เปิดงบโครงการพาคนกลับบ้าน ปีเดียว 106 ล้าน!
ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบงบประมาณที่ใช้ใน "โครงการพาคนกลับบ้าน" ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พบว่าใช้งบประมาณในปี 2559 ถึง 106,422,600 บาท
โครงการพาคนกลับบ้าน ถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่ายว่าประสบความสำเร็จจริงหรือไม่ หลังจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เปิดเผยตัวเลขล่าสุด นับตั้งแต่ปี 2555 จนถึงวันที่ 5 ก.พ.60 ระบุมียอดผู้เห็นต่างจากรัฐที่เข้ารายงานตัวและร่วมโครงการฯ สูงถึง 4,432 คน
แม้แต่กรณีแม่ทัพภาคที่ 4 พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช ขึ้น ฮ.ไปรับมอบตัวผู้เห็นต่างจากรัฐที่โทรศัพท์สายตรงถึงแม่ทัพที่ อ.รามัน จ.ยะลา เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ก็ยังถูกวิจารณ์ว่าเป็นการ "จัดฉาก" จนฝ่ายความมั่นคงต้องออกมาชี้แจงกันอย่างอึกทึก
ตัวเลขผู้เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน 4,432 คน แบ่งเป็น 2 ช่วง แยกเป็น ยอดผู้เห็นต่างฯที่เข้าร่วมโครงการฯ นับจากวันที่ 11 ก.ย.55 (93 คนในวันเดียว) จนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2558 (30 ก.ย.58) รวมเวลาประมาณ 3 ปี มีผู้เห็นต่างฯเข้าโครงการฯทั้งสิ้น 1,996 คน จากนั้นในปีงบประมาณ 2559 เพียงปีเดียว (ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.58 ถึง 30 ก.ย.59) ยอดผู้เห็นต่างฯที่เข้ารายงานตัวพุ่งสูงถึง 2,407 คน (มากกว่า 3 ปีก่อนหน้ารวมกัน) ซึ่งเป็นการดำเนินการในยุคที่รัฐบาล คสช.มีอำนาจเต็มมือ ภายใต้การนำของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง
ตัวเลขรวม 4,432 คน แยกเป็นกลุ่มที่มีหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (หมาย ฉฉ.ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) จำนวน 3,686 คน มีหมาย ป.วิอาญา (หมายจับที่ออกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) 414 คน และกลุ่มที่ไม่มีหมายใดๆ แต่หลบหนีออกจากภูมิลำเนาเพราะหวาดระแวง หวาดกลัว จำนวน 331 คน
เมื่อไม่นานมานี้ เครือข่ายชาวไทยพุทธสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รวมตัวกันยื่นข้อเรียกร้องให้ ศอ.บต.แก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่อย่างเร่งด่วน หลังเกิดเหตุการณ์สังหารชาวไทยพุทธอย่างต่อเนื่องช่วงก่อนและหลังการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯเที่ยวล่าสุด เมื่อ 28 ก.พ.60 โดย 1 ใน 15 ข้อเรียกร้อง คือการให้ยกเลิกโครงการพาคนกลับบ้าน เพราะชาวบ้านกลุ่มนี้มองว่าเป็นโครงการ "พาโจรกลับบ้าน" มากกว่า เนื่องจากเหตุรุนแรงไม่ลดลง และอ้างข้อมูลว่ามีบางคนที่เข้าร่วมโครงการฯแล้วกลับมาก่อเหตุรุนแรงอีก
ตัวเลขงบประมาณกว่า 106 ล้านบาทที่ใช้สำหรับโครงการพาคนกลับบ้านนั้น เป็นงบของ ศอ.บต.ในปี 2559 เพียงปีเดียว งบก้อนนี้อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานเครือข่ายภาคประชาสังคมและการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี (สปส.) ขณะที่มีข่าวบางกระแสระบุว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ก็มีงบประมาณสำหรับโครงการพาคนกลับบ้านด้วยเช่นกัน แต่ไม่ชัดว่ามีการตั้งงบแยกต่างหาก หรือใช้งบผ่าน ศอ.บต.
เป็นที่น่าสังเกตว่า ตัวเลขผู้เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้านพุ่งสูงที่สุดในปีงบประมาณ 2559 จำนวน 2,407 คน มากกว่าครึ่งหนึ่งของยอดรวมผู้เข้าร่วมโครงการฯทั้งหมดตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ซึ่งก็สอดคล้องกับงบประมาณที่สูงกว่า 106 ล้านบาทซึ่งเป็นงบในปี 2559 เช่นกัน
แหล่งข่าวซึ่งเคยทำโครงการพาคนกลับบ้านในปี 2555 รู้สึกตกใจเมื่อถูกถามว่างบประมาณที่ใช้ในโครงการนี้สูงถึงปีละกว่า 106 ล้านบาทเชียวหรือ?
