เจาะเครือข่ายคนพุทธชายแดนใต้ จับจังหวะเคลื่อนไหวประเด็นเปราะบาง
กรณีพี่น้องไทยพุทธกว่า 300 คน นำโดย นายสมนึก ระฆัง ประธานเครือข่ายชาวพุทธจังหวัดยะลา ไปรวมตัวกันที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พร้อมยื่นข้อเรียกร้อง 15 ข้อให้ดูแลคนพุทธเท่าเทียมกับมุสลิม และเน้นเรื่องการรักษาความปลอดภัยเป็นพิเศษนั้น สะท้อนความรู้สึกของพี่น้องชาวพุทธท่ามกลางไฟร้อนของความรุนแรงในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
แม้ข้อเรียกร้องบางข้อจะค่อนข้าง "ตรงและแรง" แต่หากละวางเรื่องความเหมาะสมออกไปก่อน มองเฉพาะเรื่องความรู้สึกและสภาพจิตใจ ก็จะพอมองเห็น "สงครามความรู้สึก" ในพื้นที่ชายแดนใต้ได้เป็นอย่างดี
การเคลื่อนไหวของเครือข่ายคนพุทธครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะเมื่อปี 54 ก็เคยมีชาวบ้านคอกกระบือ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ไปรวมตัวกันที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า หลังเกิดเหตุคนร้ายกราดยิงชาวบ้านเสียชีวิต 5 ศพได้ไม่นาน และคัดค้านการย้ายฐานทหารพรานออกจากพื้นที่
แม้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 13 ปี ได้ก่อความสูญเสียให้กับผู้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ และทุกศาสนา แต่สำหรับคนพุทธถือว่าเป็น "เป้าหมายพิเศษ" ที่ถูกกระทำอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสัญลักษณ์ของศาสนา อย่างพระและวัด ก็ตกเป็นเป้าของความรุนแรงด้วย ประกอบกับคนพุทธในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดเป็น "คนส่วนน้อย" ในพื้นที่ชายแดนใต้ (ไม่ถึงร้อยละ 14.58 ของประชากรทั้งหมด) แต่กลับเป็น "คนส่วนใหญ่" ของประเทศ ทำให้ความรู้สึกที่ถูกกระทำค่อนข้างย้อนแย้งและบาดลึก
ย้อนดูข้อเรียกร้องที่เครือข่ายชาวพุทธ นำโดย นายสมนึก ระฆัง ไปยื่นต่อรองเลขาธิการ ศอ.บต. หลังเกิดเหตุ "ฆ่าต่อเนื่อง" ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่มีการนัดพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ (ที่ อ.เทพา จ.สงขลา ฆ่าสามีภรรยา ชิงรถทำคาร์บอมบ์, ยิงรถผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านที่รือเสาะ จ.นราธิวาส ทำให้ครอบครัวผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและเด็ก 8 ขวบเสียชีวิต ฯลฯ) จะซึมซับความรู้สึกที่ว่านี้ได้เป็นอย่างดี
1.ให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เต็มรูปแบบ ติดตามคนร้ายเข้าคุก ไม่มีการอภัยโทษ
2.ความเท่าเทียมกันในทุกศาสนา
3.ให้ยกเลิกการเจรจากับ "มารา ปาตานี" เพราะไม่ได้ผล
4.ให้ยกเลิกโครงการพาคนกลับบ้าน (เพราะเป็นการพาโจรกลับบ้าน)
5.ให้ยกเลิกการช่วยเหลือการศึกษาโรงเรียนปอเนาะ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนา
6.ให้สิทธิต่างๆ เท่าเทียมกัน เช่น สิทธิบุตรสอบเรียนต่อ สอบตำรวจ สอบพยาบาล
