ขมวดข้อมูล-พฤติการณ์คดีสินบนโรลส์รอยซ์ช่วง 3 ก่อน ป.ป.ช.ดาหน้าลุยหาคนผิด?
“…ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 26 ราย เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องบินโบอิ้ง B777-200ER พร้อมเครื่องยนต์สำหรับติดตั้งเครื่องบิน และการจัดซื้อเครื่องยนต์สำรองสำหรับเครื่องบินแอร์บัส A340-500/600 จำนวน 6 ลำ เพิ่มเติมรวม 7 เครื่อง จากบริษัทโรลส์-รอยซ์ ซึ่งทั้งหมดมีหน้าที่ทำ และจัดการเกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่องบินและเครื่องยนต์ดังกล่าว ร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเพื่อให้บริษัทโรลส์-รอยซ์ ได้รับประโยชน์ในการทำสัญญาขายเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินให้แก่บริษัท การบินไทย…”
ในที่สุดก็มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมเสียที
ภายหลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติตั้งกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 9 ราย เป็นองค์คณะไต่สวน กรณีกล่าวหา ‘บิ๊กนักการเมือง-อดีตบอร์ดการบินไทย’ พัวพันกับการรับสินบนจากบริษัท โรลส์-รอยซ์ ที่จ่ายให้กับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซื้อเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์มาติดเครื่องบิน 3 ช่วง ระหว่างปี 2534-2548 รวมวงเงินกว่า 1.2 พันล้านบาท
เบื้องต้น ป.ป.ช. ตั้งองค์คณะไต่สวนได้แค่ช่วงที่ 3 คือ ปี 2547-2548 มีผู้ถูกกล่าวหารวม 26 ราย ไล่เรียงมาตั้งแต่รัฐมนตรีสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม และนายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รมช.คมนาคม ส่วนคณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทย โดนยกคณะ 15 ราย ไม่ว่าจะเป็น นายทนง พิทยะ ประธานบอร์ดฯ นายกนก อภิรดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย แม้แต่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ นายชัยอนันต์ สมุทวณิช นายชาติศิริ โสภณพนิช และนายวิโรจน์ นวลแข ก็ติดร่างแหกับเขาด้วย รวมไปถึงคณะอนุกรรมการพิจารณาแผนระยะยาวของการบินไทยอีก 9 ราย ซึ่งทั้งหมดถูกกล่าวหาว่า ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการเอื้อประโยชน์ให้การบินไทยซื้อเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์
ขณะที่กรณีการติดสินบนช่วงที่ 1 และ 2 ระหว่างปี 2534-2535 และปี 2535-2540 ป.ป.ช. ยังไม่พบพยานหลักฐานเพียงพอที่จะตั้งองค์คณะไต่สวนได้ จึงดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงต่อไป
ท่ามกลางความกังวลของ ป.ป.ช. ว่า หากไม่ได้สำนวนการสอบสวนของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตสหราชอาณาจักร (SFO) อาจทำให้คดีเรียกรับสินบนเหล่านี้ทำได้ยากขึ้น ?
“ยอมรับว่ายากขึ้น แต่ถ้าโชคดีไปจ๊ะเอ๋เจอเส้นทางการเงิน อาจตามจับเรื่องการรับสินบนได้ โดยไม่ต้องอาศัยข้อมูลจาก SFO” นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยืนยัน
(อ่านประกอบ : ‘สุริยะ-วิเชษฐ์-ทนง-กนก’โดน ป.ป.ช.สอบคดีสินบนโรลส์รอยซ์-‘บวรศักดิ์-วิโรจน์’ติดโผด้วย)
ไม่ว่าข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นอย่างไร สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รวบรวมข้อมูล-พฤติการณ์จาก SFO และมติบอร์ดการบินไทย-มติคณะรัฐมนตรีในช่วงเวลาดังกล่าว มานำเสนอให้เห็นกันชัด ๆ ดังนี้
สำนวน SFO ระบุว่า การจ่ายสินบนก้อนที่ 3 อยู่ระหว่างปี 2547-2548 วงเงินประมาณ 7.2 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ (ราว 254 ล้านบาท)
