เปิดหนังสือ'ผู้ฟ้องคดี' ถึง ป.ป.ช. ปมตั้งซี 9 มิชอบ! ต้องเยียวยาให้เหมือน 35 คน
ปม ป.ป.ช. ออกหลักเกณฑ์เลื่อนขั้นระดับ 9 มิชอบ! เปิดหนังสืออดีต จนท. ผู้ฟ้องคดี ส่งถึงต้นสังกัด หลังถูกเรียกให้ส่งผลงานประเมินย้อนหลัง ทั้งที่เกษียณแล้ว 6 ปี โต้กลับหากเป็นธรรม ต้องได้รับเยียวยาเหมือน 35 คน ระวังทำผิดกฎหมายซ้ำซาก วอนไม่อยากมีเรื่องกับองค์กร
สืบเนื่องจาก ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2558 (คดีหมายเลขแดงที่ อ.940/2558) ว่า หลักเกณฑ์และวีธีการคัดเลือกเพื่อเลื่อนข้าราชการ สำนักงานป้องกันและปราปปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ดำรงตำแหน่งระดับที่สูงขึ้น (ระดับ 9) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ 141/2548 ลงวันที่ 31 ต.ค. 2548 (คำสั่งแต่งตั้งข้าราชการระดับ 9) ตามที่ นางนนทิยา สุทธิพงศ์ และนายธีระกุล พุ่มอรุณ ผู้ฟ้องคดีที่ 2-3 ฟ้องสำนักงาน ป.ป.ช. กับพวก เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4 (คดีนี้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 มิได้อุทธรณ์)
ต่อมา เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2560 นางนนทิยา สุทธิพงศ์ ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ได้ส่งหนังสือโดยเขียนด้วยลายมือถึงประธานศาลกครองสูงสุดเป็นฉบับที่สอง (ฉบับก่อนหน้านี้ 21 พ.ย. 2559) และสำเนาเรียนองค์คณะผู้พิพากษา เพื่อติดตามผล และขอทราบเจตนารมย์ของผู้พิพากษาศาลปกครองสูงสุด เนื่องจาก สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีหนังสือเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2560 ให้ นางนนทิยา ซึ่งเกษียณอายุราชการตั้งแต่ ต.ค. 2554 ส่งผลงานเพื่อประเมินเป็นระดับ 9 โดยอ้างคำพิพากษาขอศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ แต่นางนนทิยาเห็นว่า คำพิพากษาขอศาลปกครองสูงสุด ไม่ได้ระบุให้นางนนทิยาต้องส่งผลงานเพื่อประเมินแต่งตั้งขึ้นเป็นระดับ 9 ใหม่ เนื่องเพราะจากหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่อาจนำมาใช้บังคับได้ตามคำพิพากษาดังกล่าวแล้ว จึงส่งผลให้สำนักงาน ป.ป.ช. ไม่สามารถใช้หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินกับข้าราชการ ป.ป.ช. ทั้ง 35 ราย และผู้ฟ้องคดีทุกคนได้แต่ประการใด ดังนั้น สำนักงาน ป.ป.ช. จะแต่งตั้งเลื่อนข้าราชการเป็นระดับ 9 หรือไม่แต่งตั้งผู้ใด ก็จะต้องปฏิบัติให้เท่าเทียมกัน ภายใต้หลักเกณฑ์เดียวกันทุกคน ไม่เลือกปฏิบัติ
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำหนังสือของนางนนทิยาส่งถึงผู้อำนวยการสำนักบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงาน ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2560 มีความยาว 6 หน้ากระดาษ สรุปสาระสำคัญ
1.เมื่อสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นผู้ที่ทำให้ผู้ส่งผลงานเข้ารับการประเมินทุกคนต้องเสียหาย เสียสิทธิประโยชน์ที่ควรมีควรได้ตามกฎหมายไป แต่สำนักงาน ป.ป.ช. กลับออกคำสั่งสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ 141/2548 ลงวันที่ 31 ต.ค. 2548 เลื่อนผู้ส่งผลงานเข้ารับการประเมินให้ดำรงตำแหน่งระดับ 9 เฉพาะ 35 ราย โดยไม่มีรายชื่อผู้ฟ้องคดีที่ 2 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 ด้วย ทั้ง ๆ ที่ผู้ฟ้องคดีที่ 2 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 ก็ได้รับผลกระทบต้องเสียหายเสียสิทธิประโยชน์ที่ควรมีควรได้ตามกฎหมายไป อันเนื่องจากความผิดพลาดของผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ช. ด้วยเหมือนกัน เท่ากับว่าสำนักงาน ป.