7.ทบทวนการบริหารการปกครองในพื้นที่
8.ปฏิรูปการศึกษา
9. ปฏิรูปพระพุทธศาสนา
10.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
11.ขอให้รัฐบาลใช้ มาตรา 44 แก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
12.ให้จัดงบประมาณช่วยเหลือวัดไทยพุทธเหมือนที่ช่วยเหลือมัสยิด จัดพระเข้าไปประจำวัดทุกวัด ไม่ให้มีวัดร้าง
13.เรื่องการลดภาษีให้แก่ผู้เสียภาษี
14.การไม่มีงานทำของชาวไทยพุทธ
15.การพิจารณาความสัมพันธ์ของรัฐบาลกับขบวนการบีอาร์เอ็น
รัฐรับพิจารณา-แก้ไข-ทบทวน
ข้อเรียกร้องนี้ยื่นเมื่อวันศุกร์ที่ 3 มี.ค.60 โดยมีตัวแทนฝ่ายทหาร ตำรวจ และปกครองเข้าร่วมรับฟังด้วย จากนั้นวันอาทิตย์ที่ 5 มี.ค. ได้มีการประชุมร่วมกันอีกรอบ ได้ข้อสรุปเบื้องต้นดังนี้
1.เรื่องขอให้ปฏิรูปการบริหารการปกครองในพื้นที่ หน่วยงานรัฐรับไว้พิจารณาเพื่อนำเสนอต่อไป
2.ปฏิรูปการศึกษาในพื้นที่ หน่วยงานรัฐรับไว้เพื่อทบทวน
3.การปฏิรูปพระพุทธศาสนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งเรื่องให้ฝ่ายสงฆ์ร่วมพิจารณา
4.การพิจารณาความสัมพันธ์ของรัฐบาลกับบีอาร์เอ็น หน่วยงานรัฐรับไว้ทบทวน
5.การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หน่วยงานรัฐรับจะเพิ่มเติมมาตรการคุ้มครองพยานเมื่อเกิดเหตุรุนแรง, เพิ่มเติมมาตรการปกป้องพยานเมื่อขึ้นศาล และเพิ่มเติมมาตรการเกี่ยวกับการออกหมายต่างๆ ให้รอบคอบ
6.ขอให้รัฐบาลใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาชายแดนใต้ หน่วยงานรัฐชี้แจงว่าจะใช้เมื่อชัดเจนและจำเป็นเท่านั้น
7.เรื่องการลดภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ หน่วยงานรัฐรับไว้ดำเนินการต่อไป
8.ให้บังคับใช้กฏหมายโดยเคร่งครัด เต็มรูปแบบ และเท่าเทียมกัน หน่วยงานรัฐรับไว้ดำเนินการ
9.ให้เลิกเจรจากับกลุ่ม "มารา ปาตานี" หน่วยงานรัฐรับไว้พิจารณาเพื่อขอชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทราบโดยทั่วกัน
10.ให้เลิกนโยบายพาคนกลับบ้าน ซึ่งมองว่าเป็นการพาโจรกลับบ้าน หน่วยงานรัฐรับไว้พิจารณา อาจใช้วิธีการแบ่งกลุ่มเฉพาะผู้มีหมายจับตาม ป.วิอาญา ส่วนกลุ่มผู้หลงผิด ติดหมาย พ.ร.ก.หรือกลุ่มหวาดระแวง ยังเข้าโครงการได้ต่อไป
11.ให้เงินสนับสนุนเรื่องการศึกษาอย่างเท่าเทียม หน่วยงานรัฐรับไว้ดำเนินการ
12.ให้จัดงบประมาณช่วยเหลือวัดเหมือนมัสยิดอย่างเท่าเทียม หน่วยงานรัฐรับไว้ดำเนินการ
13.การช่วยเหลือการไม่มีงานทำของคนพุทธและส่งเสริมอาชีพ หน่วยงานรัฐรับไว้ดำเนินการ
14.ให้สิทธิคนไทยพุทธกับมุสลิมเท่าเทียมกันทุกอย่่าง หน่วยงานรัฐรับไว้ดำเนินการ
15.ให้จัดพระเข้าไปประจำวัดทุกวัด ไม่ให้มีวัดร้าง หน่วยงานรัฐชี้แจงว่าจะพิจารณาตามความปลอดภัยของพื้นที่
แนะรัฐเปลี่ยนยุทธวิธี-ยกเลิกการพูดคุยฯ
ความรู้สึกของพี่น้องไทยพุทธอธิบายได้เห็นภาพพอๆ กับข้อเรียกร้อง...
