จับตา'สตง.'เปิดเกมไล่บี้ภาษีนักการเมือง 60 คน&ทักษิณ กับความไม่ลงรอย'สรรพากร'
"...เรื่องนี้ ประเด็นไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการร่ำรวยผิดปกติ หากแต่เป็นเรื่องการมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น หลังจากที่เข้ามารับตำแหน่งทางการเมือง บางรายเป็นนายกฯ เป็นรัฐมนตรี มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยล้านเป็นพันล้านบาท แต่พอแจ้งเสียภาษี กลับแจ้งรายการเสียภาษีเฉพาะเงินเดือนเท่านั้น ไม่ได้นำทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นมาเสียภาษี จึงเป็นการเสียภาษีที่ไม่ถูกต้องครบถ้วน และถือเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ..."
"นอกจาก สตง. จะแจ้งให้กรมสรรพากรเรียกเก็บจากนายทักษิณ ชินวัตร ที่ขายหุ้นชินคอร์ปแต่ไม่เสียภาษีให้ถูกต้องกว่า12,000 ล้านบาทแล้ว สตง. ยังได้แจ้งกรมสรรพากรให้เรียกเก็บภาษีจากนักการเมือง 60 คน ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นางสาวยิ่งลักษณ ชินวัตร ทึ่เสียภาษีไม่ถูกต้องด้วย"
"สตง.ตรวจสอบพบว่านักการเมือง 60 คน มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเมื่อพ้นตำแหน่งรัฐมนตรี บางรายเพิ่มขึ้นนับพันล้านบาท บางรายซึ่งเป็นระดับนายกรัฐมนตรีมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเกือบ 500 ล้านบาท ซึ่งทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา39 อยู่ในบังคับต้องเสียภาษี แต่เมื่อ สตง.ตรวจแบบภ.ง.ด.แล้ว นักการเมืองส่วนใหญ่จะแจ้งรายการเสียภาษีเฉพาะเงินเดือนเท่านั้น ไม่ได้นำทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นมาเสียภาษี จึงเป็นการเสียภาษีที่ไม่ถูกต้องครบถ้วนและถือเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี"
(อ่านประกอบ : ไม่ใช่แค่ทักษิณ! สตง.แจ้งสรรพากรเก็บภาษีนักการเมือง 60 ราย ยุค 'มาร์ค-ยิ่งลักษณ์')
คือ คำยืนยันของ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่เปิดเผยเป็นทางการกับ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เกี่ยวกับการตรวจสอบติดตามเรียกเก็บภาษีนักการเมือง 60 ราย ในยุครัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นางสาวยิ่งลักษณ ชินวัตร ที่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเมื่อพ้นตำแหน่ง และเสียภาษีไม่ถูกต้อง ซึ่งกำลังเป็นประเด็นใหญ่ ที่สาธารณชนให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งข่าวในสตง.ว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ สตง. เคยทำหนังสือแจ้งเป็นทางการ กับ กรมสรรพากร ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2559 แล้ว โดยแจ้งให้กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีนักการเมือง 60 ราย มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเมื่อพ้นตำแหน่งไปแล้ว โดยใช้ฐานข้อมูลการแจ้งบัญชีทรัพย์สินที่นักการเมืองเหล่านี้ แจ้งไว้กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประกอบเรื่อง
พร้อมยืนยันว่า ทรัพย์สินทึ่เพิ่มขึ้นของนักการเมืองถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา39 อยู่ในบังคับต้องเสียภาษี และเมื่อ สตง.ตรวจแบบภ.ง.ด.แล้ว นักการเมืองส่วนใหญ่จะแจ้งรายการเสียภาษีเฉพาะเงินเดือนเท่านั้น ไม่ได้นำทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นมาเสียภาษี จึงเป็นการเสียภาษีที่ไม่ถูกต้องครบถ้วน และถือเป็นการหลีกเลี่ยงภาษี ขอให้กรมสรรพากรแจ้งประเมินภาษีจากนักการเมืองเหล่านี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากร ก็ไม่ได้มีการแจ้งประเมินภาษีจากนักการเมืองเหล่านี้ ตามความเห็นของสตง.แต่อย่างใด โดยทำหนังสือแจ้งตอบ กลับสตง. ว่า นักการเมืองเหล่านี้ ไม่ได้ถูกตรวจสอบพบปัญหาเรื่องการร่ำรวยผิดปกติ และมีการส่งความเห็นของ ป.ป.ช. ที่ยืนยันว่าไม่ได้มีปัญหาเรื่องร่ำรวยผิดปกติมาให้ สตง.ทราบด้วย
