นายกทันตแพทยสภาโวย ปส.ไม่จริงใจ ยื้อออกกฎยกเว้นเครื่องเอกซเรย์
นายกทันตแพทยสภาโวย ปส.ไม่จริงใจแก้ปัญหา ยื้อออกกฎกระทรวงยกเว้นเครื่องเอกซเรย์ทันตกรรม ทำหมอฟันเดือดร้อน จี้เร่งออกกฎกระทรวงโดยเร็วตามที่รับปากไว้
ผศ.(พิเศษ) ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า กรณีการบังคับใช้กฎหมายพลังงานนิวเคลียร์ฉบับใหม่นั้น ที่ผ่านมาทันตแพทยสภาร่วมกับสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขได้มีมติตรงกันว่าให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ออกกฎกระทรวงยกเว้นให้เครื่องกำเนิดรังสีทางการแพทย์หรือเครื่องเอกซเรย์ที่ใช้ในทางการแพทย์ รวมถึงเครื่องเอกซเรย์ทันตกรรมไม่อยู่ภายใต้ข้อบังคับของกฎหมายนี้ เพราะมีความเห็นตรงกันว่า ปริมาณรังสีไม่ได้เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ ซึ่งในทางสากลก็ปฏิบัติตามนี้ คือยกเว้นเครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์ โดยทางทันตแพทยสภาจะเป็นผู้กำกับและควบคุมการใช้งานของทันตแพทย์ โดยมีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่ควบคุมเหมือนเช่นเดิม
นายกทันตแพทยสภา กล่าวต่อว่า เรื่องนี้ดำเนินการจนถึงขั้นตอนการเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ก็มีความเห็นตรงกันว่าจะดำเนินการออกกฎกระทรวงยกเว้น รวมถึงความเห็นของคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สนช. ที่เห็นว่าต้องยกเว้นเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ก็รับรู้ขั้นตอนมาโดยตลอด แต่ด้วยเหตุใดไม่ทราบ ยังปรากฎว่ามีความพยายามที่จะยื้อการออกกฎกระทรวงยกเว้น โดยล่าสุดทาง ปส.ยังทำหนังสือเชิญผู้ประกอบการคลินิกทันตกรรมไปร่วมสัมมนาเพื่อแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎกระทรวง ซึ่งทันตแพทยสภาเห็นว่า เรื่องนี้ชัดเจนแล้ว ขณะนี้กระทรวงวิทยาศาสต์ฯ ต้องเร่งออกกฎกระทรวงยกเว้นเครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์เท่านั้น ไม่ควรดึงเวลาให้ยืดเยื้อเช่นนี้ ทำให้วิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขยังมีปัญหาติดขัด ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะกฎหมายยังไม่ชัดเจน
“การดำเนินการแบบนี้ของ ปส.เหมือนต้องการถ่วงเวลาไว้ ยื้อเวลาออกไป ทำให้ทันตแพทย์ที่ประกอบการคลินิกทันตกรรมได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มที่ต้องต่อใบอนุญาตที่ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะยังไม่มีกฎกระทรวงออกมารองรับ จึงทำให้หากจะประกอบการคลินิกทันตกรรมต่อไปได้ ต้องไปขอใบอนุญาตจาก ปส.เท่านั้น หาก ปส.ยังคงดำเนินการเช่นนี้ ก็แสดงว่าที่ผ่านมาไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา รับปากแต่ไม่เคยดำเนินการ ความไม่จริงใจของ ปส.นี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ในขั้นตอนการออกกฎหมายพลังงานนิวเคลียร์ที่รวบรัด ไม่เคยรับฟังความเห็นจากสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข จนออกเป็นกฎหมายที่สร้างความเดือดร้อนโดยไม่จำเป็น ทั้งที่ควรมุ่งไปที่ปริมาณรังสีที่มีผลกระทบกับประชาชนมากกว่า” ทพ.ไพศาล กล่าว