บริษัทรับงานปรับปรุงมัสยิด300ปีอยู่ปทุมฯ ที่ตั้งคล้ายบ้านร้าง แถมถูกฟ้องล้มละลาย
โครงการปรับปรุงแหล่งเรียนรู้มัสยิด 300 ปีตะโละมาเนาะ ต.ลูโบ๊ะสาวอ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ซึ่งรับผิดชอบโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาระยะหนึ่งแล้วว่าเป็นโครงการที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาคมในพื้นที่ โดยเฉพาะในขั้นตอนการคัดเลือกและจัดจ้างผู้รับเหมาเข้าทำโครงการ
ที่ผ่านมาชมรมอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ได้ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ แม้จะยืนยันไม่คัดค้านโครงการ เพราะมีดำริในการปรับปรุงพัฒนาแหล่งเรียนรู้มัสยิด 300 ปีมาตั้งแต่เมื่อคราวที่คณะขององค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี เดินทางเยือนช่วงหลายปีก่อน แต่ชมรมอิหม่ามฯก็ขอมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจต่างๆ ซึ่งอ้างว่าถูกกีดกันจาก ศอ.บต.
จากการตรวจสอบของ "ทีมข่าวอิศรา" พบว่า โครงการนี้ตั้งงบประมาณเอาไว้รวมทั้งสิ้น 200 ล้านบาท เป็นงบผูกพันหลายปีงบประมาณ และได้ลงนามในสัญญาว่าจ้างเอกชนเข้าดำเนินการ เมื่อเดือน ก.พ.59 สิ้นสุดสัญญาปี 2562 งบประมาณเฉพาะในส่วนนี้ 149,830,000 บาท
เอกชนผู้รับงานเป็น "กิจการร่วมค้า" ประกอบด้วยผู้ประกอบการ 2 ราย รายหนึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) อีกรายเป็นบริษัทจำกัด แต่ภายหลังทำสัญญาจ้างได้ไม่นาน กลับมีข้อมูลว่าผู้ประกอบการ 1 ใน 2 รายถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ซึ่งหมายถึงถูกฟ้องล้มละลาย
"คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์" เสมือนเป็นหมายของศาลให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ายึดดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารของลูกหนี้ (กิจการที่โดนสั่งพิทักษ์ทรัพย์) ตลอดจนบรรดาทรัพย์สินซึ่งอยู่ในความครอบครองของลูกหนี้ หรือของผู้อื่นอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลาย ซึ่งมีผลให้ลูกหนี้หมดอำนาจจัดการทรัพย์สินของตน โดยอำนาจจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตกเป็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว
อย่่างไรก็ดี ผู้ประกอบการที่มีปัญหา เป็นเพียง 1 ใน 2 รายที่ร่วมกันเป็น "กิจการร่วมค้า" จึงอาจไม่ส่งผลกับการทำงานตามสัญญาก็เป็นได้
เอกชนทั้ง 2 รายนี้ แจ้งที่ตั้งสำนักงานร่วมกัน อยู่ที่ถนนรังสิต-องครักษ์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ทำให้เกิดคำถามว่ามีความเชี่ยวชาญในงานที่รับจ้างหรือไม่ เพราะมัสยิด 300 ปี และแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะ เป็นงานศิลปะที่มีอัตลักษณ์เฉพาะของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
"ทีมข่าวอิศรา" ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบที่ตั้งบริษัท และ หจก.ทั้งสองรายตามที่แจ้งข้อมูลทางเว็บไซต์ ปรากฏว่าสถานที่ตั้งเป็นเหมือนบ้านร้างจนทีมข่าวฯไม่คิดว่าจะเป็นบริษัทหรือ หจก.ที่ประกอบกิจการอยู่
อย่างไรก็ดี เมื่อผู้สื่อข่าวเดินเข้าไปภายใน พบหญิงคนหนึ่งอ้างตัวว่าเป็นผู้ทำหน้าที่เฝ้าสำนักงาน เธอบอกว่าอาคารแห่งนี้เป็นสำนักงานของ หจก.(ที่มีชื่อเป็น 1 ใน 2 กิจการร่วมค้าที่รับงานโครงการปรับปรุงแหล่งเรียนรู้มัสยิด 300 ปี) แต่เธอไม่ทราบเรื่องที่อีกบริษัทหนึ่งถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และไม่ทราบเรื่องที่มีการรับงานโครงการแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะ ทราบเพียงว่ามีพนักงานของบริษัทไปรับงานอยู่ในภาคใต้ ไม่ได้ใช้สำนักงานที่นี่ และบริษัทก็เคยมีผลงานก่อสร้างสนามกีฬาในจังหวัดนราธิวาส โดยเธอโชว์ภาพถ่ายให้ผู้สื่อข่าวดูด้วย
