"พื้นที่ปลอดภัย"ชายแดนใต้...เข้าใกล้สันติสุขจริงหรือ?
นับเป็นความก้าวหน้าสำคัญของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อคณะพูดคุยชุดใหญ่ตัวแทนรัฐบาล นำโดย พล.อ.อักษรา เกิดผล ได้เห็นชอบร่วมกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่ม ภายใต้ชื่อ "มารา ปาตานี" เพื่อกำหนด "พื้นที่ปลอดภัยระดับอำเภอ" ร่วมกัน
การพูดคุยเพื่อสันติสุขฯรอบนี้ ดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2557 จุดเริ่มต้นนับจากการเดินทางเยือนมาเลเซียของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และได้พบปะกับ นายนาจิบ ราซัค นายกฯของมาเลเซีย โดย พล.อ.ประยุทธ์ ขอให้มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกต่อไป พร้อมเปิดตัว พล.อ.อักษรา ว่าจะทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯของรัฐบาลไทย
สองปีเศษที่คณะพูดคุยฯ ทำงานร่วมกับ "มารา ปาตานี" องค์กรร่มของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่ม ทั้งพูโล บีไอพีพี จีเอ็มไอพี และบีอาร์เอ็นปีกสนับสนุนการเจรจา ในที่สุดคณะพูดคุยฯก็สามารถตกลงร่วมกันเรื่องการกำหนด "พื้นที่ปลอดภัย" ได้ โดยเป็นพื้นที่ใหญ่ระดับอำเภอ ไม่ใช่พื้นที่ขนาดเล็กประเภทหมู่บ้าน หรือตำบล ตามที่คาดการณ์กันในช่วงแรก
ชัดเจนว่า "มารา ปาตานี" ก็ต้องการแสดงให้รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงไทย ตลอดจนสังคมไทยทั่วไปเห็นว่า พวกเขาคือ "ตัวจริง"
หลังการพูดคุยแบบเต็มคณะเมื่อวาน ข่าวยังสับสนเล็กน้อยว่า สรุปแล้วจะมีการเลือกพื้นที่เพื่อเตรียมการสำหรับเป็น "พื้นที่ปลอดภัย" จำนวน 5 อำเภอ ก่อนจะมีกระบวนการประเมินความเป็นไปได้ แล้วเลือกเหลือ 1 อำเภอเพื่อนำร่อง หรือเป็นการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยรวดเดียว 5 อำเภอกันไปเลย
ข่าวจากฝ่ายความมั่นคงไทยยืนยันว่าผลการพูดคุยสรุปออกมาที่โมเดลแรก คือ เสนอ 5 อำเภอแล้วเลือกให้เหลือ 1 อำเภอ ขณะที่ข่าวจากฝั่ง "มารา ปาตานี" ที่มีสื่อบางแขนงรายงาน อ้างว่าเสนอกำหนดพื้นที่ปลอดภัย 5 อำเภอรวด
จากการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก ได้ความว่า การพูดคุยแบบเต็มคณะเมื่อวาน ซึ่งฝ่ายรัฐบาลมี พล.อ.อักษรา เป็นหัวหน้า ส่วนฝ่าย "มารา ปาตานี" มี มะสุกรี ฮารี จากบีอาร์เอ็นเป็นหัวหน้าทีม เห็นชอบข้อเสนอจากคณะทำงานเทคนิคร่วมฯ หรือเรียกง่ายๆ ว่า "คณะพูดคุยชุดเล็ก" ที่ตั้งตัวแทนทั้งสองฝ่ายเพื่อพูดคุยตกลงกันในรายละเอียด ซึ่งที่ผ่านมามีการพบปะหารือกันในเรื่องพื้นที่ปลอดภัย 4-5 ครั้ง กระทั่งได้ข้อสรุป
และข้อสรุปจากคณะทำงานเทคนิคร่วมฯ ที่คณะพูดคุยฯคณะใหญ่เห็นชอบ ก็คือ นิยามของ "พื้นที่ปลอดภัย" และกลไกการทำงาน โดยมีการเสนอพื้นที่ที่จะพัฒนาเป็น "พื้นที่ปลอดภัย" รวม 5 อำเภอ อยู่ใน จ.ยะลา 2 อำเภอ นราธิวาส 2 อำเภอ และ จ.ปัตตานี 1 อำเภอ
นี่คือประเด็นที่คณะพูดคุยฯคณะใหญ่เห็นชอบร่วมกัน แต่ทั้ง 5 อำเภอนี้ยังไม่ใช่ "พื้นที่ปลอดภัย" เพราะจะมีการตั้ง Joint Assessment Team หรือคณะกรรมการประเมินผล ลงไปหาข้อมูลและสำรวจพื้นที่ทั้ง 5 อำเภอนี้ ก่อนทำเป็นข้อสรุปเพื่อเสนอคณะพูดคุยฯชุดใหญ่ว่าจะเริ่มอำเภอใดก่อน โดยขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน และ Joint Assessment Team จะมีทั้งตัวแทนจากคณะพูดคุยฯของรัฐบาล ตัวแทนจาก "มารา ปาตานี" และผู้แทนจากภาคประชาสังคม ตลอดจนองค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอ ร่วมอยู่ด้วย