อย่าง นายมาโนช (สงวนนามสกุล) บอกว่า นโยบายของรัฐบาลไม่เคยประกาศชัดเจน ยุทธวิธีที่ใช้อยู่ไม่น่าจะถูกต้อง หากถูกก็ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ต้องเปลี่ยนยุทธวิธีกับผู้คิดไม่ดี
พี่น้องชาวพุทธอีกรายหนึ่ง บอกว่า อยากให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเสียที และขอให้ยกเลิกการพูดคุยเพื่อสันติสุข เพราะหน่วยงานรัฐไม่ทราบว่ากลุ่มโจรในพื้นที่เป็นใคร และมีกลุ่มไหนบ้าง ขณะที่การพูดคุยแต่ละครั้งประชาชนผู้บริสุทธิ์ถูกฆ่าตาย และขอให้ยกเลิกโครงการพาคนกลับบ้าน เพราะที่ผ่านมาไม่ประสบผลสำเร็จ บางคนเข้ามอบตัวแล้วก็ยังออกมาก่อเหตุได้อีก
ศอ.บต.ขอโทษ-ย้ำการแก้ปัญหาต้องเดินหน้าต่อ
ขณะที่ นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ รองเลขาธิการศอ.บต. กล่าวว่า เรื่องที่นำเสนอในครั้งนี้มี 2 ประเด็นใหญ่ คือ ให้ทบทวน กับยกเลิก สำหรับเรื่องด่วนที่จะเร่งแก้ไขก่อน คือ เรื่องการเยียวยาที่ยังไม่ทั่วถึง และปัญหาขาดเหลือเกี่ยวกับวัด
"การรับฟังของหน่วยงานรัฐในครั้งนี้มีมากกว่าการยอมรับและขอโทษ หลังจากนี้พร้อมคุยเพื่อให้การปฏิบัติดีขึ้นโดยไม่ต้องรอ 15 ข้อที่เสนอมา แต่บางเรื่องเป็นนโยบาย จำเป็นต้องรอบคอบเพื่อรวบรวมเรียบเรียงให้ชัดเจนขึ้น และมองไปเป็นรายครัวเรือน บางเรื่องเป็นเจตนาของการบิดเบือน สร้างเงื่อนไข เพราะคนที่ทำไม่ได้ฟังเหตุผล"
"ขอคารวะด้วยหัวใจกับคำแนะนำทั้งหมด ศอ.บต.เป็นหน่วยงานที่อยู่กับประชาชนมากที่สุด หากพี่น้องรู้สึกคลางแคลงใจ เราต้องเรียกศรัทธากลับคืนมา ไม่อยากให้สิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความสั่นสะเทือนจนกระทบต่อการแก้ไขปัญหาทั้งหมด ต้องใช้กลไกยับยั้ง ขอความร่วมมือกับทุกคนในการเดินหน้าแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ต่อไป" รองเลขาธิการ ศอ.บต.กล่าว
เจาะเครือข่าย-ชุมชนไทยพุทธ
จากการตรวจสอบของ "ทีมข่าวอิศรา" พบว่า เครือข่ายชาวพุทธจังหวัดยะลาที่ออกมาเคลื่อนไหวล่าสุด เพิ่งรวมตัวกันได้ไม่นาน แต่กิจกรรมของคนพุทธในพื้นที่ โดยเฉพาะการรวมตัวกันแบบหลวมๆ นั้นมีมาก่อนแล้วอย่างต่อเนื่อง
สำหรับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี ซึ่งมีปัญหาความไม่สงบมานานกว่า 13 ปีนั้น มีประชากรราว 2.2 ล้านคน ร้อยละ 85.42 นับถือศาสนาอิศลาม ขณะที่ร้อยละ 14.58 นับถือศาสนาพุทธและศาสนาอื่นๆ
ในพื้นที่มัสยิดรวม 2,165 แห่ง มีวัดจำนวน 292 แห่ง และที่พักสงฆ์อีก 70 แห่ง
