ล้วงเหตุผล ทร.ซื้อเรือดำน้ำ ป้องกันความมั่นคงทางทะเล-ไฉนทำจีทูจีจีน?
“…การพัฒนาและเสริมสร้างกำลังรบเรือดำน้ำของกองทัพเรือ จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการป้องกัน และรักษาสิทธิอธิปไตยเหนืออาณาเขตทางทะเลของไทย คุ้มครองและรักษาเส้นทางคมนาคมทางทะเลของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทั้งระดับยุทธศาสตร์ ยุทธการ และยุทธวิธี โดยสามารถถ่วงดุลอำนาจกำลังรบทางเรือกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง และเปี่ยมประสิทธิภาพตามยุทธศาสตร์ป้องปราม สามารถยกระดับความสำคัญของกองทัพเรือในเวทีนานาชาติ และตอบสนองความต้องการทางยุทธการ และยุทธวิธีได้เป็นอย่างดี…”
โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ กลับมาเป็นที่สนใจจากสาธารณชนอีกครั้ง !
ภายหลัง พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ (เสธ.ทร.)ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ (กจด.) ของกองทัพเรือ ได้อนุมัติผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดซื้อเรือดำน้ำแล้ว เบื้องต้นกองทัพเรือจะซื้อ 3 ลำ วงเงินประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท แต่แบ่งจ่ายเป็นงวด งวดแรก 1.34 หมื่นล้านบาท รับเรือดำน้ำมาก่อน 1 ลำ โดยจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) กับประเทศจีน ผ่านบริษัท China Shipbuilding & Offshore International Co., Ltd. (CSOC)
(อ่านประกอบ : ทำจีทูจีจีน! เสธ.ทร.ไฟเขียวซื้อเรือดำน้ำ 1.3 หมื่นล.ชง กห.เสนอ ครม.อนุมัติ)
หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมกองทัพเรือต้องดำเนินการจัดซื้อเรือดำน้ำ ในช่วงภาวะเศรษฐกิจ ‘ยักแย่ยักยัน’ แบบนี้ ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีคำตอบ ดังนี้
ตามหนังสือผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการจัดหาเรือดำน้ำ คณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ (กจด.) พิจารณาแล้ว สรุปได้ว่า
หนึ่ง การพัฒนาและเสริมสร้างกำลังรบเรือดำน้ำของกองทัพเรือ จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการป้องกัน และรักษาสิทธิอธิปไตยเหนืออาณาเขตทางทะเลของไทย คุ้มครองและรักษาเส้นทางคมนาคมทางทะเลของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทั้งระดับยุทธศาสตร์ ยุทธการ และยุทธวิธี โดยสามารถถ่วงดุลอำนาจกำลังรบทางเรือกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง และเปี่ยมประสิทธิภาพตามยุทธศาสตร์ป้องปราม สามารถยกระดับความสำคัญของกองทัพเรือในเวทีนานาชาติ และตอบสนองความต้องการทางยุทธการ และยุทธวิธีได้เป็นอย่างดี ประกอบกับ กองทัพเรือเป็นหน่วยรับผิดชอบหลักในการเสริมสร้าง และพัฒนากำลังทางเรือเพื่อจัดการกับภัยคุกคามตามแผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล (พ.ศ.2558-2564) ของรัฐบาลด้วยแนวคิดเชิงป้องกันและป้องปราม
นอกจากนี้สภาพการณ์ปัจจุบันปรากฏว่า ไทยเสียเปรียบดุลอำนาจทางทะเลต่อชาติที่มีขีดความสามารถด้านเรือดำน้ำในภูมิภาค ดังนั้นการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือ จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนและมีความเหมาะสม โดยการศึกษาข้อเสนอแบบเรือดำน้ำที่เหมาะสมที่สุด และมีความคุ้มค่าในแง่ของประสิทธิผลต่อค่าใช้จ่าย ดีที่สุดต่อการใช้งาน การสนับสนุนและซ่อมบำรุงรักษาเรือดำน้ำ และการสนับสนุนการก่อตั้งกองเรือดำน้ำ รวมทั้งให้ประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการ
