แรงงาน เร่งคลอด พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานต่างด้าว
กระทรวงแรงงาน เร่งคลอด พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว คุมเข้มค้ามนุษย์ เน้นคุ้มครอง เพิ่มบทลงโทษ พร้อมดึงภาคสังคมเข้ามามีส่วนร่วม
เมื่อวันที่ 8 มี.ค. นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่ในพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 และพระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2559 มีบทบัญญัติที่ยังไม่ครอบคลุมการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวได้ทั้งระบบ ส่งผลให้ไม่สามารถแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวได้ และหากไม่แก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงด้านแรงงาน เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ดังนั้น กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน จึงได้ร่างพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ....ขึ้น เพื่อการจัดระเบียบ การป้องกัน การคุ้มครอง การเยียวยาและการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวทั้งระบบ โดยได้รวมกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 และพระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2559 ไว้เป็นฉบับเดียว โดยเติมส่วนที่ขาดและแก้ส่วนที่บกพร่อง ซึ่งมีสาระสำคัญ เช่น กรณีที่คนต่างด้าวหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องได้รับความเสียหายจากการที่นายจ้างหรือผู้รับอนุญาตไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้าง เช่น ลักษณะงานไม่ตรง ค่าจ้างไม่ตรง สภาพการจ้างไม่ตรง เป็นต้น
ให้ทางอธิบดีกรมการจัดหางาน หักหลักประกันจากผู้รับอนุญาตเพื่อคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายให้แก่นายจ้างหรือคืนเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการส่งกลับหรือค่าใช้จ่ายอื่นตามความจำเป็นให้แก่คนต่างด้าวหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งได้รับความเสียหายจากการไม่ปฏิบัติตามหน้าที่และความรับผิดชอบ และให้เพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม เช่น เอ็นจีโอ เข้ามาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ในกรณีที่คนต่างด้าวหรือนายจ้างประสงค์จะมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำการเกี่ยวกับการขออนุญาตทำงานของคนต่างด้าวแทนตน ให้มอบอำนาจเป็นหนังสือแก่ตัวแทนซึ่งได้ขึ้นทะเบียนไว้กับอธิบดีเป็นผู้กระทำการแทนได้เท่านั้น
เว้นแต่บุคคลที่รับมอบอำนาจนั้นเป็นทายาทโดยธรรม คู่สมรส หรือผู้มีส่วนได้เสียของนายจ้างตามที่อธิบดีประกาศกำหนดให้อำนาจประกาศแบล็คลิส นายจ้างผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชกำหนดนี้ โดยมิให้ออกใบอนุญาตทำงานให้กับคนต่างด้าวทำงานกับนายจ้างรายนั้นอีกไม่น้อยกว่าสองปีนับแต่วันที่มีประกาศรายชื่อดังกล่าว ปรับเพิ่มโทษให้สูงขึ้นและสอดคล้องกับกฎหมายอื่น อาทิ ผู้ที่มีพฤติกรรมการค้ามนุษย์ เช่น การยึดเอกสารต่างๆ ของคนต่างด้าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ นายจ้างใดรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่แสนบาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน นอกจากนี้ยังปลดล็อคอาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ เพื่อให้สอดคล้องกับการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศ และข้อตกลงทวิภาคี พหุภาคี เป็นต้น
นายวรานนท์ กล่าวอีกว่า ร่างพระราชกำหนดดังกล่าวนี้ เป็นการปรับปรุงบทบัญญัติบางประการที่ยังไม่สมบูรณ์ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และอุดช่องว่างของกฎหมายที่มีอยู่เดิมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งภายหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชกำหนดฯแล้ว จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป