สธ.จับมือ อสม.-รพ.สต.-อปท. ป้องกันเจ็บ-ตายจากเมาช่วงสงกรานต์
สธ. ร่วม สนง.ตำรวจฯ-สสส.-มท.-อปท.รณรงค์โซนนิ่งเล่นน้ำสนุก-ปลอดภัย-ปลอดเมา 43จังหวัด แจงสายด่วนหน่วยแพทย์กู้ชีพ 1669 โพลล์ร้อยละ 85 เห็นด้วยคุมเข้มขายเหล้าช่วงสงกรานต์
วันที่ 10 เม.ย.54 ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่าพฤติกรรมเล่นน้ำสงกรานต์ที่ไม่เหมาะสมมีแนวโน้มรุนแรงและอันตรายมากขึ้น อาทิ ดื่มเหล้าขณะเล่นน้ำ การเล่นสาดน้ำที่รุนแรง การทะเลาะวิวาท รวมทั้งการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายส่งเสริมให้เป็นสงกรานต์ปลอดเหล้า มีความสุขและปลอดภัย
โดยได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสรรพสามิต สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เครือข่ายองค์กรงดเหล้า กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล และภาคประชาชน รณรงค์พื้นที่หรือโซนนิ่งเล่นน้ำสงกรานต์ปลอดการขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ตั้งเป้าหมาย 37 จังหวัด แต่มีพื้นที่ที่สนใจสมัครร่วมเป็น 43 จังหวัด ภาคเหนือ 12 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 13 จังหวัด ภาคตะวันออก 3 จังหวัด ภาคตะวันตก 5 จังหวัด ภาคกลาง 4 จังหวัด ภาคใต้ 6 จังหวัด
รมช.สธ. กล่าวว่าในพื้นที่ดังกล่าวจะมีการห้ามดื่มห้ามขาย ห้ามมาตรการส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเคร่งครัดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และพ.ร.บ.สุรา พ.ศ.2493 ทั้งนี้ได้ส่งทีมตรวจจับการฝ่าฝืนกฎหมายออกดำเนินการร่วมกับสำนักตำรวจแห่งชาติ 3 ทีม คือ สายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้ เริ่มในวันที่ 13-15 เมษายน 2554
ทั้งนี้ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนในเขต กทม. ช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ปี 2553 โดยมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญพบว่าร้อยละ 88 เห็นด้วยต่อการส่งเสริมให้มีเขตเล่นน้ำสงกรานต์ที่สนุกและปลอดภัย โดยระบุลักษณะของสงกรานต์ที่มีความปลอดภัยมากที่สุดคือแต่งกายสุภาพ ไม่มีคนเมา ไม่มีคนลวนลาม/ทำอนาจารร้อยละ 73 ไม่มีเรื่องชกต่อยทะเลาะวิวาทร้อยละ 71 นอกจากนี้ผลสำรวจความคิดเห็นนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยว จ.เชียงใหม่ 500 คนพบว่าร้อยละ 85 เห็นด้วยกับการควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงสงกรานต์
ดร.สิริพรรณ กล่าวว่าสำหรับกระทรวงสาธารณสุขได้มีการป้องกันอุบัติเหตุจากเมาสุราเชิงรุก โดยให้ อสม.ร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความรู้ความเข้าใจประชาชนให้ตระหนักถึงภัยอันตรายการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นให้โทรแจ้งขอความช่วยเหลือหน่วยแพทย์กู้ชีพได้ทางหมายเลข 1669 โดยขณะนี้โรงพยาบาลทุกระดับในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ 875 แห่งทั่วประเทศเตรียมความพร้อมทั้ง แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ คลังเลือด ห้องผ่าตัด ห้องฉุกเฉิน เตียงรับผู้ป่วยทั้งอาการไม่หนัก และอาการหนักตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว
และถ้ามีการฝ่าฝืนกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สามารถแจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด และศูนย์รับเรื่องร้องเรียน โทรศัพท์ 0 2590 3342 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง .
ที่มาภาพ : http://sirirug-songkran.blogspot.com/2010_04_01_archive.html