กรณีนี้มีการหารือตั้งแต่ปลายปี 2539 แต่เริ่มดำเนินการจริงประมาณปี 2547 โดยการบินไทยเตรียมจัดซื้อเครื่องบินโบอิ้ง B777-200 ER และเครื่องยนต์ TRENT (หรือ T ของโรลส์-รอยซ์) พร้อมอะไหล่สำรอง (คณะกรรมการการบินไทยขณะนั้นมีนายทนง พิทยะ เป็นประธานบอร์ดฯ และนายกนก อภิรดี เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย)
ช่วงเดือน ส.ค. 2547 บอร์ดการบินไทยได้อนุมัติจัดซื้อเครื่องบินหลายลำ โดยมีการซื้อโบอิ้ง B777-200 ER จำนวน 6 ลำ เครื่องบินแอร์บัส A340-600 จำนวน 1 ลำ โดยดำเนินการตามแผนการเงินและแผนเงินกู้ตามที่บริษัท การบินไทยฯ เสนอ
ต่อมาเมื่อเดือน ก.ย. 2547 บอร์ดการบินไทย อนุมัติสั่งซื้อเครื่องยนต์อะไหล่ TRENT-500 และ TRENT 892 จากบริษัท โรลส์-รอยซ์ รวม 7 เครื่อง ชำระเงินมัดจำรวม 1 แสนดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อเครื่องยนต์อะไหล่
โดยในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมบอร์ดการบินไทยยังชมเชย ‘นาวาอากาศโทนาวาอากาศโทศุภชัย ลิมปิสวัสดิ์’ กรรมการผู้จัดการฝ่ายช่าง (ขณะนั้น ปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาคดีดังกล่าวด้วย) ที่สามารถเจรจาต่อรองราคาเครื่องยนต์อะไหล่ที่บริษัท การบินไทยฯ สั่งซื้อจากบริษัท โรลส์-รอยซ์ ดังกล่าว จากราคาเดิมประมาณ 102 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ลดลงเหลือประมาณ 87.4 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ทำให้บริษัท การบินไทยฯ ประหยัดค่าใช้จ่ายจากการนี้เป็นจำนวนมาก
(อ่านประกอบ : ข้อมูลใหม่!มติบอร์ดบินไทยยุค'ทนง' ซื้อเครื่องสำรองโรลส์รอยซ์-น.ท.เจรจาต่อราคา)
หลังจากนั้นวันที่ 23 พ.ย. 2547 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม (ขณะนั้น) ได้นำเสนอแผนวิสาหกิจการบินไทยปี 2548/2549 ในการจัดซื้อเครื่องบิน พร้อมอะไหล่ดังกล่าว แก่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
(อ่านประกอบ : หลักฐานเด็ด!มติ ครม.ปี 47 คดีสินบนโรลส์รอยส์-'สุริยะ'ชงเปลี่ยนซื้อ'B777' 6 ลำ)
เมื่อเทียบกับข้อมูลตามสำนวน SFO ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. 2547 ระบุว่า เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2547 มีบันทึกถึงพนักงานอาวุโสของบริษัท โรลส์-รอยซ์ เสนอที่จะจ่ายค่าส่วนแบ่งคอมมิสชั่นจากการจัดซื้อเครื่องยนต์รุ่น T-800 ให้กับนายหน้า 3 เป็น 4% และในส่วนของนายหน้าส่วนภูมิภาครับ 2% ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2547 มีบันทึกส่งถึงพนักงานอาวุโสและผู้ดูแลจัดการสั่งซื้อ แสดงถึงข้อกังวลจากสิ่งที่ทางนายหน้าส่วนภูมิภาคเรียกร้อง ระบุว่า “...ข้อเสนอส่วนแบ่งจำนวน 6% จากยอดสั่งซื้อทั้งหมดของเครื่องยนต์รุ่น T-800 ที่จะแบ่งให้กับตัวกลางสองคน รวมไปถึงค่าคอมมิสชั่นเพิ่มเติมในการซื้อสัญญา TCA อย่างไรก็ดี ค่าคอมมิสชั่นที่เพิ่มเข้ามานั้น ทางพนักงานอาวุโสคนหนึ่งได้ทาบทามพนักงานอาวุโสอีกคนให้ติดต่อ สื่อสารเรื่องดังกล่าวไปนายหน้าภูมิภาค”
ต่อมามีจดหมายแนบลงวันที่ 22 ต.ค. 2547 ตกลงการจ่ายสินบนให้แก่นายหน้า3 เป็นจำนวน 2% จากการค่าส่วนแบ่งคอมมิสชั่นของการจัดซื้อเครื่องยนต์สำรองรุ่น T500 จำนวน 7 เครื่อง ซึ่งค่าคอมมิสชั่นครั้งนี้ถูกแบ่งเป็นสองงวด (payable in two parts)
หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2547 มีจดหมายอีกฉบับถูกส่งไปให้กับ นายหน้า 3 เพื่อเสนอที่จะจ่ายเงินทั้งหมด ยกเว้น 12.5% จากค่าคอมมิสชั่นที่จ่ายในวันที่ 7 มกราคม 2548 ทั้งนี้ เชื่อว่า (assume) รัฐบาลไทยอนุมัติแล้ว วันถัดมา (23 พ.ย. 2547 ) เมื่อ คณะรัฐมนตรีของไทย (the Cabinet of the Government of Thailand) มีกำหนดที่ประชุม ได้มีจดหมายฉบับสุดท้ายส่งถึงนายหน้า 3 ซึ่งระบุว่าจะจ่ายค่าคอมมิสชั่น T-800 เต็มจำนวนในวันที่ 7 ม.ค. 2548 ทั้งนี้ เชื่อว่ารัฐบาลไทยได้ทำการอนุมัติแล้วเช่นกัน
