เครือข่ายเมืองปลอดภัยฯเผย หญิง 1 ใน 3 ถูกคุกคามบนรถสาธารณะ เดินทางกลางคืนเสี่ยงสุด
วันสตรีสากล ชูประเด็นเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง หวังไร้คุกคามทางเพศบนรถสาธารณะ ผลสำรวจเผย 1 ใน 3 ถูกคุกคามบนรถสาธารณะ โชว์อวัยะเพศ แอบถ่าย สะกดรอยตาม 1.6% เคยถูกข่มขืน-อนาจาร ชี้โดยสารกลางคืนเสี่ยงอันตรายสุดปลุกสังคมร่วมสอดส่องไม่นิ่งเฉย
เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2560 ที่บริเวณเกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง ซึ่งประกอบด้วย องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย เครือข่ายสลัมสี่ภาค และมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พร้อมด้วยแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับชมรมพนักงานสอบสวนหญิง และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2560 ภายใต้แคมเปญ 'เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง' (Safe Cities for Women) โดยชูประเด็นหยุดการคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะ จากนั้น นางปานจิต จินดากุล ผู้ช่วยรองปลัดกระทรวงคมนาคม และผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เป่านกหวีด และติดสติกเกอร์รณรงค์หยุดการคุกคามทางเพศบนรถโดยสาร ขสมก.
น.ส.รุ่งทิพย์ อิ่มรุ่งเรือง ผู้จัดการฝ่ายนโยบายองค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมีความเสี่ยงต่อปัญหาความรุนแรงทางเพศ โดยเฉพาะผู้ที่พักอาศัยในชุมชนแออัด ที่ต้องใช้บริการขนส่งสาธารณะในเวลากลางคืน จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศสูงสุด สะท้อนจากข้อมูลปี 2552-2556 มีจำนวนคดีข่มขืนสูงถึง 30,000 คดีต่อปีที่น่าห่วงคือมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความเพียง 4,000 คดี หรือเพียง 13% ของจำนวนคดีที่เกิดขึ้นทั้งหมดเท่านั้น ล่าสุด กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ได้ประกาศว่า กทม. มีจุดเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยสูงถึง 217 แห่ง ดังนั้น ปัญหาความไม่ปลอดภัยของผู้หญิงจึงเป็นที่มาของกิจกรรมรณรงค์ครั้งนี้ ซึ่งตรงกับวันสตรีสากล 8 มี.ค.เพื่อสร้างความตระหนักถึงสิทธิของผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะ ที่จะเดินทางได้อย่างปลอดภัย ไร้อันตรายทุกรูปแบบ โดยแคมเปญ ‘เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง’ เป็นการรณรงค์ในระดับนานาชาติ ในประเทศไทยปีนี้เราเริ่มที่กรุงเทพฯและเขตปริมณฑลก่อน โดยมีรถเมล์ ขสมก. เป็นต้นแบบของขนส่งสาธารณะที่ช่วยป้องกันและลดภัยจากการคุกคามทางเพศ
น.ส.วราภรณ์ แช่มสนิท แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงได้ลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์การคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระหว่าง ก.ย.-ต.ค. 2559 โดยสำรวจจากผู้หญิงที่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลนานกว่า10 ปี จำนวน 1,500 คน พบว่า ประเภทขนส่งสาธารณะที่ใช้บริการมากที่สุด คือ รถโดยสารประจำทาง รองลงมาเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ รถไฟฟ้าและรถสองแถวหรือรถตู้ เมื่อถามถึงสถานการณ์การเดินทางที่ผู้หญิงรู้สึกไม่ปลอดภัย และเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศ คือ เดินเข้าซอยคนเดียว 26% เดินทางตอนเช้ามืดหรือตอนกลางคืน 25% นั่งรถแท็กซี่ 16% รองลงมาคือรถเมล์ รถไฟฟ้า รถตู้ รถสองแถว เรือ รถไฟ 13.5% และซ้อนมอเตอร์ไซค์รับจ้าง 10%