"ทำไมงบถึงเยอะขนาดนั้น เพราะตอนที่ทำโครงการช่วงแรกๆ ไม่ได้ใช้งบมากมายอะไร" แหล่งข่าวระบุ
จากการตรวจสอบของ "ทีมข่าวอิศรา" พบว่า งบประมาณ 106 ล้านบาทเศษ มีการแยกย่อยเป็นค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง 96 ล้านบาทเศษ โดยในจำนวนนี้ราว 50 ล้านบาท เป็นการก่อสร้างถนนใน อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ที่เหลือเป็นโครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคและแหล่งน้ำ แต่ไม่มีการอธิบายรายละเอียดว่าเกี่ยวข้องกับโครงการพาคนกลับบ้านอย่างไร
นอกจากนั้น ยังมีงบรายจ่ายอีกส่วนหนึ่ง คือ การจัดตั้งกลุ่มผู้ร่วมสร้างสันติสุขในระดับอำเภอ ใช้งบ 10 ล้านบาท
สาเหตุที่โครงการพาคนกลับบ้านใช้งบประมาณสูงในระยะหลังๆ เพราะเป็นโครงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ เนื่องจากเชื่อว่าเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จของการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เม็ดเงินที่ใช้ในโครงการนอกเหนือจากค่าที่ดินและค่าก่อสร้างตามที่อ้างในเอกสารยังมีอีกหลายส่วน แต่ไม่มีระบุในเอกสาร เท่าที่ตรวจสอบได้ก็เช่น
1.มีการดำเนินการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ หรือ ศปก.อำเภอ เป็นศูนย์กลางรับการแสดงตัวหรือมอบตัวของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ทำให้มีรายจ่ายเรื่องงานธุรการและสำนักงาน
2.มีการจ่ายเงินให้ผู้เห็นต่างฯ และครอบครัว เพื่อช่วยเหลือด้านการดำรงชีวิตหลังเข้าร่วมโครงการฯ พร้อมให้ความดูแลด้านอื่นๆ
3.มีการช่วยเหลือเรื่องเงินประกันตัว กรณีติดหมาย ป.วิอาญา หรือ หมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีในกระบวนการยุติธรรม
4.มีการจ่ายเงินรางวัลจูงใจให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายกองกำลัง เพื่อให้ช่วยกันติดตามตัวผู้เห็นต่างฯ หรือโน้มน้าวครอบครัวให้พาผู้เห็นต่างฯเข้ารายงานตัว
5.มีการจ่ายเงินจูงใจให้ผู้เห็นต่างฯ ที่พาเพื่อนเข้ารายงานตัว
นอกจากนั้นยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อาทิ กิจกรรมระดมผู้เห็นต่างฯที่เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้านไปพบ พล.อ.ประวิตร เมื่อครั้งเดินทางลงพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อปลายปี 58 (เดือน ธ.ค. อยู่ในปีงบประมาณ 2559) ก็มีข่าวว่ามีค่าใช้จ่ายให้หัวละ 200 บาท เป็นต้น
ด้านแหล่งข่าวซึ่งอ้างว่าเป็นคนในขบวนการแบ่งแยกดินแดน เผยว่า จริงๆ โครงการพาคนกลับบ้านไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ในพื้นที่สงบสุข เพราะผู้เข้าร่วมโครงการฯ เกือบทั้งหมดเป็นแนวร่วมที่อายุมากแล้ว ส่วนใหญ่มีครอบครัว และไม่อยากหลบๆ ซ่อนๆ อีกต่อไป ขณะที่บางคนก็ "เสียลับ" ถูกเปิดเผยหน้าตาว่าอยู่ในขบวนการ คนเหล่านี้จะได้รับไฟเขียวจากแกนนำขบวนการให้เข้าร่วมโครงการฯได้ โดยมีข้อตกลงว่าจะต้องไม่เปิดเผยความลับขององค์กรให้เจ้าหน้าที่ทราบ หรือหากต้องให้ถ้อยคำ ก็ให้ข้อมูลที่คล้ายๆ กัน หรือข้อมูลที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า หลังจากเข้าร่วมโครงการฯแล้ว ก็สามารถกลับไปอยู่บ้านได้อย่างปลอดภัย ทำมาหากินได้ตามปกติ
"เรื่องนี้ขบวนการฯมีแต่ได้กับได้ เพราะคนที่เข้าโครงการของรัฐก็ไม่มีกะจิตกะใจจะสู้รบต่ออยู่แล้ว ก็จะได้มีช่องทางกลับมาอยู่กับครอบครัว ได้เงินไปประกอบอาชีพ และต่อสู้คดี ส่วนขบวนการแทบไม่เสียอะไร เพราะสามารถผลิตนักรบรุ่นใหม่ได้ตลอดเวลา" แหล่งข่าว ระบุ
นับเป็นข้อมูลอีกด้านหนึ่งของ "โครงการพาคนกลับบ้าน" ท่ามกลางกระแสความสำเร็จที่ภาครัฐสื่อสารกับสังคม!