ยูเอ็น-องค์กรสิทธิ์ฯฮือ...ไทยยื้อ "พ.ร.บ.อุ้มฆ่า-ทรมาน"
ประเทศไทยถูกจับตามองจากเวทีนานาชาติอีกครั้ง เมื่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์แสดงความผิดหวังต่อการระงับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า "พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มฆ่า-ทรมาน" ในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
เรื่องนี้ไม่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อไทย หากไม่มีแถลงการณ์ขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น ร่างกฎหมายก็น่าจะเงียบหายไปแบบเนียนๆ
วิปสนช.ให้เหตุผลการตีกลับร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มฆ่า-ทรมานว่า ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านก่อน ทั้งฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ ทหาร ตลอดจนอัยการ และกระทรวงมหาดไทย โดยอ้างบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา 77 ทั้งที่ร่างรัฐธรรมนูญยังไม่มีผลบังคับใช้
การผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้มีมานานหลายปี เพราะประเทศไทยมีปัญหาการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยและผู้ต้องหาในคดีอาญา รวมทั้งยังมีปัญหาอุ้มฆ่าอุ้มหายอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ซึ่งจะครบรอบ 13 ปีการหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยในวันที่ 12 มี.ค.ที่จะถึงนี้ หรือกรณีของ "บิลลี่" นายพอละจี รักจงเจริญ แกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จ.ราชบุรี รวมถึงนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและสิทธิในที่ดินทำกินอีกหลายกรณี
นอกจากนั้นยังมีคดีสุสานเผานั่งยางอันลือลั่นที่ จ.อุดรธานี เมื่อปีที่แล้วด้วย!
กฎหมายฉบับนี้เป็นการอนุวัตกฎหมายภายในของไทย หลังจากไทยได้เข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ และร่วมลงนามในอนุสัญญาคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับให้สูญหาย (อุ้มฆ่า อุ้มหาย) แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีกฎหมายกำหนดความผิดทางอาญาเป็นการเฉพาะ โดยเฉพาะ "อุ้มหาย" คงมีแต่เพียงบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการกักขังหน่วงเหนี่ยว และฐานความผิดข้างเคียงเท่านั้น ซึ่งก็ไม่เพียงพอต่อการรับมือกับการกระทำความผิด โดยเฉพาะหากเกี่ยวโยงกับเจ้าหน้าที่รัฐ
ร่างกฎหมายมาเป็นรูปเป็นร่างเมื่อปี 2557 และยกร่างเสร็จสิ้นโดยกระทรวงยุติธรรมช่วงปลายปีเดียวกัน จากนั้นมีการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ร่างกฎหมายเงียบหายไปนานนับปี กระทั่งคณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 24 พ.ค.2559 พร้อมเห็นชอบการเตรียมเข้าร่วมภาคีเครือข่ายและให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลจากการถูกบังคับให้สูญหายด้วย
สาระสำคัญของร่างกฎหมาย คือการกำหนดโทษบุคคลที่อุ้มฆ่าหรือทรมานไม่ว่าจะโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ โดยการกระทำเหล่านั้นให้ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย นอกจากนี้หากมีสถานการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้นภายในประเทศ หรือแม้แต่เกิดสงคราม ก็ไม่สามารถบังคับให้บุคคลใดสูญหายไปได้ โดยการบังคับบุคคลให้สูญหาย หรือ อุ้มหาย จะมีอายุความ 20 ปี พร้อมทั้งมีบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองเสรีภาพ กรณีบุคคลที่ถูกจำกัดสิทธิ์ จะต้องติดต่อญาติหรือทนายความได้ตลอดเวลา และยังต้องแจ้งสถานที่คุมขังให้ญาติทราบด้วยเช่นกัน
ครั้งนั้นรัฐบาลได้รับเสียงแซ่ซ้องจากยูเอ็นและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย แม้ต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกาจะปรับแก้เนื้อหาในร่างกฎหมายให้ผิดเจตนารมณ์ดั้งเดิมไปบ้าง แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนก็ยังคาดหวังว่าจะสามารถเรียกร้องให้เนื้อหาเดิมกลับมาได้ในชั้นการพิจารณาของ สนช.
แต่แล้วจู่ๆ ร่างกฎหมายที่ถูกส่งเข้าพิจารณาใน สนช. กลับถูกตีกลับให้ไปเริ่มรับฟังความคิดเห็นใหม่ ทั้งๆ ที่เคยมีการทำประชาพิจารณ์ไปแล้วในช่วงของการยกร่างกฎหมายเมื่อปี 2557 ต่อเนื่องปี 2558
นี่เองที่ทำให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติแสดงความกังวล และเรื่องนี้อาจส่งผลบานปลายเกินคาดเดา เพราะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กำลังจะทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยช่วงกลางเดือน มี.ค.ที่จะถึงนี้ด้วย
เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่จะปิดเงียบได้อีกต่อไป!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : กิจกรรมเรียกร้องเกี่ยวกับกรณี "คนหาย" เมื่อปี 2558 ในวาระ 11 ปีทนายสมชาย
หมายเหตุ : แฟ้มภาพอิศรา