ต้มยำกุ้งวิทยา: วิชานี้อย่าเลียน!
ใครมีทุกข์ให้นึก พรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้ อะไรที่อยู่ในที่ต่ำสุด คงไม่สุดไปกว่านั้น ต้องดีขึ้น แต่ช่วงที่เราอยู่ที่สูงสุด นั่นแหละต้องระวัง จะต้องตก เหมือนการโยนก้อนหินขึ้นไปสูงที่สุดแล้ว สูงกว่านี้ไม่ได้ ต้องตก แม้กระทั่งดาวเทียมที่ยิงขึ้นไป ก็ต้องตก วันหนึ่งก็ต้องหล่น หากเราอยู่ที่เตี้ยที่สุด ไม่มีเตี้ยกว่านี้แล้ว ต้องดีขึ้นแน่นอน
ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิกุล หรือ “ศิริวัฒน์แซนด์วิช” จากเซียนหุ้นที่เคยทำกำไรได้วันละ 10 ล้านบาท สู่บุคคลล้มละลาย และหันมาเริ่มต้นธุรกิจใหม่จากก้นครัว คือ การทำแซนวิชขายข้างถนน ชิ้นละ 25 บาท ปัจจุบันเขามุ่งหน้าสู่ธุรกิจอาหารเช้าหลากเมนู และเครื่องดื่มสมุนไพร
วิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ครั้งนั้น ยังฝังใจและประทับเป็นโลโก้ของแบรนด์ คือ รูปเงินบาทลอยตัวกับเงินกู้ไอเอ็มเอฟ มาจนถึงทุกวันนี้
ไม่ต่างจาก "วสันต์ โพธิพิมพานนท์" ประธานเบนซ์ทองหล่อกรุ๊ป หรือที่เรียกกันคุ้นชินว่า วสันต์ เบนซ์ทองหล่อ ร่วมเวที Exhibition Talk ถอดบทเรียนคนยุค 2540 โดยย้อนไปเมื่อ 20 ปีก่อนว่า จากที่เคยขายรถเบนซ์ได้ปีละ 2 พันคัน ปีที่มีการลอยตัวค่าเงินบาท ยอดขายตกเหลือปีละไม่ถึง 100 คัน เขายอมขายขาดทุนต่อคันเฉลี่ย 1-2 แสนบาท บางคันขายขาดทุนคันละ 2 ล้านบาทก็มี
"รถอยู่หลังบ้านเก็บไว้ก็ตกรุ่น สนิมขึ้น จอดรถยางก็เสื่อม เท่าไหร่ก็ขาย"
จากวันนั้นถึงวันนี้ ตัวเลขยอดขายรถเบนซ์ "วสันต์" บอกว่า แม้จะกลับมาแล้ว แต่ได้แค่ครึ่งเดียว คือ มาได้แค่ครึ่งทางจากที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง
“ผมอยู่ทนจนเจ้าหนี้ตายก่อน ผมไม่ยอมตาย หายใจอยู่ทุกวัน พรุ่งนี้อากาศคงสดใสลง ซึ่งใครมีทุกข์ให้นึก พรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้ อะไรที่อยู่ในที่ต่ำสุด คงไม่สุดไปกว่านั้น ต้องดีขึ้น แต่ช่วงที่เราอยู่สูงที่สุด นั่นแหละต้องระวัง จะต้องตก เหมือนการโยนก้อนหินขึ้นไปสูงที่สุดแล้ว สูงกว่านี้ไม่ได้ ต้องตก แม้กระทั่งดาวเทียมที่ยิงขึ้นไป ก็ต้องตก วันหนึ่งก็ต้องหล่น หากเราอยู่ที่เตี้ยที่สุด ไม่มีเตี้ยกว่านี้แล้ว ต้องดีขึ้นแน่นอน”
ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ประธานเบนซ์ทองหล่อกรุ๊ป มองว่า ประเทศไทยมีทุกอย่าง ยกเว้นเงินสด เพราะโลกเล่นด้วยเงิน ฉะนั้นคนมีสมบัติก็ไม่รู้เอาเงินที่ไหน จึงมีแต่คนโทรมายืมเงิน
“วันนั้นผมให้เท่าที่ผมมี เพราะผมมีสัญชาตญาณเร็วกว่าคนอื่น ผมตุนเงินไว้ 200 ล้านบาท ผมรูดเครดิตการ์ดไว้หมดเอาเงินช่วยเพื่อน และเปิดตลาดนัดคนเคยรวยขึ้นมา”
ในโอกาสจะครบรอบ 20 ปีวิกฤตต้มยำกุ้ง ขณะที่หากดูประวัติศาสตร์ของวิกฤต จะเกิดขึ้นทุกๆ 10 ปี ถามว่า วงรอบนั้นมาถึงหรือยัง?
