ตามหาพื้นที่ยากจน ด้วย Big Data
อุปสรรคสำคัญที่จะนำข้อมูลโทรศัพท์มือถือมาใช้ คือเรื่องความเป็นส่วนตัว กฎหมายไทยปัจจุบันไม่เอื้อให้ประมวลผลข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ
ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำอยู่ลำดับต้นๆ ของโลก โดยเฉพาะปัญหาความยากจน การคอร์รัปชันที่นอกจากเรื้อรัง ยังยากที่จะแก้ไข
ที่ผ่านมานโยบายให้ความช่วยเหลือคนจน รัฐมักใช้วิธีการสำรวจเพื่อดูเพื่อที่ใดยากจน ทั้งในระดับจังหวัด เก็บข้อมูลควำมจำเป็นพื้นฐำน (จปฐ.) การจดทะเบียนคนจน จดทะเบียนแม่เด็กแรกเกิด รวมไปถึงจดทะเบียคนด้อยโอกาส
ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุถึงความพยายามของภาครัฐในการตามหาคนจนไว้ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2560 "ฟื้นเศรษฐกิจ ปฏิรูปรัฐ ด้วยปฏิวัติข้อมูล" จัดโดยทีดีอาร์ไอ ไว้อย่างน่าสนใจ
ดร.สมเกียรติ บอกว่า แนวทางการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และข้อมูลเปิดของภาครัฐ ( Open Government Data) เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ในการแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรม แม้ว่า ภาคารัฐจะมีข้อมูลจากหลายแหล่ง แต่ปรากฎว่า ข้อมูลไม่ตรงกันเลย
อาทิเช่น ข้อมูล จปฐ. พบว่า ไม่มีจังหวัดใดเลยที่มีครัวเรือนที่รายได้ต่ำกว่าเส้น 30,000 บาทต่อคนต่อปี สูงกว่า 10%
ขณะที่การสำรวจภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนกลับให้อีกภาพหนึ่งว่า หลายจังหวัดของประเทศไทยมีรายได้ไม่ถึงตามเกณฑ์ เป็นต้น
“แล้วอย่างนี้รัฐบาลจะไปช่วยแก้ไขปัญหาคนจนได้อย่างไร ดูเหมือนว่ารัฐบาลยังไม่ทราบด้วยซ้ำไป คนจนอยู่ตรงไหน
แม้แต่การคอร์รัปชันที่หลายรัฐบาลได้พยายามยกระดับการต่อสู้กับคอร์รัปชัน เรามีหน่วยงานอิสระ สตง.ตั้งขึ้นตรวจโครงการจัดซื้อจัดจ้างกว่า 2 ล้านโครงการแต่ละปี ส่วนป.ป.ช.มีเรื่องร้องเรียนแต่ละปีเป็นหมื่นๆ เรื่อง หากรัฐบาลยังตามไล่ตรวจแบบวิธีเดิม ไม่มีทางลดคอร์รัปชั่นได้”
การใช้ Big data ด้วยพลังของข้อมูล มีทั้งการใช้ภาพถ่ายดาวเทียม มองลงมาจากอวกาศ หรือภาคพื้นดินก็มีการใช้ข้อมูลที่ได้จากโทรศัพท์มือถือ เพื่อระบุตัว ของคนจน พื้นที่ยากจน และเป็นข้อมูลความถี่สูง ได้ภาพที่ทันสถานการณ์ เชื่อถือได้ดีพอสมควร มีตัวอย่างให้เห็นแล้วในหลายๆ ประเทศ
นายชยธร เติมอริยบุตร นักวิจัยรุ่นใหม่ ทีดีอาร์ไอ ศึกษากรณีของต่างประเทศที่มีการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมตามหาคนยากจน
ประเทศแรก ศรีลังกา มีการสร้างดัชนีความยากจนจากภาพถ่ายดาวเทียม และใข้เทคนิคของ Machine Learning โดยจำแนกประเภทของหลังคา สังกะสี หลังคาดินเหนียว และคุณภาพถนนลาดยาง
“จากข้อมสรุปของการศึกษาชิ้นนี้ พบว่า พื้นที่ชนบทสัดส่วนพื้นที่หลังคาสังกะสีต่อพื้นที่หลังคาทั้งหมดจะสามารถอธิบายความยากจนค่อนข้างดี”
อีกประเทศ คือ เคนยา ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมวัดความยากจนด้วยการสะท้อนแสงของวัสดุสิ่งก่อสร้าง
ซึ่งนักวิจัยบอกว่า หากเศรษฐกิจดี คนก็มีแนวโน้มซื้อวัสดุที่มีความใหม่มาสร้างบ้าน