"ถือว่าเป็นการก้าวเดินอย่างรอบคอบและมั่นคง ที่สำคัญคือเราให้ มารา ปาตานี เป็นคนเลือกพื้นี่เอง เพื่อให้เขามั่นใจว่าเขาควบคุมกองกำลังของเขาได้ ซึ่งเขาก็มีตัวแทนของฝ่ายปฏิบัติการ (นักรบ) เข้าร่วมประชุมในคณะทำงานเทคนิคร่วมฯอยู่แล้ว เท่าที่ดูท่าที ทางมารา ปาตานี ก็ตั้งใจให้พื้นที่ปลอดภัยประสบผลสำเร็จ ไม่ต้องการให้ล้มเหลว ส่วนพื้นที่ไหนจะมีความพร้อมได้รับเลือกเป็นพื้นที่นำร่อง ก็ต้องดูจากปัจจัยหลายๆ อย่าง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นปัจจัยของ มารา ปาตานี เอง ก็ฝ่ายเจ้าหน้าที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงอยู่แล้ว" แหล่งข่าวจากคณะพูดคุยฯระบุ
สิ่งที่คงเป็นคำถามของผู้ที่ติดตามปัญหาภาคใต้ก็คือ เมื่อกำหนด "พื้นที่ปลอดภัย" เรียบร้อยแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น ไฟใต้จะมอดดับได้จริงหรือเปล่า?
ประเด็นนี้ แหล่งข่าวจากคณะพูดคุยฯ บอกว่า นับจากนี้อีก 3 เดือน ชายแดนใต้น่าจะมีพื้นที่ปลอดภัยอย่างน้อย 1 อำเภอ แต่หากพร้อมมากกว่านั้น ก็อาจจะมี 2 อำเภอเลยก็ได้ เมื่อมี "พื้นที่ปลอดภัย" แล้ว ทั้งฝ่ายรัฐบาลกับ "มารา ปาตานี" จะมีคณะกรรมการร่วมเพื่อตรวจสอบพื้นที่ เวลามีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น ก็จะเข้าไปตรวจสอบว่าเกิดจากสาเหตุใด และฝ่ายใดเป็นผู้กระทำ เป็นเรื่องการเมืองท้อถงิ่น อิทธิพลอำนาจมืด ยาเสพติด หรือกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ถ้าเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงก็ต้องชี้ว่าเป็นกลุ่มไหน อย่างไร ก็จะมีกลไกการควบคุมพื้นที่ร่วมกัน
"เมื่อเราดูแลพื้นที่ร่วมกับปาร์ตี้บี (มารา ปาตานี) ซึ่งประกอบด้วยผู้เห็นต่าง 6 กลุ่ม หากยังมีกลุ่มที่ก่อเหตุรุนแรงอยู่ เราก็จะรู้ว่าเป็นกลุ่มไหน ซึ่งจะกลายเป็นส่วนน้อยในพื้นที่ อาจจะเหลือเพียงกลุ่มเดียว ซึ่งการก่อเหตุก็จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ยิ่งในพื้นที่ที่มีความพร้อม ประชาชนก็จะร่วมปฏิเสธความรุนแรง เมื่อประชาชนปฏิเสธ ฝ่ายที่ก่อเหตุรุนแรงก็จะอยู่ไม่ได้"
คีย์แมนสำคัญของคณะพูดคุยฯ ย้ำว่า การสร้างกลไกการควบคุม "พื้นที่ปลอดภัย" ที่กำลังทำกันอยู่นี้ ไม่เหมือนกับพื้นที่ขัดแย้งอื่นๆ ทั่วโลก เพราะไม่ได้ทำแค่เรื่องหยุดยิง หรือ cease fire แต่เรามีมิติการพัฒนาเข้ามา มีมิติของกระบวนการยุติธรรมทางเลือกรองรับ เรียกว่าทำเบ็ดเสร็จทั้งสามมิติ เพราะถ้าหยุดยิงเฉยๆ เดี๋ยวก็ยิงกันใหม่ แต่เราทำสามมิติในพื้นที่เดียวกัน ถ้าประสบผลสำเร็จก็ขยายพื้นที่ออกไปจนครบทั้งสามจังหวัด
"เมื่อการพัฒนาเป็นไปตามตามแนวทางที่ประชาชนต้องการ มีกระบวนการยุติธรรมทางเลือกที่เอื้อให้ผู้เห็นต่างได้กลับบ้านมาร่วมกันพัฒนาพื้นที่ สุดท้ายสันติสุขย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน" คีย์แมนของคณะพูดคุยฯ ระบุ