(ข้อมูลตามมติคณะรัฐมนตรี ระบุว่า เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2547 นายสุริยะ นำเสนอแผนวิสาหกิจการบินไทยดังกล่าวแก่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะอนุมัติตามที่เสนอ)
ต่อมาเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2547 อีเมล์ภายในของ RR ฉบับหนึ่งระบุว่า คำสั่งซื้อ/ออเดอร์ของการบินไทย ได้รับการอนุมัติแล้วระบุว่า "มีสายตรงระหว่าง (รัฐมนตรีท่านหนึ่งในรัฐบาลไทยกับพนักงานการบินไทย) เป็นไปด้วยดี ทางสายการบินยังไม่ได้รับทราบข่าวดีใดๆ และยังไม่มีท่าทีแน่ชัดถึงการเซ็นสัญญา POs (นายหน้า 3รวมทั้งนายหน้าส่วนภูมิภาค ) ได้รับคำมั่นสัญญา จากรัฐมนตรีช่วยว่าการของรัฐบาลไทย ซึ่งพวกเขาได้พบก่อนหน้านี้ ว่าจะเรื่องราวดังกล่าวจะถูกไล่เรียงความชัดเจนภายในวันรุ่งขึ้น"
หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2547 มีการระบุว่า “นายหน้าส่วนภูมิภาค กับ คนกลาง 3 ได้ร่วมรับประทานอาหารค่ำด้วยกันในวันที่ 18 ธ.ค. 2547 กับรัฐมนตรีช่วยว่าการของรัฐบาลไทยคนหนึ่งที่เคยพบกันมาก่อน และถ้าเป็นอย่างนั้น นายหน้าส่วนภูมิภาคอาจตัดสินใจกะทันหันเพื่อสนับสนุนคำขอของนายหน้า 3 ก็ได้” [ ] “พวกเราควรทำตามข้อเสนอ คิดเห็นว่ายังไง ?”
(อ่านประกอบ : แกะรอย บ.โรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนครั้งที่ 3 ช่วงปี 47-48 "ดินเนอร์กับคนในรัฐบาล" (จบ))
ล่าสุด ตามข้อมูลจากสำนักงาน ป.ป.ช. ระบุพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในช่วงปี 2547-2548 ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง รมว.คมนาคม รมช.คมนาคม บอร์ดการบินไทย และคณะอนุกรรมการพิจารณาแผนระยะยาวของการบินไทย รวม 26 ราย เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องบินโบอิ้ง B777-200ER พร้อมเครื่องยนต์สำหรับติดตั้งเครื่องบิน และการจัดซื้อเครื่องยนต์สำรองสำหรับเครื่องบินแอร์บัส A340-500/600 จำนวน 6 ลำ เพิ่มเติมรวม 7 เครื่อง จากบริษัทโรลส์-รอยซ์ ซึ่งทั้งหมดมีหน้าที่ทำ และจัดการเกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่องบินและเครื่องยนต์ดังกล่าว ร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเพื่อให้บริษัทโรลส์-รอยซ์ ได้รับประโยชน์ในการทำสัญญาขายเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินให้แก่บริษัท การบินไทยฯ โดยนอกเหนือจากกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์คณะไต่สวนแล้ว ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกร่วมเป็นองค์คณะไต่สวนด้วย ได้แก่ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) อธิบดีอัยการต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เป็นต้น
ส่วนการไต่สวนกรณีการจ่ายสินบนนั้น นายสรรเสริญ กล่าวว่า เบื้องต้น ป.ป.ช. ได้ชื่อคนกลางเป็นเอกชน ที่ทำหน้าที่ประสานระหว่างบริษัท โรลส์-รอยซ์ และผู้ถูกกล่าวหาแล้ว แต่คงไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ว่า เชื่อมโยงกับใคร อย่างไร ขณะนี้มีคณะทำงานที่กำลังดูเรื่องกระแสทางการเงินว่า ถ้าเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือเชื่อมโยงกับใคร สามารถเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อไต่สวนเพิ่มเติมได้ เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนร่วม หรือช่วยเหลือ หรือสนับสนุนการกระทำความผิด
(อ่านประกอบ : ครบทุกชื่อ 26 รายถูก ป.ป.ช.สอบคดีสินบนโรลส์รอยซ์! 2 รมต.ยุคแม้ว-บอร์ดบินไทย-อนุฯทำแผน)
ทั้งหมดคือข้อมูล-มติคณะรัฐมนตรี-สำนวนสอบ SFO ที่เกี่ยวข้องกับกรณีการจ่ายสินบนของบริษัท โรลส์-รอยซ์ ช่วงที่ 3 ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการไต่สวนของ ป.ป.ช.
