ยิงรถนักเรียนท้าทาย "พื้นที่ปลอดภัย" เจาะ 3 ปัจจัย "เซฟตี้ โซน" แค่ฝัน?
เหตุการณ์คนร้ายกราดยิงรถของผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 2 มี.ค.ขณะพาลูกๆ และเด็กในหมู่บ้านไปส่งโรงเรียน ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 4 ราย หนึ่งในนั้นเป็นเด็กชายอายุเพียง 8 ขวบ และยังมีเด็กนักเรียนหญิงได้รับบาดเจ็บอีก 2 คน กลายเป็นเหตุรุนแรงที่แปลความเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากการตอบโต้ผลการพูดคุยของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เพิ่งบรรลุข้อตกลงเรื่องการสร้าง "พื้นที่ปลอดภัย" ร่วมกับ "มารา ปาตานี"
จริงๆ เหตุรุนแรงไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีความพยายามก่อเหตุมาแล้วหลายครั้ง ทั้งในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังการพูดคุยซึ่งนัดกันเมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ปุตราจายา ประเทศมาเลเซีย
โดยเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 ก.พ. เกิดเหตุคนร้ายบุกเผาสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โฆษิต อ.ตากใบ จ.นราธิวาส แล้วขโมยรถกระบะของ อบต.ไปบรรทุกระเบิดถังแก๊สเตรียมทำคาร์บอมบ์ แต่โชคดีรถถูกจอดทิ้งที่ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส เพราะติดด่านทหารพราน
วันอังคารที่ 28 ก.พ. วันเดียวกับที่มีการเปิดโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ คนร้ายฆ่าสองสามีภรรยาที่ อ.เทพา จ.สงขลา แล้วชิงรถกระบะไปทำคาร์บอมบ์ เป็นระเบิดถังแก๊สคล้ายๆ กับที่ชิงรถ อบต.โฆษิต นำไปจอดหลังสถานีรถไฟตาแปด อ.เทพา โชคดีเจ้าหน้าที่เก็บกู้ไว้ได้ทัน
รุ่งเช้าวันที่ 1 มี.ค. พบศพสองสามีภรรยาผู้เคราะห์ร้ายถูกทิ้งในลำน้ำใกล้กับจุดเกิดเหตุชิงรถไปทำคาร์บอมบ์
กระทั่งวันพฤหัสบดีที่ 2 มี.ค. ก็เกิดเหตุยิงรถผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ขณะกำลังไปส่งเด็กๆ ไปโรงเรียน
นี่คือสถานการณ์ความไม่สงบที่ปรากฏขึ้นในช่วงที่มีการพูดคุยเพื่อสันติสุข และตกลงกันได้เรื่อง "พื้นที่ปลอดภัย"
แน่นอนว่าการทำ "พื้นที่ให้ปลอดภัย" ต้องเดินหน้าต่อไป และเป็นเป้าหมายของทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายที่อยากให้ชายแดนใต้สันติสุข แต่คำถามที่เกิดขึ้นเซ็งแซ่เมื่อเกิดเหตุรุนแรงถี่ยิบในช่วงนี้ก็คือ "พื้นที่ปลอดภัย" จะเกิดขึ้นได้จริงหรือ
ข้อมูลที่รวบรวมได้จากผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง ทั้งเจ้าหน้าที่และนักวิชาการ สรุปสาเหตุที่ทำให้เชื่อได้ว่า "พื้นที่ปลอดภัย" น่าจะเกิดยาก มี 3 เหตุผลด้วยกัน
หนึ่ง คือ โต๊ะพูดคุยระหว่างรัฐบาลกับกลุ่ม มารา ปาตานี ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2557 นั้น บีอาร์เอ็นกลุ่มใช้ความรุนแรง หรือที่เรียกว่า "ปีกทหาร" ไม่ได้ร่วมโต๊ะพูดคุยด้วยอย่างเป็นทางการ แม้จะมีสมาชิกบีอาร์เอ็นฝ่ายทหารเข้าร่วมบ้าง เช่น นายมะสุกรี ฮารี แต่ก็มีคำถามว่าเขายังคุมกำลังอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ และการเข้าร่วม กระทำในนามส่วนตัวหรือองค์กร ซึ่งน่าเชื่อว่าไม่ได้เป็นการร่วมในนามองค์กร