กระทั่งได้ข้อสรุปว่า ข้อเสนอเรือดำน้ำแบบรุ่น S26T จำนวน 3 ลำ พร้อมส่วนเกี่ยวข้อง เป็นข้อเสนอที่เหมาะสมที่สุดสำหรับกองทัพเรือ โดยมีความต้องการงบประมาณสำหรับการจัดหาในวงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท สำหรับแผนงานด้านงบประมาณนั้น กระทรวงกลาโหมได้อนุมัติโครงการ โดยเป็นการจัดหาเรือดำน้ำ 3 ลำ วงเงินรวม 3.6 หมื่นล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะเวลารวม 11 ปี (ตั้งแต่ปี 2560-2570)
ทั้งนี้การดำเนินการโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ระยะที่ 1 นั้น กองทัพเรือได้รับการจัดสรรงบประมาณในปี 2560 และคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กองทัพเรือก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ วงเงินประมาณ 1.35 หมื่นล้านบาท แล้ว ซึ่งเป็นการดำเนินการจัดหาให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560
อย่างไรก็ดีหากมีการจัดหาเรือดำน้ำ จำนวน 3 ลำ ในคราวเดียวกันภายในกรอบที่กระทรวงกลาโหมอนุมัติไว้แล้วโดยรัฐบาลสามารถให้การสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม จะทำให้กองทัพเรือมีความพร้อมในการดำเนินงานยุทธศาสตร์ และแผนความมั่นคงทางทะเล ทำให้กองทัพเรือได้รับประโยชน์สูงสุด และมีความเหมาะสม ในชั้นนี้เห็นควรรับทราบรายงานผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการจัดหาเรือดำน้ำ เพื่อเสนอกระทรวงกลาโหมนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี รับทราบรายงานผลการศึกษาโครงการจัดหาเรือดำน้ำดังกล่าว รวมทั้งพิจารณาด้านงบประมาณเพิ่มเติมในกรณีจัดหาเรือดำน้ำในคราวเดียวกัน จำนวน 3 ลำ
สอง การจัดจ้างสร้างเรือดำน้ำพร้อมระบบฯในครั้งนี้ มีความจำเป็นต้องดำเนินการในลักษณะจีทูจี เนื่องจากเป็นยุทโธปกรณ์ที่มีคุณลักษณะเฉพาะในการใช้งานด้านยุทธวิธี และความมั่นคง รวมทั้งไม่มีการผลิตเพื่อจำหน่ายทั่วไปเชิงพาณิชย์ ซึ่งรัฐบาลประเทศจีน มีผู้ผลิตที่มีขีดความสามารถในการผลิตเรือดำน้ำที่ได้มาตรฐาน เชื่อถือได้ และมีใช้ประจำการในกองทัพประเทศจีน อีกทั้งการจัดซื้อดำน้ำกับรัฐบาลจีน นอกจากมีความคุ้มค่ากว่าประเทศอื่น ๆ แล้ว ยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ซึ่งคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุได้พิจารณาอนุมัติยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบแล้ว
อย่างไรก็ดีในทางปฏิบัติ ในขั้นตอนการจัดจ้างเพื่อให้เพื่อให้เกิดความรอบคอบ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งเกิดประสิทธิภาพสูงสุด กจด. ได้ปฏิบัติตามแนวทางการจัดหายุทโธปกรณ์หลักของกองทัพเรือ และใช้แนวทางการจัดหาตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยอนุโลมและได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 103/7 แล้วทุกประการ นับว่ามีความเหมาะสม