"ทีมข่าวอิศรา" เคยนำเสนอข้อมูลที่สำรวจโดยหน่วยงานในพื้นที่ เกี่ยวกับชุมชนไทยพุทธที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกลอบยิงและทำร้ายในรูปแบบต่างๆ พบว่ามีทั้งสิ้น 64 ชุมชน กระจายอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่
จ.ปัตตานี มีชุมชนไทยพุทธในพื้นที่เสี่ยง 25 หมู่บ้าน ประกอบด้วย อ.เมือง 1 หมู่บ้าน อ.ยะหริ่ง 5 หมู่บ้าน อ.หนองจิก 3 หมู่บ้าน อ.มายอ 3 หมู่บ้าน อ.โคกโพธิ์ 2 หมู่บ้าน อ.แม่ลาน 1 หมู่บ้าน อ.ปะนาเระ 2 หมู่บ้าน อ.ยะรัง 2 หมู่บ้าน อ.สายบุรี 1 หมู่บ้าน อ.ทุ่งยางแดง 3 หมู่บ้าน อ.ไม้แก่น 1 หมู่บ้าน อ.กะพ้อ 1 หมู่บ้าน
จ.ยะลา มีชุมชนไทยพุทธในพื้นที่เสี่ยง 15 หมู่บ้าน ประกอบด้วย อ.เมือง 3 หมู่บ้าน อ.กาบัง 1 หมู่บ้าน อ.รามัน 3 หมู่บ้าน อ.กรงปินัง 1 หมู่บ้าน อ.บันนังสตา 6 หมู่บ้าน อ.ธารโต 1 หมู่บ้าน
จ.นราธิวาส มีชุมชนไทยพุทธในพื้นที่เสี่ยง 24 หมู่บ้าน ประกอบด้วย อ.เมือง 1 หมู่บ้าน อ.ตากใบ 3 หมู่บ้าน อ.เจาะไอร้อง 3 หมู่บ้าน อ.ระแงะ 4 หมู่บ้าน อ.จะแนะ 3 หมู่บ้าน อ.แว้ง 5 หมู่บ้าน อ.สุไหงปาดี 2 หมู่บ้าน อ.สุคิริน 3 หมู่บ้าน
คนพุทธในชุมชนเหล่านี้ได้รวมตัวกันอย่างหลวมๆ อยู่แล้ว ขณะที่หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะ ศอ.บต.ก็ได้เข้าไปเสริมสร้างความเข้มแข็งผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการตำบลสันติธรรม, โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนระดับหมู่บ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ พนม. เป็นต้น
นอกจากนั้นยังมีชุมชนในเขตเมืองที่มีชาวพุทธอาศัยอยู่ร่วมกับคนมุสลิมและชาวไทยเชื้อสายจีน กระจายอยู่ใน 9 อำเภอ รวม 290 ชุมชน ที่หน่วยงานรัฐได้เข้าไปจัดระบบเรื่องดูแลความปลอดภัยผ่านโครงการอาสาสมัครพิทักษ์เมือง
ที่ผ่านมา เครือข่ายคนพุทธที่มีบทบาทผ่านสื่อมากที่สุด คือ เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ มีแกนนำที่สังคมรู้จักกันดี คือ นายรักชาติ สุวรรณ กับ นางสาวลม้าย มานะการ แต่แนวทางการเคลื่อนไหวเน้นเรื่องการต่อต้านความรุนแรงกับคนทุกศาสนา การเยียวยา และการเยี่ยมเยียนให้กำลังใจผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ
ปัจจุบันเครือข่ายชาวพุทธมีมากขึ้น ด้านหนึ่งเพราะความตึงเครียดจากเหตุการณ์ในพื้นที่ ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็เนื่องจากมีกลุ่มต่างๆ จากนอกพื้นที่เข้าไปช่วยเหลือดูแลคนพุทธมากกว่าเดิม ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน พรรคการเมือง รวมถึงวัดพระธรรมกาย
สงครามความรู้สึก...