ขณะที่ "มารา ปาตานี" เป็น "องค์กรร่ม" ของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่ม ประกอบด้วย พูโลเก่า, พูโลใหม่กลุ่ม นายกัสตูรี่ มาห์โกตา, พูโลกลุ่ม นายซัมซูดิง คาน, กลุ่มบีไอพีพี, กลุ่มจีเอ็มไอพี และบีอาร์เอ็น
แม้จะมีชื่อ "บีอาร์เอ็น" เป็นหนึ่งในหกของ มารา ปาตานี แต่แกนนำมาราฯเองก็ยอมรับว่า เป็นบีอาร์เอ็นปีกสนับสนุนการพูดคุยเท่านั้น และไม่ได้เป็นการเข้าร่วมในนามองค์กร ส่วนพูโล แม้จะมีหรือเคยมีกองกำลังติดอาวุธ แต่ก็ไม่ใช่องค์กรหลักที่สร้างสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ตลอด 13 ปีที่ผ่านมา
ฉะนั้นเมื่อ "บีอาร์เอ็นปีกทหาร" ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นกองกำลังหลักในการก่อเหตุรุนแรง ไม่ได้เข้าร่วมโต๊ะพูดคุย คำถามก็คือ การสร้าง "พื้นที่ปลอดภัย" จะประสบความสำเร็จได้อย่างไร เพราะคนที่ทำให้ "พื้นที่ไม่ปลอดภัย" ไม่ได้ร่วมวงสันติสุขด้วย
สอดคล้องกับความเห็นของ ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมัน อดีตประธานเบอร์ซาตู ซึ่งเป็น "องค์กรร่ม" ของผู้เห็นต่างจากรัฐในอดีตที่เคยรวมตัวกันเพื่อเจรจากับรัฐบาลไทย เขาเคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า การพูดคุยที่กำลังดำเนินการกันอยู่นี้ ยากที่จะประสบความสำเร็จ เพราะเป็นการคุยกับคนที่ไม่ได้ถือปืน
"เราไปคุยกันนอกประเทศ ไปคุยกับคนที่ไม่มีอาวุธแม้แต่กระบอกเดียว แล้วเราไปพูดกับพวกนี้ เราจะแก้ได้อย่างไร เราจะแก้การยิงกัน ระเบิดกัน แล้วไปพูดกับคนที่ไม่มีปืนไม่มีระเบิด แล้วจะแก้อย่างไร นี่คือ common sense เป็นสาเหตุธรรมดา ไปพูดกับคนที่ไม่ได้ทำ แล้วจะแก้อย่างไร คนที่อยู่ต่างประเทศจะมาสั่งพวกที่มีอาวุธได้อย่างไร เพราะสนามรบอยู่ที่ไทย" ดร.วันกาเดร์ เคยกล่าวเอาไว้ระหว่างให้สัมภาษณ์ "ทีมข่าวอิศรา เมื่อปลายเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว
สอง การต่อสู้ของกลุ่มบีอาร์เอ็นใช้ยุทธวิธีของการก่อการร้าย จึงสามารถก่อเหตุได้ทุกพื้นที่ เพราะนี่ไม่ใช่ "สงครามตามแบบ" ที่คุ้นเคยกันในอดีต ซึ่งคู่สงครามแบ่งฝั่งยึดพื้นที่แล้วต่อสู้กันด้วย "อำนาจการยิง" หากเป็นสงครามแบบนั้น การขีดเส้นให้บางพื้นที่เป็น "พื้นที่ปลอดภัย" หรือ "เขตหยุดยิง" สามารถทำได้
แต่ปัจจุบันในยุคสงครามก่อการร้าย ซึ่งผู้ก่อเหตุรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ใช้ยุทธวิธีนี้ การลอบยิง ลอบวางระเบิด หรือวางเพลิงเผาสถานที่ต่างๆ สามารถกระทำได้โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ พูดง่ายๆ ว่าไม่มีพื้นที่ไหนปลอดภัย ฉะนั้นการพยายามสร้าง "พื้นที่ปลอดภัย" ในขณะที่ฝ่ายที่ต่อสู้กับรัฐยังมีความตั้งใจก่อเหตุรุนแรงอยู่ ย่อมเป็นเรื่องยาก
สอดคล้องกับที่ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง เคยให้สัมภาษณ์ตั้งข้อสังเกตเอาไว้