ป.ช. ออกคำสั่งมาบรรเทาความเสียหาย หรือเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ส่งผลงานเข้ารับการประเมินเพียง 35 รายเท่านั้น โดยคำสั่งดังกล่าวมิได้บรรเทาความเสียหาย หรือเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 2 และผู้ฟ้องคดี 3 ที่ส่งผลงานเข้ารับการประเมิน และต้องได้รับความเสียหายจึงจะเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น เพื่อให้สำนักงาน ป.ป.ช. สามารถออกคำสั่งให้มีการบรรเทาความเสียหาย หรือเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 2 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 ที่ต้องได้รับความเสียหายจากการกระทำของผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ช. ให้ได้รับสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกับผู้เสียหายทั้ง 35 ราย ตามคำสั่งดังกล่าวได้เลย โดยมิต้องดำเนินการใดอีก
2.ประเด็นที่จะให้ผู้ฟ้องคดีที่ 2 (นางนนทิยา) และผู้ฟ้องคดีที่ 3 ส่งผลงานเข้ารับการประเมินใหม่โดยใช้ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่องการกำหนดตำแหน่งและการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. พ.ศ.2550 และหรือระเบียบที่ออกมาใหม่นั้น เห็นว่า การสั่งให้ผู้ฟ้องคดีที่ 2 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 ส่งผลงานเข้ารับการประเมินใหม่อีกครั้งไม่สามารถกระทำได้ เพราะขัดกับหลักกฎหมาย หลักความเสมอภาคเท่าเทียม และหลักความเป็นธรรมหลายประการ
3.เรื่องนี้เป็นกรณีที่ ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาว่า หลักเกณฑ์ที่นำมาใช้ประเมินผลงานไม่ชอบด้วยกฎหมาย เท่ากับไม่มีหลักเกณฑ์ที่จะใช้ประเมินผลงาน ไม่ไช่กรณีที่หลักเกณฑ์ที่ใช้ประเมินชอบ แต่สำนักงาน ป.ป.ช. ไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ชอบอย่างถูกต้องครบถ้วน ที่จะทำให้สำนักงาน ป.ป.ช. สามารถกลับมาดำเนินการประเมินผลงานให้ถูกต้องครบถ้วนใหม่ได้ สำนักงาน ป.ป.ช. ไม่สามารถการะทำการอย่างอื่นได้ นอกจากการออกคำสั่งให้มีรายชื่อผู้ฟ้องคดีที่ 2 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 ในคำสั่งสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ 141/2548 ลงวันที่ 31 ต.ค. 2548 ด้วยเท่านั้น จึงชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด (ดูเอกสารฉบับเต็ม)
ล่าสุด นางนนทิยา เปิดเผยว่า ไม่อยากมีเรื่องกับองค์กรต้นสังกัด เหตุจำเป็นต้องฟ้องศาลปกครอง เพราะไม่ได้รับความเป็นธรรม
สำหรับประวัติการศึกษา นางนนทิยา จบคณะนิติศาสตร์บัณฑิต และนิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับราชการที่สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นเวลา 34 ปี เกษียณอายุราชการเมื่อปี 2554 ผลงานด้านป้องกันการทุจริตที่กรรมการ ป.ป.ช. จัดให้เป็นผลงานเด่นด้านป้องกันและพิมพ์เผยแพร่ต่อสาธารณชน คือ เรื่องประมูลทะเบียนรถยนต์ หมายเลขสวย ซึ่งกรมการขนส่งทางบกได้ประมูลนำเงินรายได้เข้ารัฐมาจนปัจจุบันนี้
อ่านประกอบ :
จนท. ป.ป.ช.เขียนจดหมายถึง ปธ.ศาลปค. ปมคำพิพากษาคดีตั้งซี 9 มิชอบ 35 คน
เปิดคำพิพากษาศาล ปค.สูงสุดมัด! คำสั่ง ป.ป.ช.เลื่อนตำแหน่ง ขรก.มิ
ร้องสอบ เลขาฯป.ป.ช.ละเว้น! ไม่เพิกถอนคำสั่งเลื่อนตำแหน่ง 'วิทยา-35 ขรก.' มิชอบ