หมู่บ้านแห่งเดียวใน จ.น่าน ที่ไม่ปลูกข้าวโพด
รายได้จากการปลูกข้าวโพดหนึ่งไร่จะมีรายได้หลังจากหักต้นทุนแล้วเหลือเพียง 1,500 บาท ซึ่งการปลูกผักสลัดเพียงแค่พื้นที่ 1 งานเท่ากับช่วยลดพื้นที่ในการปลูกข้าวโพดได้ถึง 18 ไร่ หรือการปลูกสตรอเบอร์รี่เพียง 2 งาน จะมีรายได้เฉลี่ย 15,000 – 30,000 บาท
หมู่บ้านก่อก๋วงนอก หมู่ที่ 11 ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ จังหวัดน่าน ที่แห่งนี้เป็นหมู่บ้านของชนเผ่าลัวะ มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 200 คน ประกอบอาชีพรับจ้างปลูกข้าวโพด
แต่ด้วยสภาพพื้นที่ของชุมชนเป็นพื้นที่สูง (สูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร) มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี เหมาะกับการปลูกผักเมืองหนาว เช่น ผักสลัด สตรอเบอร์รี่ และการเพาะไหลสตรอเบอร์รี่ โดยมหาวิทยาลัยวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้เข้าไปส่งเสริมทักษะและสนับสนุนการปลูกผักเมืองหนาวเพื่อให้เป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพที่จะสร้างรายได้เสริมให้แก่ชุมชน โดยมีนักวิจัยเป็นที่ปรึกษาและเป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกรจนสามารถดำเนินการได้เอง
นายมนต์ชัย นีซัง นักวิจัยและผู้ประสานงานศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวงและโครงการตามพระราชดำริ สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) พื้นที่จังหวัดน่าน กล่าวถึงชนเผ่าลัวะเป็นชุมชนทำเกษตรเพื่อยังชีพ ไม่ค่อยมีรายได้จึงปลูกข้าวโพด มจธ. จึงอยากส่งเสริมอาชีพทางเลือกให้กับชาวบ้าน ด้วยสภาพพื้นที่ที่เหมาะกับการปลูกผักเมืองหนาวที่มีมูลค่าสูง และเป็นอาชีพที่ใช้พื้นที่ไม่มาก ประกอบกับในจังหวัดน่านยังไม่มีคู่แข่ง จึงส่งเสริมการปลูกผักเมืองหนาว อย่างผักสลัด และสตรอเบอร์รี่ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2558 – มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา
จากการดำเนินโครงการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้การปลูกผักเมืองหนาวในช่วงระยะเวลา 1 ปี มีเกษตรกรเข้าร่วมในโครงการ 15 ครอบครัว
นักวิจัยได้ดำเนินการถ่ายทอดความรู้วิธีการเพาะปลูกผักเมืองหนาว โดยให้เกษตรกรได้เรียนรู้จาการลงมือปฏิบัติจริงในแปลง ตั้งแต่การเพาะเมล็ด การเตรียมแปลง การปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว การทำปุ๋ยหมัก การป้องกันโรคและแมลงโดยไม่ใช้สารเคมี ด้วยการผลิตสารชีวภาพใช้เองจากวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชน รวมถึงวิธีการทำแปลงเพาะปลูกตามฤดูกาลผลิต จนสามารถรวมกลุ่มผลิตผักเมืองหนาวประเภทผักสลัดและนำมาจำหน่ายสร้างรายได้เสริม
เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะเรียนรู้วิธีการเพาะปลูกโดยเข้ามาทดลองทำในแปลงรวมก่อนจนเกิดความรู้ความเข้าใจแล้วจึงนำไปทำในแปลงของตนเอง
นอกจากนี้ มจธ.ยังได้สร้างการเรียนรู้ให้กับเกษตรกรชนเผ่าลัวะด้วยการลงมือปฏิบัติ การจดบันทึก การทำบัญชีต้นทุน การศึกษาดูงาน การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการสรุปการเรียนรู้จากการปฏิบัติ และจากการส่งเสริมการเรียนรู้นี้ทำให้เกษตรกรสามารถนำความรู้จากการศึกษาดูงานมาสร้างโรงเรือนต้นทุนต่ำสำหรับใช้ปลูกผักในช่วงฤดูฝน ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพและสามารถส่งผลผลิตจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่อง
ซึ่งกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมยังทำให้เกษตรกรเกิดทักษะ ความรู้ความเข้าใจ และวิธีการทำเกษตรกรรมที่ดีขึ้น
ด้านการผลิตใช้พื้นที่ประมาณ 1 ไร่ ในการหมุนเวียนทำการเพาะปลูกเกษตรกรมีการวางแผนเพาะปลูกให้มีผลผลิตออกจำหน่ายทุกสัปดาห์ต่อเนื่องตลอดทั้งปี และกำหนดปริมาณการเพาะปลูกให้เป็นไปตามความต้องการของตลาดหรือลูกค้าร้านอาหาร รีสอร์ตต่างๆ
จากการผลิตของเกษตรกรที่ผ่านมาพบว่า สามารถผลิตผักส่งขายได้เฉลี่ย 80-90 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ มีรายได้สัปดาห์ละ 3,500 บาท หรือคิดเป็นผลิตผลต่อพื้นที่เพาะปลูก 1 ไร่ สามารถสร้างรายได้รวมถึง 106,148 บาท
“ผักสลัด 1 ไร่ ได้ผลผลิตเท่ากับข้าวโพด 40 ไร่ และสตรอเบอร์รี่ 1 ไร่ จะให้ผลผลิตเท่ากับข้าวโพด 26 ไร่ หมายความว่า การปลูกผักสลัดใช้พื้นที่เพียง 1 งาน จะมีรายได้เท่ากับการปลูกข้าวโพด 18 ไร่
ขณะที่รายได้จากการปลูกข้าวโพดหนึ่งไร่จะมีรายได้หลังจากหักต้นทุนแล้วเหลือเพียง 1,500 บาท ซึ่งการปลูกผักสลัดเพียงแค่พื้นที่ 1 งานเท่ากับช่วยลดพื้นที่ในการปลูกข้าวโพดได้ถึง 18 ไร่ หรือการปลูกสตรอเบอร์รี่เพียง 2 งาน จะมีรายได้เฉลี่ย 15,000 – 30,000 บาท"
มจธ. กำลังพยายามให้ชาวบ้านหันมาปลูกสตรอเบอร์รี่แทนการปลูกข้าวโพดมากขึ้น แม้เรื่องนี้จะทำมา 8 ปีแล้วโดยเริ่มตั้งแต่ปี 2552 ที่นักวิจัย มจธ. เข้ามาถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะไหลและการปลูกสตรอเบอร์รี่พันธุ์พระราชทาน 80 ให้กับชนเผ่าลั๊วะและชาวบ้านในพื้นที่อำเภอบ่อเกลือ จากเกษตรกร 1 รายทดลองทำแล้วค่อยๆขยายผลตอนนี้มีเกษตรกรที่ทำไหลสตรอเบอร์รี่เพิ่มขึ้นแล้ว 20 ราย
สำหรับผลผลิตสตรอเบอร์รี่ของที่นี่ส่วนมากจะออกค่อนข้างช้ากว่าที่อื่น คือ ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงให้ผลผลิตออกเร็วขึ้นโดยเฉพาะในช่วงปีใหม่หรือเดือนมกราคม
อย่างไรก็ตาม หากพูดถึงสตรอเบอร์รี่จังหวัดน่าน จุดเริ่มต้นคือที่อำเภอบ่อเกลือ และ “บ้านก่อก๋วงนอก” เป็นหมู่บ้านเพียงแห่งเดียวที่ไม่ปลูกข้าวโพด ถือเป็นต้นแบบของจังหวัดน่าน นายมนต์ชัย กล่าวสรุป