วสันต์ เบนซ์ทองหล่อ บอกว่า “ไม่แน่ หากคนยุคผมหมดไปจะเกิดอีก เพราะหากคนยุคผมอยู่จะเตือนคนรุ่นใหม่ เช่น ผมเตือนลูก ช่วงนี้เบนซ์ขายดี แต่ต้องเก็บเงินไว้บ้างนะ อย่าพึ่งฝรั่ง”
ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ที่เราเจอหนักๆ เขามองว่า เพราะไปกู้เงินต่างประเทศเยอะเกินไป คนที่อยู่รอดคือหน้าไม่ค่อยอาย คนหน้าอายเจ๊งหมด หน้าไม่อายคือมีแล้วค่อยใช้เหมือนมาเลเซีย ยังไม่ใช้ ไม่ใช่ไม่ใช้ เพราะเงินต้องกินต้องใช้ ให้ประเทศรอดก่อน แล้วถึงคืนหนี้
“แต่รัฐบาลเราหน้าบาง เจ๊งยุคพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งเป็นทหารที่ไม่รู้เรื่องเงินเรื่องทอง ทีนี้ใครเป็นรัฐมนตรีคลังทำอะไรเขาก็เชื่อ นักการเงิน นักการเมือง มีความโลภ ทำแล้วฉันได้อะไร เวลาจูงจมูกนายกฯ ก็เพื่อกระเป๋าเขา นายกฯ คล้อยตามก็พัง เฉกเช่นยุคพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่รู้เรื่องเงินเรื่องทอง รองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ พูดอะไรเชื่อหมด ซึ่งหากมีอะไรซ่อน หรือมีความโลภ หรือคนรอบตัวมีความโลภ หรือนักการเมืองที่จะกลับมาเลือกตั้งมีความโลภอยู่ ประเทศชาติก็ไปอีก”
ประธานเบนซ์ทองหล่อกรุ๊ป แสดงความเป็นห่วงคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะลูกจ้าง หากวันหนึ่งเขาไม่จ้าง คุณมีที่ยืนหรือไม่ เป็นไปได้อย่าไปเป็นลูกจ้าง อาชีพอิสระก็ดี แต่ให้นึก และเตรียมตัวไว้หากเกิดวิกฤตด้วย
“ตอนนี้รัฐบาลทำอะไรน่ากลัวมาก ใช้ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์อัดเงินให้คนมีใช้ เศรษฐกิจจะฟู ทฤษฎีนี้ผิดนะ ถ้ากู้มาแล้วให้ชาวไร่ชาวนา ไปสร้าง productivity สร้างอะไรที่เป็นประโยชน์ มีมูลค่า อัดให้ชาวนาไปเอาดินที่บ้านเป็นอิฐเผา มวลเบา ขายได้ แต่อัดแล้วไปใช้หมดนี่อันตราย รัฐบาลมองไม่ทะลุ แจกพันห้าแจกสามพันหายหมด เพราะเขาเอาไปใช้หนี้เก่า”
และนี่คือมุมมองของคนเคยผ่านวิกฤตต้มยำกุ้งมาเกือบ 20 ปี ฟันธงว่า อันตรายมาก
ก่อนทิ้งท้าย “ไทยแลนด์ 4.0 ก็อย่าหวาดฝันให้ไกลมากนัก อยู่กับปัจจุบัน เรามีดิน มีน้ำ มีลม มีไฟ แสงอาทิตย์ ใช้เป็นพลังงานก็ได้ ปลูกพืชปลูกผักอะไรได้หมด เท้าติดดินไว้บ้างก็ดี”
