่บ้าน ไม่ต้องไปนั่งเรียน เมื่อสอบผ่านแล้วจะสามารถใช้วุฒิดังกล่าวสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้เลย
นอกเหนือจากการเข้าสู่ระบบสายสามัญแล้ว ทุกคนยังมีโอกาสที่จะมีรายได้ที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้โดยไม่ต้องรอให้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาสร้างธุรกิจออนไลน์ ผมยกตัวอย่างของเศรษฐีสมัยใหม่หลายคนที่ไม่ได้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี น้องๆ หลายคนก็ให้ความสนใจ ผมเลยบอกไปว่าจะลองพูดคุยกับหลายคนเพื่อที่จะหาคอมพิวเตอร์ พร้อมๆ กับลงมาให้ความรู้ต่างๆ อีกทั้งยังเป็นพี่เลี้ยงช่วยสร้างธุรกิจออนไลน์ให้ โดยใช้สินค้าจากท้องถิ่นที่มีของตัวเอง และสิ่งที่น้องๆ เหล่านั้นมีความสามารถ
หลังจากการเสวนาเสร็จก็มีการถ่ายรูปร่วมกัน ซึ่งตอนแรกๆ ผมไม่กล้าที่จะถ่ายรูปน้องๆ เขา เพราะกลัวว่าเขาจะไม่ไว้ใจ...
หลังจากการเสวนาก็ได้พูดคุยกับน้องๆ นักข่าวและคุณปกรณ์ถึงสถานการณ์ต่างๆ ในภาคใต้ และชวนกันไปนั่งทานอาหารข้างถนนเจริญประดิษฐ์ (ถนนสาย ม.อ.) น้องๆ พาผมไปที่ร้านประจำของวัยรุ่นไทย-มุสลิมที่ชื่อ“เบอร์เกอร์ควีน” ระหว่างนั่งดูเมนูกัน น้องนักข่าวพูดขึ้นมาว่า อาจารย์เนื้อกระต่ายกับเนื้อแพะ (สำหรับทำเบอร์เกอร์) เหล่านี้นำเข้ามาจากมาเลเซีย หากเรารวมเป็นประชาคมอาเซียนเราน่าจะเลี้ยงและส่งกลับไปขายที่มาเลเซียบ้างนะคะ ผมเลยพูดเล่นกลับไปว่าคงยาก เพราะรัฐบาลเราส่งเสริมแต่เลี้ยงไก่ เราก็เลยหัวเราะกัน แต่เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่ารัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐเราไม่เคยเข้าใจรูปแบบการดำเนินชีวิตและการดำเนินชีวิตที่แท้จริงของคนที่อยู่ในพื้นที่เลย เพราะร้านเบอร์เกอร์ที่ผมไปนั่งที่ถนนเจริญประดิษฐ์นั้นไม่ได้มีร้านเดียว แต่มีหลายร้าน
ที่ร้านเบอร์เกอร์ควีน ผมสั่งเบอร์เกอร์เนื้อวัวกับแพะ และได้ทานกะโป๊ะ (ข้าวเกรียบปลาหั่นเป็นชิ้นๆ แล้วทอด) ระหว่างทานเบอร์เกอร์กัน เราคุยกันหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นของที่วางขาย สิ่งที่พูดกันคือเสื้อผ้าผู้หญิงมีหลายร้านที่นำเข้ามาจากอินโดนีเซีย นำมาขายราคาค่อนข้างสูง ผู้หญิงนิยมซื้อกันมาก อย่างผ้าคลุมผมหรือชุดของผู้หญิง บางชุดราคาเป็นพัน