เบื้องลึก! ประเทศเบลีซ 'tax haven' ในคดีปปง.อายัดทรัพย์บ.ก๊วนเสี่ยเปี๋ยง ที่สังคมไทยยังไม่รู้?
"...ข้อมูลเกี่ยวกับผู้อำนวยการบริษัท ผู้ถือหุ้น และเจ้าของ (ผู้รับผลประโยชน์) บริษัทถือเป็นข้อมูลลับสุดยอด ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ ข้อมูลเหล่านี้จะมีผู้รู้เห็นเพียงเจ้าหน้าที่จดทะเบียนของบริษัทเอกชนที่รับจดทะเบียนที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการจดทะเบียนบริษัทนอกอาณาเขตในเบลีซให้ลูกค้าเท่านั้น.."
หลายคนอาจจะทราบข้อมูลกันไปแล้วว่า 'บริษัท เวลเนส อินเวสเม้นท์ จำกัด' ปรากฏชื่ออยู่ในคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อายัดทรัพย์ บริษัท ทีเอช พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เป็นที่ดินและเงินฝากในบัญชีธนาคาร จำนวน 16 รายการ มูลค่า 1,386,076.110.69 บาท หลังถูกตรวจสอบพบว่า มีความเชื่อมโยง กลุ่มบริษัทและบุคคลที่เกี่ยวกับการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) และนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร อดีตพ่อค้าข้าวชื่อดัง กับพวก
โดย'บริษัท เวลเนส อินเวสเม้นท์ จำกัด' ปรากฎชื่อ อยู่ในฐานะผู้รับจำนองที่ดิน จำนวน 15 รายการ (อีก 1 รายการ เป็นเงินในบัญชีฝากธนาคาร จากจำนวนทรัพย์สินที่ถูกอายัดไว้ 16 รายการ) จากบริษัท ทีเอช พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบข้อมูลเพิ่มเติมว่า บริษัท เวลเนส อินเวสเม้นท์ จำกัด ปรากฎชื่อเป็นผู้ถือหุ้น บริษัท ทีเอช พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด อันดับ 2 รองจาก 'พลเอกวสันต์ สุริยมงคล' ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท ทีเอช พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ในปัจจุบัน
แจ้งที่อยู่ คือ 60 มาร์เก็ต สแควร์ ตู้ไปรษณีย์ หมายเลข 346 เมืองเบลีซ ประเทศเบลีซ
โดยประเทศแห่งนี้ ถูกระบุว่าเป็น tax haven หรือเป็นประเทศที่ปลอดภาษี
(อ่านประกอบ : อยู่ตู้ไปรษณีย์ปท.เบลีซ!เปิดตัวเอกชนรับจำนองที่ดินบ.ก๊วนเสียเปี๋ยง1.3 พันล.)
ไม่ว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวข้องเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร? บริษัท เวลเนส อินเวสเม้นท์ จำกัด มีตัวตนจริงหรือไม่? และเข้ามารับจำนองที่ดินของ บริษัท ทีเอช พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ได้อย่างไร? ใครเป็นเจ้าของตัวจริง?
แต่ข้อมูลประเทศเบลีซ และรูปแบบการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัททำธุรกิจในประเทศนี้ มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลพบว่า ประเทศเบลีซเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกฎหมายภายในอนุญาตให้ชาวต่างชาติจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทนอกอาณาเขต (offshore entities) ได้ โดยมีบริษัทนายหน้ารับจดทะเบียนบริษัทนอกอาณาเขตที่ตั้งอยู่ในประเทศต่าง ๆ โฆษณาให้บริการดังกล่าว
หลายบริษัทได้โฆษณารายละเอียดชี้ชวนให้นักธุรกิจตั้งบริษัทนอกอาณาเขตในเบลีซ โดยแจกแจงข้อดีต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปกปิดข้อมูล และการได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี
เช่นในเว็บไซต์ www.offshoreworldwide.com <http://www.offshoreworldwide.com/services/belize-offshore-company?gclid=CjwKEAiA0fnFBRC6g8rgmICvrw0SJADx1_zAqMP4_JQFSo8K3H05IR6falWAGPAWX1Vg7h0k3lg7zRoCyKnw_wcB> ของบริษัทรับจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทนอกอาณาเขต ที่อ้างว่าตั้งอยู่ที่ประเทศลัตเวีย แจกแจงรายละเอียดข้อดีของการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทนอกอาณาเขตที่เบลีซไว้ดังนี้