“มากกว่า 1 ใน 3 หรือ 36% ของผู้ตอบแบบสำรวจ เคยถูกคุกคามทางเพศขณะเดินทางหรือใช้บริการขนส่งสาธารณะ ที่พบมากสุด คือพูดแซว พูดลามก 26% รองลงมาคือการผิวปากใส่ 18% ลวนลามด้วยสายตา18% แตะเนื้อต้องตัวหรือใช้อวัยวะถูไถ 17% โชว์อวัยวะเพศหรือสำเร็จความใคร่ให้ดู 7% สะกดรอยตาม7% และโชว์คลิปโป๊หรือแอบถ่าย 6% แต่ที่น่าตกใจคือ 1.6% ระบุว่าเคยถูกทำอนาจารหรือข่มขืน” น.ส.วราภรณ์ กล่าว
น.ส.วราภรณ์ กล่าวว่า เมื่อถูกคุกคามทางเพศ 38% ตอบโต้ด้วยการนิ่ง หรือชักสีหน้าไม่พอใจ หรือพยายามหลีกหนี ส่วน 21% ตอบโต้ด้วยการโวยวาย พูดเสียงดัง ตะโกนด่า ขณะที่ 16% เลือกที่จะเฉยเพราะคิดว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ ทั้งนี้ มีเพียง 14% เลือกแจ้งเหตุไปยังหน่วยบริการที่รับผิดชอบ และ 12% ที่แจ้งตำรวจ สำหรับสาเหตุที่ไม่แจ้งเหตุ ส่วนใหญ่อาย กลัวคนไม่เชื่อ กลัวถูกมองไม่ดี บางส่วนระบุว่าไม่แน่ใจว่ามีกฎหมายคุ้มครองเรื่องนี้และไม่รู้จะไปแจ้งเหตุกับใคร
น.ส.จรีย์ ศรีสวัสดิ์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า มูลนิธิฯ ได้รวมรวบสถิติข่าวความรุนแรงทางเพศจากหนังสือพิมพ์ในปี 2558 พบว่า มีข่าวความรุนแรงทางเพศสูงถึง 306 ข่าว จำแนกเป็น ข่าวข่มขืน 51.3% ข่าวอนาจารและการคุกคามทางเพศ 16.7% ข่าวพยายามข่มขืน1 3.7% ข่าวความรุนแรงทางเพศกรณีชายกระทำต่อชาย 5.9%และเมื่อวิเคราะห์เนื้อหาข่าว พบว่าความรุนแรงทางเพศมีปัจจัยกระตุ้นมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงถึง 30% โดยผู้ถูกกระทำที่อายุน้อยที่สุดเพียง1ขวบ8เดือน ทั้งนี้ อยากฝากว่าการแก้ปัญหานี้ต้องเริ่มจากปรับเปลี่ยนวิธีคิด ปกป้องคุ้มครองสิทธิผู้ถูกกระทำอย่างเข้าใจ ไม่กระทำซ้ำ ให้เข้าถึงบริการของรัฐได้อย่างสะดวก ขณะที่สังคมต้องมีมาตรการช่วยเหลือ ไม่นิ่งเฉย
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สสส. กล่าวว่า สสส. สนับสนุนการดำเนินงานป้องปรามการคุกคามทางเพศของ ขสมก. มาตั้งแต่ปี 2553 และโครงการมีความก้าวหน้ามาก ทั้งนี้ผลสำรวจของโครงการป้องปรามการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ในปี 2556 ที่สำรวจกลุ่มพนักงาน 1,500 คน พบว่าเคยมีประสบการณ์ถูกคุกคามทางเพศ 22.5%ในจำนวนนี้ 2 ใน 3 เป็นเพศหญิง ทั้งที่เป็นการคุกคามโดยผู้โดยสารบนรถ คุกคามโดยเพื่อนพนักงานด้วยกันเอง หรือจากหัวหน้างาน ขสมก. จึงได้พัฒนากลไกรับเรื่องร้องเรียนภายในขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อแก้ไขปัญหานี้ และในปี 2558 ขสมก. ได้ประกาศใช้ 'นโยบายและแนวปฏิบัติ เรื่อง การป้องปรามการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน' ขึ้น ทำให้ ขสมก. กลายเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีนโยบายและกลไกป้องกันและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศที่ชัดเจน และขยายสู่ความปลอดภัยของผู้โดยสารด้วย
ด้านนางยงค์ฉิมพลี พนักงานเก็บค่าโดยสาร ขสมก. กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ทำงานมากว่า 37 ปี พบเจอเหตุการณ์ลวนลามคุกคามทางเพศบนรถโดยสารบ่อยครั้ง เช่น ผู้โดยสารหญิงถูกเบียดทั้งที่รถไม่แน่น วางแขนสองข้างคร่อมพนักพิงที่นั่งด้านหน้า บางรายยืนโหนราวแล้วโยกตัวไปถูไถทั้งที่รถไม่ได้เบรก หรือเบียดตัวเขาไปจนติดกับผู้หญิงที่นั่งข้างๆ มีแม้กระทั่งแอบรูดซิปกระโปรงจากด้านหลังเพื่อทำให้อับอาย ส่วนพนักงานเก็บเงินหญิงเองก็ถูกลวนลามทางสายตา หรือจับมือขณะทอนเงิน ขอฝากเตือนผู้หญิงที่ขึ้นรถเมล์ ให้ระมัดระวัง หมั่นสังเกตรอบตัว ไม่หลับขณะนั่งอยู่บนรถ หากมีเหตุการณ์ที่ส่อให้เห็นว่าไม่ปลอดภัยให้ตะโกนขึ้นมาดัง ๆ และรีบออกจากจุดที่ยืนหรือนั่งอยู่ทันที แล้วแจ้งให้พนักงานประจำรถทราบ เพื่อปกป้องสิทธิ และเข้าสู่ขั้นตอนการร้องเรียนเอาผิด