ก็ยังมีคนนิยมซื้อกันเป็นจำนวนมาก คุณปกรณ์ก็คุยเสริมขึ้นมาว่าความจริงแล้ววิถีชีวิตและเศรษฐกิจชุมชนในปัตตานีนั้นไม่ได้มีอะไรที่น่าเป็นห่วงเลย เพราะมีการจับจ่ายใช้สอยกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งผมก็รู้สึกได้อย่างนั้นเหมือนกัน เพราะผมนั่งมองไปตามถนนพบแต่รถยนต์รุ่นใหม่ๆ หลายๆ คันป้ายแดง และมีน้องๆ ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย ขี่รถเครื่องเต็มถนน บ้างก็แวะทานอาหาร บ้างก็แวะจับจ่ายซื้อของ
สิ่งที่ผมเห็นแล้วผมก็นึกย้อนไปว่าเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านนั้น (9 ก.พ.) เพิ่งมีระเบิดที่บริเวณหน้าสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บหลายราย ช่างเป็นอะไรที่ขัดแย้งกับวิถีชีวิตของคนในเมืองปัตตานีเสียเหลือเกิน ใน อ.เมืองปัตตานี เป็นลักษณะเป็นเมือง มีร้านอินเตอร์เน็ต มีร้านสะดวกซื้ออย่าง 7/11 มีร้านซุปเปอร์สโตร์อย่างบิ๊กซี น้องๆ นักข่าวยังคุยถึงวิถีชีวิตให้ฟังอีกว่า เด็กๆ สมัยใหม่ไม่ค่อยเข้าตลาดสด แต่ซื้อของที่ 7/11 และจ่ายกับข้าวที่บิ๊กซี มีแต่คนช่วงอายุอาจารย์ (หมายถึงผม) ขึ้นไปที่ไปจ่ายกับข้าวที่ตลาดสด ทำให้ผมนึกเลยต่อไปว่านี่หรือคือเมืองที่มีกลุ่มคนที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน
เมื่อนึกถึงเหตุการณ์ระเบิดผมก็ถามว่า ถนนเจริญประดิษฐ์ที่นั่งอยู่นี้มีระเบิดกับเขาบ้างไหม น้องๆ บอกว่าไม่มี เลยถามต่อว่าทำไมล่ะ คำตอบที่ได้คือคงจะหลบหนียาก ผมเลยมองไปที่ลักษณะภูมิประเทศก็เห็นว่าถนนเป็นเส้นตรงยาวลากผ่านชุมชน การหลบหนีคงยากเพราะไม่ค่อยมีตรอกซอกซอยเท่าไหร่ ผมเลยถามต่อไปว่า ถ้าเกิดเหตุระเบิดขึ้นชาวบ้านจะทำอย่างไร คำตอบก็คือทุกคนจะหลบเข้าบ้าน หรือหลีกทางให้ผู้ก่อการหนีไป เมื่อผู้ก่อการหนีไปแล้วก็จะวิ่งไปดูที่เกิดเหตุกัน ผมถามว่าแล้วไม่ช่วยกันจับหรือ คำตอบคือไม่ เพราะทุกคนกลัวผลที่เกิดขึ้นตามมา ซึ่งผมก็คิดว่าชาวบ้านเหล่านั้นคิดถูกแล้ว เพราะไม่มีทางที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะสามารถคุ้มครองให้ชาวบ้านเหล่านั้นปลอดภัยได้ตลอดเวลา สภาพทุกวันนี้ก็อยู่กันด้วยความหวาดกลัวสิ่งที่มองไม่เห็น
หลังจากทานเบอร์เกอร์เสร็จก็เดินทางกลับกัน น้องๆ เขาขับรถมาส่งผมกับคุณปกรณ์ที่สนามบินหาดใหญ่...