1) ตามกฎหมาย Belize IBC Act บริษัทและผู้ถือหุ้นบริษัทนอกอาณาเขตที่จดทะเบียนในเบลีซ ไม่ต้องเสียภาษีใด ๆรวมทั้งกฎหมายเงินได้ และมีเสรีภาพในการบริหารและการทำธุรกรรมของบริษัทของตน ซึ่งรวมถึงการโอนทรัพย์สิน การจัดการเรื่องหุ้น และอื่น ๆ แต่ไม่มีสิทธิในการ ไม่ทำธุรกิจกับบุคคลหรือนิติบุคคลสัญชาติเบลีซ หรือถือหุ้นในบริษัทท้องถิ่นที่เสียภาษีในเบลีซ ไม่มีกิจกรรมทางธุรกิจในธุรกิจที่ต้องได้รับใบอนุญาตในเบลีซ เช่นธนาคาร หรือ ประกัน และอื่น ๆ และไม่สามารถครอบครองอสังหาริมทรัพย์ในเบลีซ ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองระบบเศรษฐกิจของประเทศเบลีซไม่ให้ถูกกระทบจากการทำธุรกรรมของนักลงทุนต่างประเทศที่จดทะเบียนบริษัทนอกอาณาเขต
2) การจดทะเบียนตั้งบริษัทนอกอาณาเขตในเบลีซสามารถทำได้อย่างรวดเร็วภายในวันเดียว
"หากมีสิ่งที่ไม่คาดหมายเกิดขึ้นและท่านต้องการจัดตั้งบริษัทนอกอาณาเขตอย่างรวดเร็ว ในขณะที่วันทำงานเกือบจะหมดลง ท่านสามารถหลีกเลี่ยงภาวะกดดันของเวลา แล้วหันมาที่เบลีซ"
3)ข้อมูลเกี่ยวกับผู้อำนวยการบริษัท ผู้ถือหุ้น และเจ้าของ (ผู้รับผลประโยชน์) บริษัทถือเป็นข้อมูลลับสุดยอด ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ ข้อมูลเหล่านี้จะมีผู้รู้เห็นเพียงเจ้าหน้าที่จดทะเบียนของบริษัทเอกชนที่รับจดทะเบียนที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการจดทะเบียนบริษัทนอกอาณาเขตในเบลีซให้ลูกค้าเท่านั้น นอกจากนั้น ข้อมูลที่ส่งไปยังรัฐบาล จะเป็นเพียงชื่อของบริษัทรับจดทะเบียนนั้น ๆ เท่านั้น โดยหน่วยงานของรัฐไม่มีสิทธิใด ๆในการร้องขอข้อมูลใด ๆเกี่ยวกับเจ้าของและผู้ถือหุ้นบริษัท
นอกจากนั้นการปกปิดข้อมูลยังมีอีกขั้นหนึ่งคือ บริษัทรับจดทะเบียนยังให้บริการแต่งตั้งนอมินี ซึ่งเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลที่เข้าจดทะเบียนเป็นผู้อำนวยการหรือผู้ถือหุ้น เพื่อปกปิดตัวตนเจ้าของบริษัทที่แท้จริงอีกชั้นหนึ่ง
ข้อมูลเกี่ยวกับผู้อำนวยการ ผู้ถือหุ้น และเจ้าของบริษัทนอกอาณาเขตที่จะทะเบียนในเบลีซ จะเปิดเผยได้ด้วยคำสั่งศาลเท่านั้น
4) คิดค่าบริการราคาถูก
5) ไม่มีข้อจำกัดเรื่องมูลค่าทุนจดทะเบียน แม้ว่ามาตรฐานปฏิบัติคือ 50,000 USD
6) ไม่ต้องส่งรายงานทางบัญชีให้รัฐบาลเบลีซ (สรรพากร) ข้อมูลทางบัญชีถือเป็นข้อมูลส่วนตัวของบริษัท
7) บุคคล หรือนิติบุคคลสัญชาติใดก็ได้ สามารถจดทะเบียนเป็นผู้อำนวยการและผู้ถือหุ้นบริษัทได้ โดยดำรงตำแหน่งสองตำแหน่งไปพร้อมกันได้ กฎหมายไม่กำหนดให้มีการประชุมประจำปีที่เบลีซ
นอกจากนั้น หุ้นในบริษัทนอกอาณาเขตในเบลีซ สามารถถ่ายโอนไว้ในรูปของทรัสต์หรือองค์กรการกุศลได้
เว็บไซต์ https://www.apintertrust.com/offshore_company/belize_tax_haven.htm ของบริษัทรับจดทะเบียน A & P Intertrust Corporation ซึ่งมีสาขาอยู่ในหลายประเทศรวมทั้งแคนาดาก็ให้ข้อมูลไปในทางเดียวกัน
ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราเคยตรวจสอบพบข้อมูลความเกี่ยวข้องของนักการเมืองและนักธุรกิจชื่อดัง ว่าไปจดทะเบียนตั้งบริษัทตั้งอยู่ในเกาะสวรรค์หลายที่ขึ้นชื่อเรื่องการการฟอกเงินหลายแห่ง อาทิ เกาะเคย์แมน หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน แชนแนล และเบอร์มิวด้า เป็นต้น
แต่การปรากฏข้อมูล ว่า 'บริษัท เวลเนส อินเวสเม้นท์ จำกัด' ตั้งอยู่ในประเทศเบลีซ และเข้ามาพัวพันกับบริษัทเครือข่ายธุรกิจของคนนามสกุล จันทร์สกุลพร ของ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร อดีตพ่อค้าข้าวชื่อดัง กับพวก ครั้งนี้
ต้องถือว่าเป็นการเปิดประสบการณ์ของประเทศไทย กับ ประเทศเบลีซ หรือ tax haven อย่างเป็นทางการครั้งแรกจริงๆ