นี่คือมุมมองและความคาดหวังของคนในคณะพูดคุยฯ
อย่างไรก็ดี ยังมีมุมมองที่แตกต่างจากคนที่ทำงานด้านความมั่นคงเช่นกัน โดยบอกว่า พื้นที่ปลอดภัย ฝรั่งเรียกว่า "green zone" กำหนดขึ้นมาเพื่อสร้างหลักประกันด้านความปลอดภัยแก่ประชาชนในพื้นที่ขัดแย้ง เพื่อให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพ หรือดำเนินชีวิตได้ตามปกติ และให้หน่วยงานรัฐสามารถทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับประชาชนได้ เป็นเหมือนการสถาปนาอำนาจรัฐขึ้นในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง ฉะนั้น green zone จึงเป็นเรื่องที่ฝ่ายรัฐต้องเป็นผู้สร้างขึ้นมาเอง ส่วนใหญ่จะเริ่มที่พื้นที่เขตเมือง ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่ออำนาจรัฐ
แต่สิ่งที่คณะพูดคุยฯกำลังดำเนินการ กลับกลายให้ฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง เสนอพื้นที่ขึ้นมา เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่ากลุ่มเหล่านี้คุมพื้นที่นั้นๆ ได้จริง วิธีการเช่นนี้ค่อนข้างอ่อนไหวและอันตราย เพราะอาจกลายเป็นการทำให้ประชาชนเห็นว่า ผู้ก่อเหตุรุนแรงคุมพื้นที่ได้มากกว่าฝ่ายรัฐ
"เรื่อง green zone เป็นคนละเรื่องกับพื้นที่ปลอดภัยที่กำลังทำกันอยู่ เพราะ green zone จะทำไปพร้อมๆ กับ clearing and holding คือเคลียร์และคุมพื้นที่ให้ได้ จากนั้นจึงเดินงานมวลชน งานพัฒนา เพื่อ winning heart and mind หรือเอาชนะจิตใจประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ"
มุมมองนี้สอดคล้องกับ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดังจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ตอนหนึ่งว่า "ถ้าเราคาดหวังว่าพื้นที่ปลอดภัยจะเกิดขึ้นจริง ก็เกิดบนเงื่อนไขเดียว คือฝ่ายรัฐต้องสามารถควบคุมพื้นที่ได้ด้วยงานความมั่นคง แปลว่าฝ่ายรัฐสามารถสกรีนคนและพื้นที่ได้ทั้งหมด อันจะทำให้ความรุนแรงไม่เกิด แต่ถ้าเราเรียกร้องให้ฝ่ายตรงข้ามร่วมกับเราในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ทั้งๆ ที่ในบริบทความเป็นจริงแล้ว ผู้ก่อความไม่สงบไม่เคยยอมรับเรื่องพื้นที่ปลอดภัย เนื่องจากเป็นเงื่อนไขที่เขาได้เปรียบ ถ้าคิดพื้นๆ อย่างนี้ การสร้างพื้นที่ปลอดภัยเป็นอะไรที่ต้องยอมรับว่าลำบาก"
คำถามที่อาจารย์สุรชาติไม่ได้ถาม แต่หลายคนคงอยากถาม ก็คือ ทุกวันนี้รัฐและฝ่ายความมั่นคงคุมพื้นที่ได้จริงหรือไม่ สถิติเหตุรุนแรงที่ลดลงมาก เป็นภาวะชั่วคราวหรือทิศทางถาวร ที่สำคัญคือรากเหง้าของปัญหาไฟใต้ได้แก้ไขไปบ้างหรือยัง โดยเฉพาะเรื่องความไม่เป็นธรรม ประวัติศาสตร์ และอัตลักษณ์ เพราะหากเรื่องเหล่านี้ไม่ถูกปลดชนวน ไฟใต้ก็จะยังสุมขอนรอจังหวะลุกโชน
ดูเหมือนการสร้าง "พื้นที่ปลอดภัย" เพื่อสถาปนา "สันติสุข" จะไม่ใช่โจทย์ง่ายๆ ที่แก้แบบม้วนเดียวจบเสียแล้ว!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พล.อ.อักษรา (คนที่สองจากซ้าย) พร้อมคณะพูดคุยตัวแทนรัฐบาลไทย (สองคนขวา) ถ่ายภาพร่วมกับ ดาโต๊ะ สรี อะหมัด ซัมซามิน ฮาซิม ผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยของมาเลเซีย (คนซ้ายสุด)
ขอบคุณ : ภาพจากเอกสารแจกของ พล.อ.อักษรา