สาม ข้อเสนอเรือดำน้ำดีเซลไฟฟ้า แบบ S26T พร้อมระบบที่คณะกรรมการจัดจ้างเสนอ ขอความเห็นชอบจัดจ้างจากรัฐบาลประเทศจีน โดยบริษัท CSOC ซึ่งสรุปขอบเขตการจัดจ้างสร้างเรือดำน้ำนั้น เป็นการจัดจ้างสร้างเรือดำน้ำตามแผนปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้าง ประจำปีงบประมาณ 2560 และขอบเขตงานที่กองทัพเรืออนุมัติเป็นข้อเสนอแบบเรือดำน้ำที่ผ่านการพิจารณาของ กจด. และกองทัพเรือได้เห็นชอบผลการพิจารณาดังกล่าวว่า เป็นข้อเสนอที่เหมาะสมที่สุดสำหรับกองทัพเรือแล้ว และกระทรวงกลาโหมได้รับทราบผลการพิจารณาดังกล่าวแล้ว ซึ่งเรือดำน้ำดีเซลไฟฟ้า แบบ S26T มีสมรรถนะและขีดความสามารถสูงที่สุด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งนอกจากขีดความสามารถในการยิงลูกอาวุธปล่อยน้ำวิถีใต้น้ำสู่พื้น/สู่ฝั่ง แล้วยังมีระบบขับเคลื่อนแบบดีเซลไฟฟ้าพร้อม Air Independent Propulsion System ทำให้มีขีดความสามารถในการซ่อนพลาง และเสริมคุณสมบัติเด่นที่สำคัญของเรือดำน้ำในการปฏิบัติการปกปิดไม่เปิดเผยตนเอง รวมทั้งมีการส่งมอบยุทธภัณฑ์รวมอยู่ด้วย โดยไม่ต้องลงทุนจัดหาเพิ่มเติม พร้อมการรับประกันความชำรุดบกพร่อง 2 ปี และสนับสนุนอะไหล่ สำหรับเปลี่ยนทดแทน กรณีเกิดการชำรุดในช่วงระยะเวลา 8 ปี ตลอดจนส่งมอบอะไหล่และเครื่องมือพิเศษประจำเรือ และอะไหล่ และเครื่องมือพิเศษสำหรับโรงงาน ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ และความมั่นใจในการใช้งานเรือดำน้ำจากประเทศจีน
อีกทั้งเป็นการลดภาระงบประมาณการซ่อมบำรุงเรือดำน้ำในช่วงแรก และยังเป็นการเพิ่มระดับความพร้อมใช้งานทางยุทธการของเรือดำน้ำด้วย ส่งผลให้กองทัพเรือสามารถปฏิบัติการเรือดำน้ำได้ทันทีภายหลังการส่งมอบเรือ สอดคล้องกับความต้องการตามยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือ และเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนด สามารถสร้างหลักประกันความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งทางราชการได้รับประโยชน์สูงสุด นับว่ามีความเหมาะสม และมีความคุ้มค่าอย่างมาก
สี่ ราคาจ้างสร้างเรือดำน้ำจำนวน 1 ลำ พร้อมระบบอาวุธ และส่วนสนับสนุน อะไหล่ และสิ่งอุปกรณ์ประจำเรือ เอกสาร การทดสอบทดลอง น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น การฝึกอาบรม และการถ่ายทอดเทคโนโลยี การตรวจรับ การส่งมอบ และพิธีกรรมต่าง ๆ รวมทั้งการบริการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นราคายกเว้นค่าอากรศุลกากร แต่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีอากรอื่น ๆ ค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทั้งปวงไว้แล้ว จนกระทั่งส่งมอบเรือดำน้ำ จำนวน 1 ลำ พร้อมส่วนสนับสนุนและบริการที่เกี่ยวข้อ ณ อู่เรือในประเทศของผู้เสนอราคา ยกเว้นส่วนสนับสนุน และบริการที่เกี่ยวข้องที่ต้องส่งมอบที่ จ.ชลบุรี ประเทศไทย เป็นเงินจำนวน 379 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 13,483,863,800 บาท ที่คณะกรรมการจัดจ้าง และเจ้าหน้าที่พัสดุ เห็นว่าเหมาะสมนั้น
กจด. พิจารณาแล้วว่า เป็นราคาที่ผ่านการตรวจสอบพิจารณา และต่อรองจนถึงที่สุด โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าของเงินงบประมาณ และประโยชน์สูงสุดที่กองทัพเรือจะได้รับซึ่งรัฐบาลประเทศจีน โดยบริษัท CSOC ยินดีลดราคา และเสนอรายการเพิ่มเติม และมีวงเงินอยู่ภายในวงเงินงบประมาณที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบไว้แล้ว อีกทั้งเจ้าหน้าที่พัสดุ ได้ตรวจสอบแล้วว่า การดำเนินการจัดจ้างในครั้งนี้ ได้ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการแล้วทุกประการ กจด. จึงเห็นพ้องด้วย