ส่วนเด็กที่ผ่านวิกฤตปี 2540 อย่าง "เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์" คนรุ่นใหม่และนักทำภาพยนตร์ นำกล้องวิดีโอตัวที่เหมือนกับที่เขาเคยมีอยู่ ซึ่ง พ่อนำไปจำนำ หลังจากทางบ้านเจอวิกฤตเศรษฐกิจ มาจัดแสดง พร้อมสมุดบันทึกของอากงในนิทรรศการครั้งนี้
เปรมปพัทธ เล่าอย่างฉะฉานว่า เท่าที่จำความได้ ที่บ้านซึ่งทำธุรกิจประดับยนตร์อยู่แถวย่านสำเหร่ มารู้ว่าทางบ้านมีปัญหาก็คือวันที่ต้องย้ายบ้านมาอยู่บางบัวทอง มีอยู่วันหนึ่งขี้เกียจนั่งรถเมล์กลับบ้าน อยากประหยัด จึงเดินข้ามสะพานพระนั่งเกล้า แต่หาทางข้ามไม่ได้ จะไปลงเรือก็แพงกว่า จึงนั่งรถตู้กลับบ้าน ด้วยเหตุสุดวิสัย
"พอผมไปถึงบ้าน โดนแม่ตีจะเป็นจะตายว่า ทำไมใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย ผมก็ไม่เข้าใจว่า เดิมเราเคยเล่นของเล่นราคาเป็นพันๆ บาท แค่สามสิบบาท เองทำไมต้องทำขนาดนั้น"
เปรมปพัทธ บอกว่า ประสบการณ์ในชีวิต ถ้าเราไม่เจอปัญหาแบบนั้น พ่อแม่ของเราทะเลาะเบาะแว้งกันแบบนั้น เราก็ไม่น่าจะเติบโตมาเป็นเด็กก้าวร้าวขนาดนี้ก็ได้ และคงมีวิธีประนีประนอมกับปัญหาได้มากกว่านี้ก็เป็นได้
ประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านวิกฤตยุคเงินบาทลอยตัว ทำให้เขารู้จักเรื่องบางเรื่องเร็วกว่าคนวัยเดียวกัน ทั้งเรื่องเกี่ยวกับเงิน ภาษี การทำมาค้าขาย และเรื่องดอกเบี้ย
เสียงโทรศัพท์ และคำสั่งสุดท้ายของเจ้านาย
"คุณแม่เล่าให้ฟังว่า สถานการณ์ของบริษัทตอนนั้นไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เศรษฐกิจไม่ดี รายได้ลด รายจ่ายเพิ่ม บริษัทปิดตัวแบบรายวัน ยังไม่รวมถึงสถานภาพของบริษัทที่กำลังกระท่อนกระแท่นอีก
ในวันนั้นขณะที่คุณแม่กำลังนั่งทำงาน ก็ได้รับโทรศัพท์จากเจ้านาย เพื่อสอบถามงานที่ค้างคา และแผนการดำเนินงานต่อไป ซึ่งเป็นสายปกติที่คุณแม่จะได้รับเสมอ แต่ที่ไม่ปกติคือ เจ้านายทิ้งท้ายว่า "ฝากดูแลงานหน่อยนะ"
ในตอนแรกที่วางสายไปก็แอบแปลกใจอยู่ แต่ยังไม่คิดอะไร จนเวลาผ่านไป มีโทรศัพท์ดังอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ไม่ใช่สายของเจ้านาย สายต่อไปที่รับเป็นเลขาฯ ที่โทรมาบอกว่า
"เจ้านายผูกคอตายในห้องทำงาน"