หญิงคนนี้บอกอีกว่า สำนักงานที่เธอดูแลเป็นสถานที่รับเอกสารและรับโทรศัพท์ ซึ่งมีบริษัทอื่นใช้สถานที่ร่วมอยู่ด้วย แต่เมื่อถามถึงเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อกับบริษัทหรือ หจก.ที่รับงาน เธอบอกว่าไม่มีเบอร์ติดต่อ เพราะพนักงานย้ายออกไปหมดแล้ว และไปอยู่ที่หน้างานในภาคใต้
เป็นที่น่าสังเกตว่า หญิงคนนี้อ้างว่ามีหน้าที่เฝ้าสำนักงานและรับโทรศัพท์ แต่เบอร์โทรศัพท์ตามที่แจ้งไว้ในเว็บไซต์ เมื่อโทรไป กลับไม่มีคนรับ และไม่สามารถใช้สายได้
เมื่อวันศุกร์ที่ 17 มี.ค.60 นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. พร้อมด้วย นายสัมพันธ์ มูซอดี ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. นายอารี ดิเรกกิจ ผู้อำนวยการสำนักประสานนโยบายการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ศอ.บต. เปิดแถลงข่าวเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างปรับปรุงมัสยิด 300 ปี
นายไกรศร กล่าวว่า สืบเนื่องจากปรากฏข่าวสารทางสื่อออกไปในเรื่องที่เกี่ยวกับโครงการนี้ และมีการพาดพิง ศอ.บต.โดยไม่ได้มีการสอบถาม ทาง ศอ.บต.จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า โครงการก่อสร้างปรับปรุงศูนย์การเรียนรู้มัสยิด 300 ปีตาโละมาเนาะ เกิดขึ้นจากความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่เล็งเห็นความสำคัญของมัสยิด 300 ปี เป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นสถาปัตยกรรมที่เป็นอัตลักษณ์อันทรงคุณค่าของพี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงการดังกล่าวไม่ได้มีการไปรื้อหรือปรับปรุงมัสยิด 300 ปี แต่เป็นการปรับปรุงให้เกิดเป็นแหล่งเรียนรู้ตามเจตนารมณ์ของประชาชนในพื้นที่
ตามที่ปรากฏข่าวสารที่ว่าโครงการดังกล่าว ศอ.บต.ได้อุดหนุนงบประมาณให้กับชมรมอีหม่ามมัสยิดในพื้นที่นั้น ประเด็นนี้ ศอ.บต.ได้ประชุมทำประชาคมเมื่อวันที่ 18 ก.ค.59 แล้ว ว่าจะดำเนินโครงการในวงเงินงบประมาณ 149 ล้านบาท ไม่ใช่ 200 ล้านบาทตามที่เป็นข่าว และขอยืนยันว่าโครงการนี้ใช้งบประมาณ 149 ล้านบาทเท่านั้น
ส่วนประเด็นการไม่มีส่วนร่วมของประชาคมในพื้นที่ นายไกรศร ชี้แจงว่า ศอ.บต.ได้มีการจัดประชุมชี้แจงที่อำเภอบาเจาะ มีทุกภาคส่วนร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน ได้ชี้แจงทำความเข้าใจว่า โครงการนี้มีลักษณะงาน 6 รายการ คือ การสร้างอาคารบริการสาธารณะ เป็นห้องประชุมศูนย์การเรียนรู้ เป็นที่ทำการของชมรมอีหม่าม เป็นอาคารศูนย์อาหารสำหรับคนที่มาเยี่ยมชม ปรับปรุงบริเวณด้านหน้าของมัสยิด สร้างอาคารศูนย์ตาดีกา รวมถึงระบบน้ำและไฟฟ้า
สำหรับการดำเนินงานนั้นอยู่ในช่วงของการถมดินและตอกเสาเข็ม ลำดับต่อไปจะมีการประชุมคณะกรรมการการมีส่วนร่วมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายในการดำเนินงานต่อไป ยืนยันว่าโครงการนี้ ศอ.บต.ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วน ซึ่งจะต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1-2 อาคารลักษณะคล้ายบ้านร้างตามที่อยู่ของบริษัทและ หจก.ผู้รับงานปรับปรุงแหล่งเรียนรู้มัสยิด 300 ที่ จ.นราธิวาส ตัวอาคารตั้งอยู่บนถนนรังสิต-องครักษ์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี
3-4 มัสยิด 300 ปี