ไม่ต่างจากประเทศบังคลาเทศ ที่ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมไปวิเคราะห์ถึงระดับตำบล สามารถระบุพื้นที่ยากจนได้ละเอียดขึ้นเลยทีเดียว
นายชยธร วิเคราะห์การศึกษาข้อมูลในต่างประเทศ เขามีคำถามกรณีของประเทศไทย ว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้างที่สามารถนำมาใช้อธิบายความยากจนได้
การใช้ภาพถ่ายดาวเทียม ของประเทศไทยมีดัชนีชี้วัด คือ พื้นที่ที่มีหลังคาสังกะสี หลังคาคอนกรีต ของอพาร์ทเม้น คอนโด กับสัดส่วนของคนยากจน และสัดส่วนของหลังคาเมทัลชีส ซึ่งเป็นตัวแทนของโรงงานอุตสาหกรรม คนที่อาศัยแทบนั้นค่อนข้างมีฐานะดีระดับหนึ่ง
“งานวิจัยกรณีประเทศไทย พบว่า ภาพถ่ายดาวเทียมพื้นที่ที่มีสัดส่วนของหลังคาสังกะสีมาก ก็จะมีสัดส่วนคนยากจนมาก รวมถึงพื้นที่ที่มีสัดส่วนหลังคาคอนกรีตมาก ก็จะมีสัดส่วนคนยากจนมากเช่นกัน ดังนั้นเราสามารถนำข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม มาตรวจสอบความเหมาะสมการให้สวัสดิการเพื่อคนจนได้”
นักวิจัยรุ่นใหม่ ยังเห็นว่า ภาพถ่ายดาวเทียมนั้นช่วยระบุเป้าหมายคนจนกรณีการเกิดเหตุภัยพิบัติได้อีกด้วย เราสามารถนำมาออกแบบนโยบายการให้ความช่วยเหลือได้
ถามว่าตอนนี้ประเทศไทยอยู่ตรงไหน นายชยธร ชี้ว่า วันนี้ ข้อมูลเรามีการเก็บอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่มีใครนำข้อมูลมาใช้เพื่อติดตามความยากจน คนยากจน หรือพื้นที่ยากจน และไม่มีงานศึกษาชิ้นไหนใช้เทคนิค Machine Learning อย่างจริงจัง
ขณะที่นายชานนทร์ เตชะสุนทรวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ศึกษาวิจัยการนำข้อมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ช่วยเราติดตามคนจน บอกว่า ข้อมูลจากธนาคารโลกแสดงให้เห็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา สามารถเข้าถึงโทรศัพท์มือถือได้ดีกว่า การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทั่วไป เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา
นักวิจัยหลายคน จึงเชื่อว่า โทรศัพท์เข้าถึงคนยากจนได้ดี
“ทุกครั้งที่เราหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาจะมีการบันทึกข้อมูลอยู่ตลอดเวลา เช่น ใครติดต่อกับใคร เสาสัญญาณใกล้ผู้ติดต่ออยู่ตำแหน่งไหน ทำให้เราพอสามารถตำแหน่งคร่าวๆ ได้
นอกจากนั้นยังรู้ว่า เป็นการโทรศัพท์หรือการส่งข้อความ รวมถึงข้อมูลเวลา วันที่ เดือน ปี
ประเทศเซเนกัล ใช้ข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือ เพื่อวัดระดับความยากจนระดับจังหวัด
ฝรั่งเศส อีกประเทศที่ใช้ข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้เห็นการเคลื่อนย้ายของผู้คนช่วงวันทำงาน วันหยุด และสถานที่ท่องเที่ยว
หรืออย่างประเทศเนปาล ใช้ข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือ ช่วยเรื่องการช่วยเหลือคนยามเกิดภัยพิบัติ ล่าสุด เหตุแผ่นดินไหว ปี 2015 ซึ่งข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือบอกได้ว่า คนที่ย้ายออกไปอยู่ตามเมืองใดบ้าง
ข้อมูลชุดนี้ช่วยให้ภาครัฐกระจายความช่วยเหลือไปตามเมืองต่างๆ ได้ และบอกได้ว่า พื้นที่ใดบูรณะฟื้นฟูช้ากว่าที่อื่น สถานที่ใดควรได้รับความช่วยเหลือ