การเดินทางไปเสวนาครั้งนี้ผมต้องขอบคุณทางสำนักข่าวอิศรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณปกรณ์ บก.ข่าว และน้องๆ นักข่าวทุกคนที่ได้ให้การต้อนรับผมเป็นอย่างดี พาผมไปสัมผัสสิ่งที่ผมไม่มีโอกาสได้สัมผัสด้วยตัวเอง เพราะผมเป็นทหาร การเข้าพื้นที่ไปส่วนใหญ่ก็จะเข้าไปในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมารับและนำเข้าพื้นที่ สิ่งที่ผมได้รับจึงมีความแตกต่างกันมากและไม่มีทางเหมือนกัน เพราะการเดินทางไปแบบนี้ ผมได้รับความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจมากขึ้น และได้รับรู้ถึงสิ่งต่างๆ ที่ชาวบ้านและชุมชนเหล่านั้นต้องการจริงๆ
นี่คือสาเหตุที่ผมต้องมาเขียนบทความเพื่อเล่าเรื่องและถ่ายทอดความรู้สึกของคนที่อยู่ในพื้นที่มาเล่าสู่กันฟังว่า เขาเหล่านั้นคงไม่ได้ต้องการแบ่งแยกดินแดนจากที่สัมผัสในวิถีชีวิต แต่ความต้องการที่แท้จริงของเขาคือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น คุณภาพชีวิตของคนหนึ่งคน หรือครอบครัวๆ หนึ่ง ซึ่งวันนี้รัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับเขาได้ว่าเขาจะปลอดภัยจากความรุนแรง เขาจะปลอดภัยจากสิ่งที่มองไม่เห็นมาข่มขู่เขา อีกทั้งรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ยังไม่มีความเข้าใจในความต้องการที่แท้จริงของเขาเหล่านั้นในชุมชน และที่สำคัญผมไม่อยากให้คนไทยคนอื่นๆ ที่อยู่ที่อื่นๆ ลืมไปว่า ณ ที่แห่งหนึ่งในประเทศไทย ยังมีเพื่อนร่วมชาติของเราอีกหลายคนประสบปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อยู่กันด้วยความหวาดกลัวกันอย่างลึกๆ ว่าเขาอาจจะเป็นเหยื่อของสิ่งที่มองไม่เห็นเข้าสักวัน และเขาต้องการความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมชาติที่เหลือ
หากเราหลายๆ คนยังเพิกเฉยกับเรื่องเหล่านี้ต่อไป เขาเหล่านั้นที่มีปัญหาอาจจะยอมจำนนในชาติปัจจุบัน และเลือกที่จะมีความสุขในชาติหน้า ตามความเชื่อที่ผิดๆ ที่ถ่ายทอดโดยผู้ที่ต้องการให้เกิดความวุ่นวายเสียหาย เราจะเสียใจกันมากกว่านี้ เพราะกำลังจะเสียเขาเหล่านั้นไป ความจริงแล้วเรื่องของภาคใต้นั้น "ไม่มีเขา ไม่มีเรา มีแต่เราคนไทย" ผมพูดไว้แล้วว่า เราชอบคิดว่า "เราอยากให้เขาเป็นอย่างเรา แต่เขาอยากเป็นอย่างเขา" เพราะนั้นการจะแก้ไขปัญหาก็ไม่มีอะไรนอกจาก "ให้เขาเป็นอย่างเขา แต่เราคือคนไทยด้วยกัน"
สุดท้ายก่อนจะจบ อยากบอกว่าทุกคนคือคนไทย หลายคนมีดีบ้างเลวบ้างปะปนกันไป เมื่อใดก็ตามเรายังไม่มองว่าเขาคือคนไทยเหมือนกัน เขาก็ไม่มีวันที่จะเป็นคนไทย ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหานั้นไม่มีอะไรที่เกินไปจากกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ว่า "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" แต่หลายคนกลับท่องเป็นนกแก้วนกขุนทอง ทำโดยไม่รู้ว่าความต้องการที่แท้จริงของคนที่อยู่ตรงนั้นว่าคืออะไร
และหากเรายังไม่ปรับเปลี่ยนวิธีคิด เราย่อมไม่มีวัน "Winning hearts and minds!!" และเราก็จะสูญเสียทุกๆ อย่างไปในที่สุด ความรุนแรงแก้ปัญหาไม่ได้แต่ใจที่เข้าใจกันต่างหากที่แก้ไขปัญหาได้...เอวังครับ
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : อ่านบทความต้นฉบับได้ที่ http://tortaharn.net/contents/index.php?option=com_content&task=view&id=190&Itemid=75