เลขาฯอย.หนุนใช้ม.44จดสิทธิบัตรยา ยันไม่ทำราคาแพงขึ้น
เลขาธิการ อย.หนุน คสช. ใช้ ม.44 จดสิทธิบัตรยา ยืนยันไม่ทำให้ราคายาในตลาดเพิ่มขึ้น
เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีที่วานนี้ (28 ก.พ.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมประกาศใช้มาตรา 44 เร่งรัดการจดสิทธิบัตรยา ว่า ถึงแม้การขอยื่นจดสิทธิบัตรยาจะเป็นอำนาจของกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ในการอนุมัติเพื่อไม่ให้ผู้ใดลอกเลียนแบบได้ แต่การอนุมัตินั้นไม่ได้หมายความว่า ยาจะสามารถใช้ในประเทศได้ทันที เพราะต้องมาขอยื่นกับ อย. ก่อน เพื่อให้ทะเบียนตำหรับยาผ่านการอนุญาตจึงสามารถจำหน่ายได้
ทั้งนี้ กรณีที่หลายฝ่ายกังวลว่าการจดสิทธิบัตรจะทำให้ราคายาแพงขึ้นหรือไม่ แม้ที่ผ่านมาการตั้งราคายาเป็นอำนาจของบริษัท แต่ถ้าหากตั้งราคาแพง คงไม่สามารถจำหน่ายได้ หรือหากจำหน่ายได้ก็จะอยู่เฉพาะในกลุ่มเล็กๆ ที่มีกำลังซื้อ แต่ถึงอย่างไรที่ผ่านมาเมื่อมียาใหม่เข้ามาในระบบ มักมีผู้เรียกร้องให้นำเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่เช่นนั้นผู้ผลิตยา ก็จะขายได้เฉพาะกลุ่มเล็กๆ และเมื่อเป็นเช่นนั้นจากที่กระทรวงสาธารณสุขมีกลไกที่เข็มแข็ง ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญทำหน้าที่ต่อรองราคายากับบริษัทผู้ผลิต ก็จะทำให้ต่อรองราคายาอยู่ในระดับที่เหมาะสม และที่ผ่านมาบริษัทยาก็ยอมลดราคาอยู่ตลอด เมื่อเป็นเช่นนี้เชื่อว่าจะทำให้ราคายาลดลงเองได้
“หากถามว่าการจดสิทธิบัตรจะทำให้ราคายาแพงขึ้นจริงหรือไม่ ยืนยันว่าไม่จริง เพราะกระทรวงสาธารณสุขมีกลไกต่อรองราคา ให้อยู่ในระดับเหมาะสมกับงบประมาณของประเทศ ถึงจะนำมาใช้ในระบบ ดังนั้นขอให้มั่นใจว่าการอนุมัติสิทธิบัตรยา ครั้งนี้ ไม่มีผลผูกพันให้สามารถอนุมัติให้ยาตัวได้ทันที เพราะไทยมีกฎหมายควบคุมอยู่ จึงไม่ต้องกังวลว่ายาใหม่ที่เข้ามา จะทำให้ราคายาแพงขึ้นเพราะเรื่องนี้มีระบบกลไกดูแลอยู่”
ขณะที่ หลายฝ่ายกังวลว่าการจดสิทธิบัตรใหม่จะทำให้ผู้ผลิตยา แอบนำยาตัวเดิมไปจนสิทธิบัตรใหม่เพื่อให้สามารถจำหน่ายในราคาที่สูงขึ้นได้แม้ใช้สูตรเดิม เรื่องนี้คงอยู่นอกอำนาจกระทรวงสาธารณสุข เพราะเป็นเรื่องของกรมทรัพย์สินทางปัญญาในการตรวจสอบ แต่ถึงอย่างไรสาธารณสุขมีคณะกรรมการยาดูแลเรื่องประสิทธิผลของยาและความปลอดภัยอยู่
นพ.วันชัย กล่าวอีกว่า การจดสิทธิบัตรยาไหม่ครั้งนี้ จะไม่เป็นเป็นการปิดกันผู้ผลิตในไทย เพราะจะทำให้ผู้ผลิตในประเทศเร่งวิจัยพัฒนานวัตตกรรมยาใหม่ออกมา