"ต้องตระหนักว่าในสงครามก่อความไม่สงบที่ใช้การก่อการร้ายเป็นเครื่องมือของการรบนั้น พื้นที่ปลอดภัยเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ในบริบทอย่างนี้ ประเด็นจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยจะเป็นปัญหา และเป็นข้อถกเถียงที่ไม่มีวันจบ ปัญหานี้จะจบในพื้นที่ที่เราเป็นฝ่ายเหนือกว่า และควบคุมพื้นที่ได้เท่านั้น ถ้าเราคุมพื้นที่ไม่ได้ ก็ไม่มีทางเป็นพื้นที่ปลอดภัย ไม่ว่าจะเจรจาสักกี่ครั้ง หรือฝ่ายตรงข้ามจะยอมรับสักกี่ครั้งก็ไม่แตกต่างกัน"
สาม อ้างอิงถึงแนวคิดการพูดคุยกับ มารา ปาตานี และสร้าง "พื้นที่ปลอดภัย" เพื่อโดดเดี่ยวบีอาร์เอ็น ประเด็นนี้ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 เคยตั้งคำถามย้อนกลับว่า แผนการโดดเดี่ยวบีอาร์เอ็นจะเกิดแรงกดดันได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมา 13 ปี บีอาร์เอ็นก็ต่อสู้โดยใช้ความรุนแรงเพียงกลุ่มเดียวอยู่แล้ว ส่วนกลุ่มอื่นๆ ในมารา ปาตานี ไม่ได้ร่วมต่อสู้ด้วยอาวุธในพื้นที่ชายแดนใต้
จากเหตุผลทั้ง 3 ข้อทำให้เห็นได้ว่าการพยายามสร้าง "พื้นที่ปลอดภัย" เป็นความท้าทายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะหากไม่พยายามปลดชนวนที่เป็น "รากเหง้าความขัดแย้ง" อย่างเช่น ประวัติศาสตร์บาดแผลของปัตตานี (รัฐปัตตานีในอดีต) ประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ และความไม่เป็นธรรมต่างๆ เพราะฝ่ายที่ต่อต้านรัฐก็ยังใช้ "รากเหง้าความขัดแย้ง" เหล่านี้ (ซึ่งมีทั้งจริงและไม่จริง) ในการโฆษณาชวนเชื่อ ปลุกระดม บ่มเพาะเยาวชน สร้างนักรบรุ่นใหม่ออกมาต่อสู้กับรัฐได้เรื่อยๆ อยู่ดี
ความสงบในบางช่วงเวลา จึงน่าเชื่อว่าเป็นเพียงความสงบชั่วคราว เพราะปัญหารากเหง้า รากฐานยังไม่ได้รับการแก้ไข
ด้วยเหตุนี้แม้แนวคิดเรื่อง "พื้นที่ปลอดภัย" จะเป็นเรื่องดี แต่ก็มีความอ่อนไหวสูง และถูกท้าทายได้ง่ายมาก การสร้างพื้นที่ปลอดภัยไปพร้อมๆ กับการเร่งพัฒนาพื้นที่ และสร้างกระบวนการยุติธรรมทางเลือกรองรับผู้เห็นต่างจากรัฐที่ต้องการกลับใจ อาจก้าวไม่ทันหรือไม่สามารถสร้างผลสะเทือนได้มากพอ เมื่อเทียบกับการเร่งก่อเหตุรุนแรงของกลุ่มที่ต่อต้านการพูดคุย ซึ่งส่งผลทางจิตวิทยาสูงกว่า
ทั้งที่จะว่าไปแล้ว เหตุรุนแรงหลายๆ ครั้งในพื้นที่ ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการพยายามสร้างสถานการณ์ของบีอาร์เอ็น หรือเกี่ยวข้องกับความมั่นคงจริงหรือไม่ เช่น เหตุการณ์บุกเผา อบต.โฆษิต เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ก็มีร่องรอยของการพยายามทำลายหลักฐานการทุจริตบางประการใน อบต.
แต่เมื่อสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ถูกมองเหมารวมไปในเรื่องความมั่นคงทั้งหมด ก็ยิ่งเพิ่มความยากของการสร้าง "พื้นที่ปลอดภัย" ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือและความเชื่อมั่นจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชน
นี่คืองานที่ยากอย่างยิ่งของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ และ มารา ปาตานี หากต้องการที่จะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในดินแดนปลายด้ามขวานจริงๆ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพจากเจ้าหน้าที่ชุดตรวจที่เกิดเหตุ