ดังนั้นเพื่อให้การจัดจ้างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ จึงเห็นควรให้ความเห็นชอบการจัดจ้างสร้างเรือดำน้ำ จำนวน 1 ลำ พร้อมระบบในลักษณะจีทูจีจากรัฐบาลประเทศจีน โดยบริษัท CSOC และเห็นชอบให้เสอกระทรวงกลาโหม นำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบการก่อหนี้ผูกพัน ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560-2566 และอนุมัติให้กองทัพเรือจัดจ้างสร้างเรือดำน้ำ โดยมีรายละเอียดและเงื่อนไขการจัดจ้างตามที่กองบัญชาการกองทัพเรือเสนอ
ห้า การจัดจ้างสร้างเรือดำน้ำ พร้อมระบบอาวุธ และส่วนสนับสนุนในครั้งนี้ จะดำเนินการในลักษณะจีทูจี ระหว่างรัฐบาลไทย กับรัฐบาลจีน โดยจัดทำเป็นข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำร่างข้อตกลงร่วมกันระหว่างคณะกรรมการร่างข้อตกลง และผู้แทนรัฐบาลจีน โดยบริษัท CSOC ซึ่งคาดว่า จะได้ข้อยุติภายในกลาง ก.พ. 2560 และเมื่อได้ข้อยุติแล้ว กจด. จะเสนอสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาตรวจสอบร่างข้อตกลงต่อไป
หก โครงการจัดหาเรือดำน้ำ เป็นโครงการที่มีมูลค่าสูง และผูกพันงบประมาณหลายปี รวมทั้งเป็นยุทโธปกรณ์หลักซึ่งเสริมสร้างพลังอำนาจในทางทหารสูงทั้งในระดับยุทธศาสตร์ และระดับยุทธการ จัดสร้างด้วยเทคโนโลยีใหม่หลายส่วนที่กองทัพเรือไม่เคยมีใช้มาก่อน จึงมีความจำเป็นต้องผ่านการพิจารณาจากคณะที่ปรึกษา และขับเคลื่อนโครงการจัดหายุทโธปกรณ์หลักของกองทัพเรือ
ทั้งนี้ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ (เสธ.ทร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ (กจด.) ได้รับทราบรายงานผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการจัดหาเรือดำน้ำ และเห็นชอบการจัดจ้างสร้างเรือดำน้ำจำนวน 1 ลำ พร้อมระบบอาวุธ และส่วนสนับสนุนฯ เป็นเงินจำนวน 379 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 13,481,863,800 บาท (1.34 หมื่นล้านบาท) ในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยบริษัท China Shipbuilding & Offshore International Co., Ltd. (CSOC) เพื่อพิจารณาเสนอกระทรวงกลาโหมเพื่อให้อนุมัติกองทัพเรือจัดจ้างสร้างเรือดำน้ำ และนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อรับทราบการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณข้ามปีตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560-2566 และเพื่อให้ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) หรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในข้อตกลงจ้าง ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย รวมทั้งการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงการจ้างฯ ในภายหลังได้
อ่านประกอบ :
กองทัพเรือตั้งแท่นซื้อแล้ว 'เรือดำน้ำ' จีทูจี!เผยราคากลาง1.3หมื่นล.-จีนตัวเต็ง
เรือดำน้ำจีน "ถูกและดี" แต่มีคำถามเรื่องความจำเป็น?
แฉปม 'ฮั้ว' ?...ทัพเรือเลือกเรือดำน้ำจีน S26T
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก youtube