ปลัดมท.ตั้งคณะทำงาน4ฝ่ายบริหารงบ 'กองทุนสุขภาพท้องถิ่น' 7 พันล้าน
ปลัด มท. ตั้ง คณะทำงานร่วม 4 ฝ่าย มท. สปสช. อปท. และ สตง. แก้ปัญหา 'งบกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น' ที่มีสะสมอยู่จนถึงปีงบประมาณ 2560 กว่า 7 พันล้านบาท จัดทำระเบียบเบิกจ่ายเงินกองทุนชัดเจน หลัง อปท.ถูก สตง.ทักท้วง ทำให้ไม่มั่นใจ หวั่นใช้งบในโครงการต่างๆ ไม่ถูกต้อง เริ่มประชุมนัดแรก มี.ค.นี้
นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา สปสช.ได้หารือทิศทางการดำเนินงานท้องถิ่นด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นการหารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และ สปสช. เพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่อการดำเนินงานกองทุนสุขภาพต่างๆ ที่อยู่ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมี นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นประธานการประชุม พร้อมผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นพ.ชูชัย กล่าวต่อว่า ในการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อให้ประสบผลสำเร็จในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนถ้วนหน้า ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลังตามนโยบายของรัฐบาล จำเป็นต้องอาศัยกลไกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศเพื่อดำเนินการ ซึ่งทั้ง สปสช.และ อปท.ต่างมีความร่วมมือที่ดี แต่ที่ผ่านมาได้เกิดปัญหาที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการดำเนินงานและได้มีการประสานงานร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดีมีบางกรณีที่เป็นข้อติดขัดและต้องแก้ไขเชิงนโยบาย จึงได้มีการประชุมในวันนี้เพื่อขอให้กระทรวงมหาดไทยในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด อปท.และ สปสช. กำหนดประเด็นปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานร่วมกันสู่อนาคต
ประเด็นหลักที่ได้นำหารือในวันนี้คือ ปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ เป็นกองทุนที่ สปสช.มอบให้กับ อปท. ทั้ง อบต. เทศบาล เมืองพัทยา เพื่อบริหารจัดการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ หรือสนับสนุนและส่งเสริมให้กลุ่มหรือองค์กรประชาชนดำเนินกิจกรรมด้านสาธารณสุขในพื้นที่ จำนวน 45 บาทต่อประชากร โดย อปท.ร่วมจ่ายสมทบ ซึ่งปัจจุบันมี อปท.เข้าร่วม 7,755 แห่ง จาก 7,776 แห่ง
แต่เนื่องจากที่ผ่านมาได้เกิดการท้วงติงของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถึงหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินกองทุนท้องถิ่นต้องยึดตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ส่งผลให้ อปท.เกิดความไม่มั่นใจการดำเนินงานกองทุนตามประกาศของ สปสช. และเห็นว่าเรื่องนี้ต้องมีระเบียบกระทรวงมหาดไทยรองรับ แม้ว่าในปี 2550 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะเคยมีประกาศให้ดำเนินการตามระเบียบของ สปสช.แล้วก็ตาม
รักษาการเลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ปัจจุบันมีงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่สะสม ที่รอการเบิกจ่ายจาก อปท.ทั่วประเทศกว่า 7,000 ล้านบาท เนื่องจากเกรงว่าจะดำเนินงานไม่ถูกต้อง จึงจำเป็นต้องขอหารือเพื่อแก้ไขในการออกระเบียบกระทรวงมหาดไทยเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับ อปท.ในการดำเนินงาน พร้อมกันนี้ขอให้การดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่เป็นหนึ่งของตัวชี้วัดประเมินประสิทธิภาพ อปท.
“ขณะที่ในส่วนการดำเนินงานกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพระดับจังหวัด ปัจจุบันมี อบจ. 40 แห่งเข้าร่วม เกิดปัญหาความไม่มั่นใจการใช้งบประมาณตามระเบียบ สปสช.เช่นกัน เนื่องจากเกรงถูก สตง.ชี้ใช้เงินไม่ถูกต้อง จึงขอให้กระทรวงมหาดไทยมีหนังสือไปยัง อบจ.ให้ดำเนินงานกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ นี้ได้” นพ.ชูชัย กล่าว
ด้าน ปลัดกระทรวง มท. กล่าวว่า จากการหารือประเด็นการเบิกจ่ายงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ มองว่าเกิดจากระเบียบการเบิกจ่ายที่ไม่ชัดเจน ทำให้ อปท.เกิดความไม่มั่นใจหลังถูกทักท้วงจาก สตง. ดังนั้นจึงตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงมหาดไทย สปสช. อปท. และ สตง.เพื่อจัดทำหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายที่ชัดเจน โดย สปสช.เป็นเจ้าภาพจัดประชุมในเดือนมีนาคมนี้ สำหรับข้อหารือการบรรจุการดำเนินงานกองทุนฯ ให้เป็นหนึ่งในตัวชี้วัด อปท.นั้น เห็นว่าควรแก้ไขปัญหาระเบียบการเบิกจ่ายเงินกองทุนฯ ก่อน รวมถึงการทำความเข้าใจกับ อปท. เมื่อกลไกนี้มีความเข้มแข็งจึงบรรจุเป็นตัวชี้วัดต่อไป
ขณะที่ นายธนา ยันตรโกวิท รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า ในส่วนการดำเนินงานกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพระดับจังหวัด เรื่องนี้ สปสช.มีประกาศแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนแล้ว โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้เคยมีหนังสือส่งไปยัง อบจ.เมื่อปี 2554 ให้ดำเนินการขับเคลื่อนกองทุน ซึ่งจากนี้คงจะมีหนังสือไปยัง อบจ.ทั้ง 40 แห่ง ให้ดำเนินการตามหนังสือของกรมฯ ฉบับดังกล่าวต่อไป