อ.แม่แจ่ม จับมือ ทุกภาคส่วน รุกแก้ปัญหาหมอกควัน-ไฟป่า
หมอกควันและไฟป่าที่จะเกิดขึ้นในปี 2560 เน้น 3 มาตรการ “ป้องกัน รับมือ และสร้างความยั่งยืน” พร้อมชู “ศูนย์ภูมิสารสนเทศเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยการมีส่วนร่วม อำเภอแม่แจ่ม” วางแนวทางกำจัดเศษวัสดุจากการเกษตรทั้งในไร่ที่เป็นต้น ตอ ใบ และจุดโม่ ประกาศมาตรการเข้ม “60 วัน ห้ามเผาใบไม้ ห้ามเผาไร่นา” ฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำคุกและโทษปรับเร่งวางแผนระยะยาว “แม่แจ่มโมเดล(พลัส) สร้างความยั่งยืน หลัง 60 วันห้ามเผา ด้านเครือเจริญโภคภัณฑ์มุ่งมั่นตั้งใจจริงในการร่วมมือกับทุกภาคส่วนแก้ปัญหาหมอกควันและไฟป่าทั้งระยะสั้นและระยะยาว
นายอรรถชา กัมปนาทแสนยากร นายอำเภอแม่แจ่ม กล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ประจำปี 2560 นี้ ทางอำเภอแม่แจ่มได้บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรท้องถิ่น และผู้นำชุมชน โดยมีศูนย์ภูมิสารสนเทศเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยการมีส่วนร่วม อำเภอแม่แจ่ม ซึ่งก่อตั้งโดยคณะกรรมการบูรณาการแก้ไขปัญหาป่าไม้กับชุมชนและหมอกควันไฟป่า อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้วางมาตรการทั้งระยะสั้น ระยะยาว ในการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า ซึ่งในปีนี้จะจัดการกันอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันและควบคุมสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่อำเภอแม่แจ่มไม่ให้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคเศรษฐกิจ และสังคมในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีทั้งมาตรการทั้งก่อนและหลัง 60 วันห้ามเผาและการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
นายสมเกียรติ มีธรรม ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิสารสนเทศเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการมีส่วนร่วม อำเภอแม่แจ่ม เปิดเผยว่าในปีนี้ศูนย์ภูมิสารสนเทศฯจะเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการกับปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม โดยวาง 3 มาตรการ ประกอบด้วย 1.ป้องกัน 2.รับมือ 3.ความยั่งยืน โดยจะทำงานร่วมกับเครือข่ายมากกว่า 1,300 คน ทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน องค์กรท้องถิ่นและประชาชน เพื่อให้การแก้ปัญหาได้ครอบคลุมทุกมิติและทุกพื้นที่ของอำเภอแม่แจ่ม สร้างความยั่งยืนให้กับอำเภอแม่แจ่ม และช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ประเมินมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากปัญหาหมอกควันว่ามีมูลค่าราว 4 พันล้านบาท
มาตรการที่ 1 “ป้องกัน” ก่อน 60 วันห้ามเผา ซึ่งเพิ่งสิ้นสุดไปเมื่อ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา มีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณเชื้อเพลิงในพื้นที่ปลูกข้าวโพด ทั้งในไร่ที่เป็นต้น ตอ และใบ ซึ่งมีเศษวัสดุจากการเกษตรประมาณ 60,000 ตัน และในจุดโม่ อีกประมาณ 35,000 ตัน
มาตรการที่ 2 “รับมือ” หรือ มาตรการช่วง 60 วันห้ามเผา เริ่มต้น 20 กุมภาพันธ์ ไปจนถึง 20 เมษายน 2560 โดยห้ามเผาใบไม้ ห้ามเผาไร่นา หากฝ่าฝืนจะมีโทษทั้งจำคุกและโทษปรับ
มาตรการที่ 3 สร้างความ “ยั่งยืน” เป็นมาตรการหลัง 60 วันห้ามเผา ถือเป็นมาตรการระยะยาวเพื่อสร้ามความยั่งยืน ผ่านแนวทาง “แม่แจ่มโมเดลพลัส” อาทิ เร่งจัดทำแผนยุทธศาสตร์ จัดระเบียบพื้นที่ป่าไม้กับชุมชน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนโดยเร็ว (ประชารัฐ) ยึดคืนและเร่งฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุก น้อมนำโครงการพระราชดำริ “สร้างป่า สร้างรายได้” มาใช้ ส่งเสริมให้เกษตรกรเปลี่ยนการปลูกข้าวโพดเป็นพืชอื่น
นายสมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า ศูนย์ภูมิสารสนเทศเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยการมีส่วนร่วม อำเภอแม่แจ่ม ก่อตั้งขึ้นโดยคณะกรรมการบูรณาการแก้ไขปัญหาป่าไม้กับชุมชนและหมอกควันไฟป่า อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 โดยได้รับการสนับสนุนจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อให้หน่วยงานนี้เป็นกลไกสำคัญในการจัดการปัญหาหมอกควันไฟป่า และดำเนินงานตามยุทธศาสตร์แม่แจ่มโมเดลพลัส โดยจะมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและการติดตามประเมินผลในพื้นที่อำเภอแม่แจ่มให้มีความเป็นเอกภาพ ช่วยให้การจัดทำข้อมูลแผนที่จำแนกการใช้ประโยชน์ป่าไม้ที่ดินรายแปลงสามารถนำไปใช้กำหนดพื้นที่ดินประเภทต่าง ๆ เช่น ป่าอนุรักษ์ดินและน้ำ, ป่าชุมชน, ที่ทำกินและป่าเศรษฐกิจชุมชน ตลอดจนที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
นายจอมกิตติ ศิริกุล ผู้บริหารโครงการพิเศษ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์มีความตั้งใจจริงและมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งที่เป็นแผนรับมือเฉพาะ แผนระยะสั้น และแผนระยะยาว ซึ่งได้เข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายของแม่แจ่มโมเดลพลัสมาตั้งแต่ต้น และที่ผ่านมาได้สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมร่วมกับภาครัฐ และภาคประชาสังคมในอำเภอแม่แจ่มมาโดยตลอด เพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า โดยในปีที่ผ่านมาได้นำร่องหมู่บ้านปลอดเผา เนื้อที่ประมาณ 1,500 ไร่ที่ตำบลบ้านทับ และในก้าวต่อไปของการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและพลิกฟื้นผืนป่าอำเภอแม่แจ่มสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามยุทธศาสตร์แม่แจ่มโมเดลพลัส ได้วางแผนที่จะสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ได้แก่ ระบบน้ำ ควบคู่ไปกับการสร้างอาชีพในรูปแบบของวิสาหกิจชุมชนหรือ Social Enterprise โดยอยู่ระหว่างการศึกษาหาพืชทางเลือกเพื่อทดแทนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สร้างความยั่งยืนด้านอาชีพแก่เกษตรกร