ท้ายสุดจะสามารถเอาผิดใครได้บ้าง ต้องรอติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด !
อ่านประกอบ :
หวั่นถูกเปิดเผย! SFO-ยธ.สหรัฐฯยังไม่ส่งข้อมูลให้ ป.ป.ช.คดีสินบนโรลส์รอยซ์
ป.ป.ช ตั้งคณะ กก.เร่งรัดคดีสินบนข้ามชาติ-สั่งลุยหาข้อมูลกรณีไบโอ-ราด
ขมวด 11 คดีทุจริต-สินบนข้ามชาติ ยังไม่ถึงไหน-วัดฝีมือองค์กรตรวจสอบไทย?
เจอแล้ว!ปตท.จัดซื้อ ‘โรลส์รอยซ์’ 7 สัญญารวด 254.5 ล. ช่วง 3 ปี- บ.คนไทยเอี่ยว
ถก ยธ.สหรัฐฯสัปดาห์หน้า-ป.ป.ช.ตั้งคณะทำงานทางการสอบสินบนโรลส์-รอยซ์
สั่งคมนาคมเร่งสอบสินบนโรลส์-รอยซ์! ‘บิ๊กตู่’ย้อนหาว่า รบ.โกง ไหนคดีในศาล
ชี้อำนาจ ครม. อนุมัติ ! 'กนก'อดีตดีดีบินไทยพร้อมให้สอบหาอีแอบสินบนโรลส์รอยซ์
ประมวลชัดๆ 'ข้อมูลจัดซื้อ-เส้นทางสินบน' คดีโรลส์รอยซ์-บินไทย 1.2 พันล.
จ่ายก้อน3 ช่วง นัดรมต.ยุคแม้วกินข้าว!สตง.แจ้งSFOขอผลสอบคดีสินบนโรลส์รอยซ์'
การบินไทย แจงเร่งตรวจสอบข้อมูล หลัง 'โรลส์รอยซ์'ยอมรับจ่ายสินบนในไทย
ชวน "ดร.เมธี- ต่อตระกูล" คุยกรณีโรลส์-รอยซ์ ติดสินบนซื้อเครื่องยนต์
ชวลิตนั่งปธ.!ปตท.ตั้งกก.สอบสินบน'โรลส์รอยซ์'-สรุปผลเบื้องต้นสัปดาห์หน้า
สอบทุกรบ.!สตง.ลุยตรวจสินบนโรลส์รอยซ์'ปตท.'แล้ว-คดีบินไทยรอ'ชื่อ'ผู้เกี่ยวข้อง
แกะรอยจากเอกสารคดีสินบนโรลส์-รอยซ์ อ้าง"บิ๊ก"กองทัพอากาศพัวพัน(ตอนที่ 1)
แกะรอยจากเอกสาร โรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนครั้งที่ 2 ช่วงปี 35-40 "จัดการขั้นตอนทางการเมือง"
แกะรอย บ.โรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนครั้งที่ 3 ช่วงปี 47-48 "ดินเนอร์กับคนในรัฐบาล" (จบ)
หลักฐานเด็ด!มติ ครม.ปี 47 คดีสินบนโรลส์รอยส์-'สุริยะ'ชงเปลี่ยนซื้อ'B777' 6 ลำ
เปิดหนังสือสุริยะฉบับ2ชงครม.ระดมทุนซื้อ'B777'6ลำ-วัฒนายันบินไทยจัดการเอง
ได้ชื่อผู้เกี่ยวข้อง ตั้งอนุฯสอบทันที! ป.ป.ช.ขีดเส้น ‘บินไทย-ปตท.’ต้องส่งข้อมูลสัปดาห์นี้
จำกัดประเภทเครื่องยนต์!เปิดมติ ครม. ยุค รสช.ไฟเขียวซื้อเครื่องบินคดีโรลส์รอยซ์
เปิดบันทึกลับการบินไทยซื้อโรลส์รอยส์ช่วงสินบนก้อนแรก-ยุค'บิ๊ก'ทอ.คุม
เทียบชัดๆ บันทึกการบินไทย-ผลสอบSFO จุดเริ่มต้นสินบนโรลส์รอยส์ก้อนแรก?
บันทึกลับบินไทยชิ้น2 อนุมัติเปลี่ยนรุ่นโรลส์รอยส์ T-875 ช่วงรอยต่อสินบนก้อน1-2
บอร์ดดูละเอียดแล้ว! ‘บินไทย’ชง รมว. คมนาคมยุค‘รสช.’ ซื้อเครื่องบินคดีโรลส์รอยซ์