เทสโก้จับมือท้องถิ่น ชูโมเดลเกาะพีพีปลอดขยะ
เทสโก้จับมือ กลุ่มพิทักษ์พีพี หน่วยงานท้องถิ่น อุทยานฯ ดันโมเดลเกาะปลอดขยะ เน้นลดการใช้ถุงพลาสติก กรีนพีซเผย ปัญหาเข้าขั้นวิกฤติ เร่งจัดการ
เมื่อเร็วๆ นี้ เทสโก้ โลตัส จับมือกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กลุ่มพิทักษ์พีพี หน่วยงานท้องถิ่น ประสานพลังกู้วิกฤติขยะทะเลปลูกจิตสำนึกลดการใช้ถุงพลาสติก
นายสากล ฐินะกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องของขยะเป็นวาระแห่งชาติ และแม้ว่าอาจจะยังไม่มีความชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมมากนักปัจุบันต้องยอมรับว่าในการจัดการขยะผู้รับผิดชอบหลักคือ กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น
“ที่ผ่านมาแต่ละคนผลิตขยะปริมาณ 1.1 กิโลกรัมต่อวัน และเมื่อปี 2558 ปริมาณขยะจากค่าเฉลี่ยได้มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งในขณะนี้คนหนึ่งคนผลิตขยะราว1.4-1.9 กิโลกรัมต่อวัน” นายสากลกล่าวและว่า ขณะนี้ทางกระทรวงมหาดไทยได้มีการกำหนดว่าทุกองค์กรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีการแยกหรือกำจัดขยะเบื้องต้นก่อน 5% หลังจากนั้นส่วนที่เหลือก็ต้องไปสู่กระบวนการกำจัดขยะต่อไป โดยหวังว่าการกำจัดขยะก็จะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ด้านนายชาคริต ดิเรกวัฒนชัย รองประธานกรรมการ แผนกสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า เทสโก้ โลตัสยังคงมุ่งมั่นที่จะรณรงค์ให้ลูกค้าและประชาชนลดการใช้ถุงพลาสติกมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ซึ่งทำให้พบว่าลูกค้าทั่วประเทศที่หันมาเห็นความสำคัญของการลดใช้ถุงพลาสติกอย่างจริงจังมากขึ้น จนสามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกได้ราว100 ล้านใบแล้ว
“ในปีนี้เทสโก้ โลตัส ยังคงสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้านำถุงผ้ามาใช้ใส่สินค้าในทุกสาขา ด้วยการรณรงค์อย่างจริงจังร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ดังเช่นที่เกาะพีพีที่ได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กลุ่มพิทักษ์พีพี ฯลฯ ตลอดจนกลุ่มเครือข่ายอิสระอย่างกรีนพีซ ประเทศไทย มาร่วมพูดคุยถึงวิฤติการใช้ถุงพลาสติกที่กำลังส่อเค้ารุนแรง ซึ่งเทสโก้ โลตัส ได้นำถุงผ้าจากโครงการ ปันเป๋า จำนวน 1,000 ใบ สร้างสังคมยืมคืนมุ่งปลูกฝังพฤติกรรมลดใช้ถุงอย่างจริงจัง” นายชาคริต กล่าวและว่า ภาครัฐให้ความสนใจกับปัญหาขยะจากถุงพลาสติกอย่างต่อเนื่อง โดยเตรียมเปิดประชาพิจารณ์ 3 จังหวัดชายฝั่ง ได้แก่ กระบี่ ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และมองหามาตรการที่เหมาะสมในการลดการใช้ถุงพลาสติก
นอกจากนี้ข้อมูลของกรีนพีซ ระบุว่า ทุกปีมนุษย์ผลิตพลาสติกใช้มากถึง 300 ล้านตัน และจะมีพลาสติกประมาณ 10 ล้านตัน เล็ดลอดเข้าไปอยู่ในท้องทะเลและมหาสมุทรทั่วโลก ส่วนในประเทศไทยเอง ฐานข้อมูลขยะทะเลเมื่อปี 2558 ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบ 23 จังหวัดชายฝั่งทะเลมีปริมาณขยะมากถึง 10 ล้านตัน และมีขยะมากถึง 5 ล้านตันที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง จนมีโอกาสถูกพัดพาลงทะเล กลายเป็นขยะทะเล ซึ่งแต่ละปีจะมีขยะพลาสติกลงทะเลมากถึง 5 หมื่นตัน หรือ 750 ล้านชิ้น จำนวนนี้เป็นถุงพลาสติกมากที่สุดถึง 13 %