เวทีต้านค้ามนุษย์เผย ชาวบ้านอีสานถูกหลอกขัดหนี้ ขายแรงงานในเรือประมง
5 มิถุนายน“วันรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์” ไทยเป็นทั้งต้นทาง ทางผ่าน ปลายทางขบวนการ ก.พม.และแรงงานเผยรูปแบบค้ามนุษย์เปลี่ยนเป็นล่อลวงให้สมัครใจ แฝงในธุรกิจท่องเที่ยว เรือประมง สาวต้นตอลำบากเพราะอาชญากรใช้เงินปิดปากเหยื่อ ปคม.ชี้อาจเป็นเหตุยุโรปและอียูอาจแอนตี้สินค้าไทย สนง.ตำรวจแห่งชาติบอก รูปแบบใหม่หักค่านายหน้าจนกลายเป็นแรงงานขัดหนี้ ชาวบ้านอีสานน่าห่วงถูกหลอกขายแรงงานในเรือประมง
วันนี้(4 มิ.ย. 53) ที่โรงแรมรามาการ์เด้น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ร่วมกับองค์กรเครือข่ายจัดงาน“วันรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์” และเสวนาเรื่อง “รวมพลังร่วมใจต้านภัยการค้ามนุษย์” นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการ พม. กล่าวว่าการค้ามนุษย์เป็นอาชญากรรมข้ามชาติที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ รัฐบาลไทยตระหนักว่าเป็นภัยร้ายแรงต่อคน ครอบครัว ชุมชน ประเทศ จึงประกาศเป็นวาระแห่งชาติ กำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วน และมีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 รวมทั้งประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการค้ามนุษย์ 5 ข้อได้แก่
1.ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ไม่ว่าจะเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ต้องได้รับ การคุ้มครองช่วยเหลืออย่างรวดเร็วทันท่วงที 2.ผู้กระทำผิดและอาชญากรต้องถูกจับกุมและดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด 3.บุคคลากรที่เกี่ยวข้องต้องได้รับการพัฒนาให้มีความสามารถในการป้องกันปราบ ปรามการค้ามนุษย์ 4.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการป้องกันไม่ให้มีกลุ่มเสี่ยง และร่วมกันแก้ไขป้องกันปัญหาแรงงานซึ่งอาจนำไปสู่การค้ามนุษย์ 5.รัฐบาลยินดีให้ความร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ให้ลด น้อยลง
นายวัลลภ พลอยทับทิม ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า แม้ไทยจะมี พ.ร.บ. แต่การปราบปรามผู้กระทำผิดในกระบวนการค้ามนุษย์ทำได้ยาก เพราะขาดหลักฐานเอาผิดทางกฏหมาย หรือผู้กระทำความผิดมักรู้ตัวก่อนและไปเจรจาตกลงกับเหยื่อ ทำให้การดำเนินคดีไม่ถึงที่สุด
“กฏหมายไทยถือว่าดี แต่การชี้ตัวผู้กระทำผิดทำได้ยากมาก เพราะบางครั้งไม่มีหลักฐานการโอนเงิน ใช้วิธีหักค่านายหน้า พวกอยู่ในระบบก็พอจัดการได้ แต่ตอนนี้ที่ต่างชาติสะท้อนมาคือพวกนอกระบบที่ใช้วิธีหลบเลี่ยง เช่น แฝงมากับท่องเที่ยว ซึ่งต้องยอมรับว่าการสาวถึงตัวผู้กระทำผิดทำได้ยาก”
นายสุเทพ เบญจภาคีสกุล หัวหน้าฝ่ายรับเรื่องและวินิจฉัยคำร้องทุกข์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการณ์สังคม กล่าวว่าการค้ามนุษย์ในปัจจุบันไม่ ได้ใช้ความรุนแรงเหมือนอดีต แต่เป็นการถูกชักชวนด้วยบุคคลที่แต่งตัวดีหน้าตาดีพูดจาหว่านล้อมจนเหยื่อ หลงเชื่อ เช่น ชวนไปทำงานต่างประเทศโดยหลอกว่าจะได้เงินเดือน 20,000 บาท แต่ต้องเสียค่านายหน้า 500,000 บาทก่อน และเมื่อถูกจับกุมแก๊งค์เหล่านี้จะใช้วิธีนำเงินไปให้ผู้เสียหายเพื่อให้ ยุติการฟ้องร้อง ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถหาเจ้าทุกข์และพยานเอาผิดได้
