ผู้ว่าฯสตง.ซัดสรรพากร ไม่ใช้ม.61จัดการหุ้นชินฯ ทั้งที่มีอำนาจ
8 มี.ค.60 นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงการคลังมีมติยุติการเก็บภาษีหุ้นชินฯ เนื่องจากไม่สามารถขยายเวลาได้ เพราะตามมาตรา 19 กำหนดในเรื่องการออกหมายเรียกไว้ชัดเจนแล้ว ว่า สำหรับการเรียกเก็บภาษีนั้นมีหลายรูปแบบ ซึ่งการที่ถามว่าทำไมไม่ใช้มาตรา 61 ซึ่งตามมาตรา 61 ภายใน 10 ปี ถ้าปรากฎข้อเท็จจริงซึ่งข้อเท็จจริงนี้ตอนนี้ก็ประจักษ์อยู่ในคำพิพากษาของศาลฎีกา ซึ่งเป็นศาลสูง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามันเป็นรายได้ของใครเกิดขึ้นในปีไหน เมื่อปรากฎอย่างนี้กรมสรรพสากรชอบที่จะใช้อำนาจตรงนี้ประเมินเลยไม่ต้องไปเรียกอะไรทั้งนั้น อันนี้คนที่เขารู้ภาษีเขาจ้องมาตรานี้อยู่ว่ากรมสรรพากรไปพูดถึงเรื่องอื่น พูดในเรื่องหมดหนทาง เรื่องที่ตนเองมีอำนาจศักยภาพมีอำนาจตรงนี้ต้องใช้อำนาจของมาตรา 61
เมื่อถามว่า มาตรา 61 ของ พ.ร.บ.ฉบับไหน นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า ของประมวลรัษฎากร ไปดูเลยเขาบอกว่าถ้าปรากฎหลักฐานแน่ชัดก็ไม่แน่ชัดตรงไหนซึ่งอยู่ในคำพิพากษาฎีกา ศาลฟังข้อเท็จจริงว่าเป็นรายได้ของใครแสดงว่าต้องมีหลักฐานอยู่ในคำพิพากษานั้น ก็ไปขอมา สตง.แจ้งไปเป็นปีแล้ว เหลือเวลาไม่กี่วันทำไม่ทันได้อย่างไร ซึ่ง สตง.ได้แจ้งไปยังกระทรวงการคลังตั้งแต่มีคำพิพากษาออกมา เราก็เห็นช่องแล้วว่าปรากฎข้อเท็จจริงว่าศาลตัดสินแล้วว่าไม่ใช่รายได้ของลูก แต่เป็นรายได้ของพ่อ ก็ต้องเสียภาษี และมันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรื่องยึดทรัพย์อะไรเลย รายได้ที่เกิดขึ้นต้องเสีย แต่การไม่เสียคือก็ต้องดำเนินการ แต่ยึดทรัพย์มันคนละเรื่อง อย่าเอามาปนกัน ซึ่งก็อยากตั้งข้อสังเกตว่าทำไมไม่ใช้อำนาจหน้าที่ที่ถูกต้อง แล้วถามว่าตีความอย่างนี้เป็นประโยชน์ต่อใคร เราเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ต้องรักษาประโยชน์ของประชาชน
เมื่อถามว่า นอกจากมาตรา 61 ประมวลรัษฎากร ยังมีช่องทางอื่นๆ หรือไม่ นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า ใช้อันนี้ก่อน อันนี้ชัดสุดแล้ว ขนาดใช้ง่ายๆ ก็ยังไปพูดเรื่องออกหมายเรียก คนละเรื่องกัน ก็มัวแต่หาอันที่หมดอายุแล้ว แต่อันที่ไม่หมดช่องนี้ลองดู ลองอธิบายตรงนี้ให้ดูหน่อย คนทั้งประเทศจะได้รู้หลักการ
เมื่อถามว่า ทาง สตง.จะทำหนังสือแจ้งเตือนอีกรอบไปที่กระทรวงการคลังหรือไม่ ผู้ว่าฯ สตง.กล่าวว่า เราแจ้งเตือนไปครั้งสุดท้ายแล้วว่า ถ้าไม่ทำอะไรสักอย่างหนึ่งรวมทั้งไม่ขยายเวลาอย่างที่ว่า อะไรก็ตามที่เป็นเหตุจนให้ไม่สามารถที่จะจัดเก็บได้ เพราะตอนนั้นที่เกิดขึ้นถ้ามีการจัดเก็บก็ 5 พันกว่าล้านบาท ตอนนี้บวกเงินเพิ่มเบ็ดเสร็จเป็นหมื่นล้านบาท
"ตรงนี้เป็นผลประโยชน์ของชาติเราต้องรักษาไว้ให้ได้ เรามีเจ้าหน้าที่ของรัฐกินเงินเดือน แล้วตีความอย่างนี้เราก็ต้องทบทวน ซึ่งมันเป็นเรื่องความรับผิดชอบของผู้มีเงินได้ และหน่วยงานที่จัดเก็บก็ต้องร่วมรับผิดชอบถ้าปล่อยให้มันล่วงเลยไป อย่างไรตาม ทาง สตง.ได้ทำหนังสือเตือนไปเป็นปีแล้ว แต่ครั้งสุดท้ายได้เตือนไปเมื่อวันที่ 7 มี.ค.เราเคยแจ้งไปแล้ว และทาง รมว.คลัง ได้สั่งให้กรมสรรพากรไปดำเนินการทบทวน แต่ก็เห็นผลวันนี้ว่าตีความกันอย่างนี้" ผู้ว่าฯ สตง.กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อผลออกมาอย่างนี้ สตง.จะมีการทักท้วงอะไรหรือไม่ เพราะจะเหลือไม่กี่วันก็จะถึงวันที่ 31 มี.ค.60 ผู้ว่าฯ สตง.กล่าวว่า ขณะนี้สังคมได้มีการตั้งข้อสังเกตมากมาย กรมสรรพากรไม่รู้กฎหมายแล้วใครจะรู้ดีกว่ากรมสรรพากร ก็ลองอ่านมาตรา 61 ได้เขียนไว้อย่างไร ถ้าปรากฎหลักฐานมันชัดอยู่อย่างนี้ แล้วคำพิพากษาศาลฎีกาฟังเป็นข้อยุติ มันไม่ชัดตรงไหน ไม่ใช่เป็นของลูกก็ต้องเป็นของพ่อ ไม่ชัดตรงไหน
ต่อข้อถามว่า ในส่วนของขั้นตอนเท่าที่ดูข้อมูลหลักฐานเฉพาะของศาลที่ตัดสินออกมามันเพียงพอหรือไม่ หรือจะต้องหาข้อมูลมาประกอบเพื่อให้มันมีความชัดเจน ผู้ว่าฯ สตง.กล่าวว่า คำพิพากษาของศาลข้อเท็จจริงฟังเป็นข้อยุติ ไม่ต้องข้อสงสัยในข้อเท็จจริงอีกแล้ว เพราะศาลต้องฟังความและหลักฐานมา จึงสรุปว่าเป็นของใคร
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง พิจารณาออกมาแบบนี้ โดยไม่ได้ดูในส่วนมาตรา 61 แต่ดูในส่วนของเรื่องไม่ได้มีการออกหมายเรียกภายใน 5 ปี มีนัยอย่างไรในกรมสรรพากรหรือไม่ ผู้ว่าฯ สตง.กล่าวว่า ตีความอย่างนี้ก็ไม่ต้องทำงานเหนื่อย