ฎีกา พิพากษา รอการกำหนดโทษ 2 ปี 'จอน-สุภิญญา' -พวก บุกสภา
ศาลฎีกา พิพากษากลับจากยกฟ้อง เป็นให้รอการกำหนดโทษ“ จอน อึ้งภากรณ์ ” กับพวก 10 ราย องค์กรปชช.บุกสภา ขวาง สนช.พิจารณาร่าง กม.ปี 50
ที่ห้องพิจารณา 710 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 15 มี.ค.60 เวลา 09.30 น. ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีกลุ่มองค์ภาคประชาชน 10 ราย นำผู้ชุมนุมบุกรัฐสภา ปี 50 เพื่อขัดขวางสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่ให้พิจารณาร่างกฎหมาย โดยศาลฎีกามีคำพิพากษากลับจากที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง เป็นให้รอการกำหนดโทษ นายจอน อึ๊งภากรณ์ อายุ 67 ปี ประธานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมที่ 1 กับพวกทั้ง 10 ราย เนื่องจากเห็นว่าการกระทำของจำเลยผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เเต่เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ การศึกษา เหตุผลเเละวัตถุประสงค์ เห็นว่าพฤติการณ์ไม่ร้ายเเรง จึงให้รอการกำหนดโทษ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับจำเลย นายสาวิทย์ แก้วหวาน อายุ 54 ปี แกนนำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.ร.ฟ.ท.) และแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ 2 นายศิริชัย ไม้งาม อายุ 56 ปี แกนนำ พธม. และอดีตประธานสหภาพแรงงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) ที่ 3 นายพิชิต ไชยมงคล อายุ 35 ปี ที่ 4 นายอนิรุทธ์ ขาวสนิท อายุ 50 ปี ที่ 5 นายนัสเซอร์ ยีหมะ อายุ 41 ปีที่ 6 นายอำนาจ พละมี อายุ 49 ปี ที่ 7 นายไพโรจน์ พลเพชร อายุ 60 ปี คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ที่ 8 น.ส.สารี อ๋องสมหวัง อายุ 51 ปี เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ 9 น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ อายุ 42 ปี กรรมการ กสทช. ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 10
คดีนี้สืบเนื่องจากภายหลังคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 และตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขึ้นมาทำหน้าที่ในการออกกฎหมาย โดยก่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดขึ้นวันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2550 สนช.ได้เร่งพิจารณาร่างกฎหมายจำนวนมาก โดยร่างกฎหมายหลายฉบับมีเนื้อหาละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ส่งผลให้องค์กรภาคเอกชนออกมาเคลื่อนไหวเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยและคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวมทั้งคัดค้านการพิจารณาออกกฎหมาย 11 ฉบับ โดยมีการมาชุมนุมกันที่หน้ารัฐสภา และได้มีการปีนเข้าไปในอาคารรัฐสภา เป็นเหตุให้ผู้ชุมนุม 10 คนประกอบด้วย
1) นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตประธานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม 2) นายสาวิทย์ แก้วหวาน 3) นายศิริชัย ไม้งาม 4) นายพิชิต ไชยมงคล 5) นายอนิรุทธ์ ขาวสนิท 6) นายนัสเซอร์ ยีหมะ 7) นายอำนาจ พละมี 8) นายไพโรจน์ พลเพชร 9) นางสาวสารี อ๋องสมหวัง และ 10) นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ถูกดำเนินคดี
โดยในคดีนี้ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2556 ศาลอาญามีคำพิพากษา ให้จำคุกและปรับจำเลย โดยโทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ 2 ปีต่อมา ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ เพราะเห็นว่าการกระทำของพวกจำเลยดังกล่าว ขาดเจตนา ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกจำเลยตามความผิดมาตรา 215 วรรค 3 นั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นด้วยพิพากษากลับให้ยกฟ้อง