“ตอนนี้รูปแบบของกระบวนการค้ามนุษย์เปลี่ยนไป เช่น แอบแฝงมากับการท่องเที่ยว ทำให้เจ้าหน้าที่มีปัญหาในการใช้กฏหมายเข้าไปดำเนินการตรวจสอบ ยิ่งแรงงานประมงยิ่งจัดการยากเพราะอยู่ในทะเลและมีการเปลี่ยนเรือตลอดเวลา แต่เจ้าหน้าที่เราก็ยังลงพื้นที่ตรวจสอบอยู่เสมอ”
นางสายสุรี จุติกุล ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบรามการค้ามนุษย์(ปคม.) กล่าวว่า ปัจจุบันไทยถูกจับตามองว่ามีการใช้แรงงานจากการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคประมง ในอนาคตประเทศยุโรปและอียูอาจต่อต้านเลิกซื้อสินค้าจากไทย
“ในอนาคตอันใกล้ เมื่อเขาผ่านร่างกฎหมายไม่ซื้อสินค้าที่ผลิตผ่านกระบวนการค้ามนุษย์ จะทำให้เราส่งออกไม่ได้ ยุโรปและกลุ่มประเทศอียูจะหันไปสั่งสินค้าจากเวียดนามหรือประเทศอื่นๆ ฑูตจากฝรั่งเศสเขาบอกว่าถ้าสหรัฐออกกฏหมายฉบับนี้มาเมื่อไหร่ ทุกประเทศในอียูพร้อมที่จะไม่ซื้อสินค้าจากไทย”
พล.ต.ท.ชัชวาล สุขสมจิตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและปราบปรามการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า รูปแบบการค้ามนุษย์พัฒนาไปมาก หลีกเลี่ยงการค้าอย่างโจ่งแจ้ง เช่น การหักค่านายหน้าจัดหางานที่แพงจนทำให้เกิดหนี้มหาศาลจนเหยื่อกลายเป็น “แรงงานขัดหนี้” ต้องทำงานชดใช้เป็นปีๆ สิ่งที่น่ากังวลขณะนี้คือชาวบ้าน ในภาคอีสานถูกหลอกมาขายแรงงานในภาคประมงจำนวนมาก เพราะหลงเชื่อว่าจะเป็นช่องทางรวย แต่กลับต้องมาใช้แรงงานหนักอยู่กลางทะเล จนบางคนทนไม่ไหวยอมโดดน้ำเสี่ยงตาย
“ส่วนหนึ่งสมัครใจเองเพราะคิดว่าตัวเองแข็งแรงพอที่จะลงไปทำงานในเรือประมง ด้วยค่าแรงที่ค่อนข้างมากและมีส่วนแบ่งจากการขายปลา แต่เมื่อไปทำงานจริงรู้สึกว้าเหว่ ก็เลยไม่อยากทำต่อ เลยถูกรุมทำร้าย แต่อีกส่วนถูกหลอก เช่น ให้ดื่มเหล้าหรือของเหลวใส่สารให้หมดสติ ตื่นมาอีกทีก็อยู่ในเรือแล้ว”
พล.ต.ท.ชัชวาล ยังกล่าวว่า การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ควรทำที่ต้นเหตุ คือป้องกันดีที่สุด เพราะไม่ต้องสูญเสียอะไรเลย ซึ่งต้องเริ่มจากการขอความร่วมมือไปยังประเทศต้นทางซึ่งกำลังเร่งดำเนินการอ ยู่
นายแทนคุณ จิตต์อิสระ ประธานกลุ่มสื่อธรรมะเพื่อเยาวชน กล่าวกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนว่า ควรสร้างรูปธรรมความเข้มแข็งจากท้องถิ่น เช่น ตั้งศูนย์พัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นในแต่ละชุมชนเพื่อให้องค์ความรู้ด้านอาชีพ และโอกาสในการพัฒนาตนเอง เพราะเมื่อท้องถิ่นเข้มแข็ง ชาวบ้านจะไม่ออกจากชุมชนไม่หลงคำชวนเชิญของกลุ่มค้ามนุษย์
“ปัญหาการค้ามนุษย์แก้ยังไงก็ไม่หมด ถ้าไม่แก้ที่จิตใจคนที่โลภมาก ตีค่าคนเป็นมูลค่า ถ้าเราให้คุณค่าความเจริญทางความคิดทางปัญญา มันจะเกิดผลผลิตทางวัฒนธรรม ผลผลิตชุมชน สินค้าต่างๆ ต้องกลับมาคิดถึงเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นคุณธรรมที่กินได้อย่างยั่งยืนด้วย” .
ภาพประกอบจาก : มูลนิธิกระจกเงา www.notforsale.in.th