ข้อเรียกร้องของเครือข่ายชาวพุทธที่ไปยื่นต่อ ศอ.บต. ไม่ใช่มติของคนพุทธทั้งหมดในพื้นที่ และบางส่วนที่ได้ทราบข่าวสารก็รู้สึกกังวล เพราะมีบางประเด็นที่เปราะบาง อ่อนไหวมาก โดยเฉพาะประเด็นที่ไปพาดพิงศาสนิกอื่น
ขณะที่ข้อเรียกร้องบางข้อที่มีเครือข่ายอื่นๆ เคยเสนอก่อนหน้านี้ แต่ครั้งนี้ไม่ได้หยิบมาพูดถึง ก็เช่น การขอให้เทศกาลทำบุญเดือนสิบเป็นวันหยุดราชการ เพราะเป็นเหมือนงานรวมญาติ คล้ายๆ เทศกาลฮารีรายอของพี่น้องมุสลิม และเทศกาลตรุษจีนของชาวไทยเชื้อสายจีน ซึ่งปัจจุบัน ศอ.บต.กำหนดให้เป็นวันหยุดราชการเฉพาะในห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้
แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น สถานการณ์นี้เป็นเรื่อง "สงครามความรู้สึก" อย่างแท้จริง เพราะหลายๆ เรื่องอาจไม่ได้เป็นปัญหาเชิงข้อเท็จจริงแล้ว แต่เป็นเรื่องทางความรู้สึกมากกว่า เพราะพี่น้องมุสลิมชายแดนใต้ก็มีความรู้สึกเป็น "คนกลุ่มน้อย" ของประเทศที่มีความแตกต่างจากคนพุทธซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในอีก 70 กว่าจังหวัด ขณะที่คนพุทธในพื้นที่สามจังหวัด กลับเป็นคนส่วนน้อยในดินแดนปลายด้ามขวานนี้
จึงกลายเป็นความรู้สึกที่ปะทะกันระหว่าง "คนกลุ่มน้อย" สองระดับ สองมิติ และสองบริบท
อย่างเรื่องการดูแลพระและวัดที่ชายแดนใต้ ซึ่งอยู่ในข้อเรียกร้องที่เพิ่งยื่นใหม่นี้ด้วย แท้ที่จริงแล้วที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐก็ไม่ได้ละเลย เพราะได้มีการดูแลอย่างต่อเนื่อง เช่น การถวายเงินอุดหนุนพิเศษรายเดือนแด่พระภิกษุ, การถวายเครื่องอุปโภคบริโภคให้แด่วัดที่พระสงฆ์ไม่สามารถบิณฑบาตได้ตามปกติ (70 วัด), การถวายงบประมาณเพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์วัด เป็นต้น
แต่ถึงที่สุดแล้วก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเดินหน้าแก้ไขปัญหาเพื่อลดเงื่อนไขและเงื่อนปมทางความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องพุทธหรือมุสลิมก็ตาม ก็ต้องดำเนินการต่อไปโดยความร่วมมือกันของทุกฝ่าย มิใช่ช่วยกันโหมไฟให้ขัดแย้งแปลกแยกกันมากกว่าเดิม...
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 เครือข่ายชาวพุทธที่ไปยื่นข้อเรียกร้องที่ ศอ.บต.
2 การชี้แจงของหน่วยงานที่รับผิดชอบ