แต่ สตง.เห็นว่า เรื่องนี้ ประเด็นไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการร่ำรวยผิดปกติ หากแต่เป็นเรื่องการมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น หลังจากที่เข้ามารับตำแหน่งทางการเมือง บางรายเป็นนายกฯ เป็นรัฐมนตรี มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยล้านเป็นพันล้านบาท แต่พอแจ้งเสียภาษี กลับแจ้งรายการเสียภาษีเฉพาะเงินเดือนเท่านั้น ไม่ได้นำทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นมาเสียภาษี จึงเป็นการเสียภาษีที่ไม่ถูกต้องครบถ้วน และถือเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี
"การแจ้งให้กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีนักการเมือง 60 ราย มาจากฐานคิดที่ว่า นักการเมือง ที่เข้ามารับตำแหน่งทางการเมือง มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นหลังพ้นตำแหน่งมากขึ้นเพียงใด ถ้าเขามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น ก็ถือว่ามีรายได้ ซึ่งตามประมวลรัษฎากรมาตรา39 ระบุว่า "เงินได้พึงประเมิน " หมายความว่า เงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษีในหมวดนี้ เงินได้ที่กล่าวนี้ให้หมายความรวมตลอดถึงทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สำหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ตามมาตรา 40 และเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ ด้วย ซึ่งในเร็วๆ นี้ สตง. เตรียมที่จะทำหนังสือโต้แย้งกรมสรรพากรกลับไปอีกครั้ง " แหล่งข่าวระบุ
สำหรับกรณีการจะแจ้งให้กรมสรรพากรเรียกเก็บจากนายทักษิณ ชินวัตร ที่ขายหุ้นชินคอร์ป แต่ไม่เสียภาษีให้ถูกต้องกว่า 12,000 ล้านบาท นั้น แหล่งข่าวระบุด้วยว่า ภายหลังจากที่กรมสรรพากรยืนยันว่าจะรับเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการ ทางสตง.ก็คงจะติดตามดูต่อไปว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ถ้าหากไม่มีการดำเนินการอะไรเหมือน ยังปล่อยให้คดีหมดอายุความภายในวันที่ 31 มี.ค.2560 สตง.จะมีมาตรการดำเนินการกับผู้เกี่ยวข้อง ที่ทำให้ประเทศชาติเกิดความเสียหาย ซึ่งถือว่าเป็นการละเลย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 154 และ 157 ด้วย ตามที่เคยทำหนังสือแจ้งถึงอธิบดีกรมสรรพากรไปแล้ว (ดูหนังสือประกอบ)
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อมูลภาพรวมเกี่ยวกับปฏิบัติการติดตามตรวจสอบภาษีนักการเมือง เพื่อนำเข้าเป็นรายได้ของแผ่นดิน มาใช้ในการพัฒนาประเทศ ที่ดูเหมือนสถานะความเป็น 'แม่งาน' จะตกอยู่ที่ 'สตง.' มากกว่า 'กรมสรรพากร' ที่มีหน้าที่โดยตรงด้วยซ้ำ
ขณะที่ฐานความคิดของหน่วยงานทั้งสองแห่ง ก็ดูเหมือนจะไม่ลงลงรอยกัน ทั้งที่ เป็นหน่วยงานรัฐ ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลและจัดเก็บเงินแผ่นดิน ซึ่งในข้อเท็จจริงควรจะทำงานประสานความร่วมมือกันได้ดีมากกว่านี้
ส่วนนักการเมืองระดับนายกฯ ที่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเกือบ 500 ล้านบาท อยู่ใน 60 รายชื่อ ว่าเป็นใครนั้น? อดใจรอไม่นานสาธารณชนคงจะได้รับทราบคำตอบที่ชัดเจน ในเร็วๆ นี้