“ ประเทศไทยก็มีความพยายามประเมินศักยภาพของข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือ แต่เราไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลชุดนี้ได้
การวิจัยจึงไปดูแค่ค่าใช้จ่ายโทรศัพท์มือถือเฉลี่ยรายจังหวัดว่า สอดคล้องกับสัดส่วนคนยากจนหรือไม่ เช่น จังหวัดที่มีค่าใช้จ่ายโทรศัพท์มือถือมากๆ จะมีสัดส่วนคนยากจนต่ำ
และเมื่อเปรียบเทียบศักยภาพของค่าใช้จ่ายมือถือเทียบกับค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคอื่นๆ เช่น น้ำ ไฟ รวมถึงอินเตอร์เน็ต ก็พบว่า ค่าใช้จ่ายโทรศัพท์มือถือสอดคล้องกันกับสัดส่วนความยากจนได้อย่างดีที่สุด”
ส่วนอุปสรรคสำคัญที่จะนำข้อมูลโทรศัพท์มือถือมาใช้ เขาเห็นว่า คือเรื่องความเป็นส่วนตัว และกฎหมายไทยปัจจุบันไม่เอื้อให้ประมวลผลข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ
ฉะนั้น ทีมวิจัยจึงเสนอทางแก้ไข ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องกำหนดมาตรฐานการใช้ข้อมูลโทรศัพท์มือถือ ผู้กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมต้องมีการแก้ไขระเบียบการประมวลผลข้อมูล อนุญาตให้มีการใช้ข้อมูลเพื่อการวิจัยได้
“เมื่อ Big data สามารถเสริมสร้างการทำงานของภาครัฐได้ ทั้งเรื่องการจ่ายสวัสดิการให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ภาพถ่ายดาวเทียม ก็ทำให้รัฐเก็บข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แทนใช้กำลังคน แถมยังทำให้ต้นทุนถูกลง มีความแม่นยำมากขึ้น นักวิจัยยังไดเสนอให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลการจดทะเบียนให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกัน ซึ่งจะทำให้สามารถมองภาพความยากจนได้อย่างครบถ้วน
ฝั่งผู้กำกับดูแล นพ. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวถึง Big data ที่บริษัทมือถือมีข้อมูลอยู่นั้น กฎหมายคุ้มครองเรื่องการใช้งาน ซึ่งรัฐพยายามหาทางออกอยู่
“ แม้กสทช. กำกับไม่ให้นำข้อมูลส่วนบุคคลปประมวลผล หากไม่ได้รับการยินยอม จากเจ้าของข้อมูล ไม่ต่ำกว่า 5 ปี มาแล้เราเคยมีความคิดเรื่อง Big data นำข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือไปใช้ดูความยากจน แก้ปัญหาภัยพิบัติ หรือจะทำอย่างไรให้สังคมดีขึ้นด้วย Big data
หลายประเทศนำข้อมูลมือถือมาใช้กับสุขภาพ โรคระบาด เช่น มีการจำลองแบบคนที่ใช้มือถือผ่านเขตโรคระบาด ซึ่งนำโรคติดตัวมาด้วย และจะไปประเทศไหนต่อไป ดูได้จากมือถือ และยังมีตัวอย่างประเทศเกาหลีดูข้อมูลการเปิดโรมมิ่ง เพื่อติดตามโรคได้เลยโดยไม่ต้องซักประวัติที่สนามบิน"
สุดท้ายนพ. ประวิทย์ ชี้ว่า ประเด็นใช้ Big data หาความยากจน เห็นด้วยหากนำข้อมูลคนใช้ 2G มาใช้ เพราะรายได้น่าจะน้อยกว่าคนใช้ 3G
“แต่ผมว่า ยังมีข้อมูลอื่น เช่น พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ใช้พรีเพดเกินครึ่ง (เลือกเติมเงิน) และเติมเงินไม่เกิน 10 บาทต่อครั้ง สามารถนำข้อมูลตรงนี้มาใช้ทำนโยบายได้ หรือแม่แต่การไปดูจากแพคเกจโทรศัพท์มือถือก็ยังได้ ใครน่าจะเป็นคนยากจน”