นี่คือเรื่องเล่าสู่กันฟัง ของคนที่ผ่านวิกฤตต้มยำกุ้งมา กับชีวิตคนไทยใต้เงาไอเอ็มเอฟ ในนิทรรศการ “ต้มยำกุ้งวิทยา:วิชาที่อย่าเลียน”
นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือมิวเซียมสยาม เปิดเผยถึงแนวคิดที่หยิบปรากฎการณ์ “ต้มยำกุ้ง” มาเป็นกรณีศึกษาในการทำความเข้าใจสังคมในแง่มุมต่างๆ ผ่านนิทรรศการ “ต้มยำกุ้งวิทยา:วิชาที่อย่าเลียน” ว่า ครั้งนี้ ถือเป็นนิทรรศการที่เปลี่ยนสไตล์การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ไม่เบื่ออย่างเก่า พร้อมกับย้อนรอย 20 ปี ของความรุ่งเรืองสุดขีดสู่จุดต่ำสุดของเศรษฐกิจ
“มิวเซียมสยาม" จัดทำนิทรรศการชุดนี้ขึ้นมาเพื่อให้คนไทยได้เห็นและตระหนักถึงประวัติศาสตร์ระยะใกล้ หรือประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้มีประสบการณ์ตรงซึ่งยังมีชีวิตอยู่ และหลายท่านส่งวัตถุมาร่วมจัดแสดง เป็นการเรียนรู้มากกว่าความเห็นของนักวิชาการ
นิทรรศการถอดประวัติศาสตร์สู่การเรียนรู้ แบ่งเป็นโซนๆ
- โซนสวนสรุป จัดแสดงข้อมูลในรูปแบบสนามเด็กเล่น ไม่ว่าจะเป็นสไลเดอร์ ม้ากระดก บาร์โหน ที่บ่งบอกการล้มคะมำของเศรษฐกิจไทย
- โซนกำแพงข่าวหน้าห้องเรียน เล่าเรื่องวิกฤตต้มยำกุ้ง ผ่านภาพการ์ตูนของการ์ตูนนิสต์ในยุคนั้น
- โซนห้องสันทนาการ ที่ฉายภาพสังคมยุคฟองสบู่ ผ่านสื่อภาพยนตร์ และวัตถุจัดแสดงที่รวบรวมจากสาธารณชนผู้ผ่านเหตุการณ์ในอดีต
ลองมาร่วมสอนเด็กไทยถึงการใช้ชีวิตอย่างไรให้พอดี ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไปพร้อมๆ กันในนิทรรศการ ต้มยำกุ้งวิทยา:วิชานี้อย่าเลียน ตั้งแต่วันนี้ - 2 ก.ค.2560 เวลา 10.00 - 18:00 น. (ปิดวันจันทร์) ณ มิวเซียมสยาม (ท่าเตียน) โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ราเมศ พรหมเย็น
ที่หลายคนคิด ใช้หนี้ IMF หมดแล้ว ...จริงหรือ
เราใช้เงินต้นไปเพียง 33.61% ยังคงเหลืออีก 9.3 แสนล้าน
สวนสรุป ล้มคะมำ
1 บาทที่ลดลง หนี้เพิ่ม 200 ล้าน
เศรษฐกิจฟองสบู่ สังคมฟองสบู่
เซียนหุ้นต้มยำกุ้ง
ความล่มสลายกลุ่มทุนนิยมธนาคาร
ปาท่องโก๋ แพงว่าหุ้น
แค่แบกมาก็หล่อแล้ว
คนเคยรวย
เศรษฐกิจพอเพียง VS ห้าเดือนหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง
จากเสือตัวที่ 5 สู่คนป่วยในเอเชีย