แอมเนสตี้ เรียกร้องรัฐรื้อคดีทนายสมชายมาสอบใหม่ อาศัยหลักสากล
แอมเนสตี้ เรียกร้องรัฐบาลรื้อคดีทนายสมชายมาสอบสวนใหม่ให้เป็นไปตามหลักสากล วอนยุติการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพื่อให้มีเสรีภาพในการแสดงออก
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงแรมโฟรืวิงส์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จัดแถลงข่าวเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2559/2560
นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยพบว่าการปราบปรามอย่างต่อเนื่องต่อการแสดงความเห็นต่างอย่างสงบยังดำเนินต่อไปภายหลังรัฐประหารปี 2557 ทำให้เกิดสภาพที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ทางการอย่างเปิดเผย นักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาเนื่องจากการเปิดเผยรายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ หรือเนื่องจากการทำงานสนับสนุนบุคคลและชุมชนที่ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ยุติการโจมตีการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพราะถือเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และเรียกร้องเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายหยุดใช้กระบวนการทางอาญา เพื่อปราบปรามบุคคลที่ใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบโดยทันที
“รัฐไทยต้องให้สัตยาบันรับรองต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้สูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) และสนับสนุนให้เกิดบรรยากาศที่ปลอดภัยและหนุนเสริมนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและบุคคลอื่นๆ ในภาคประชาสังคม” นางปิยนุช กล่าว และว่า รัฐต้องแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่สอดคล้องต่อพันธกรณีของประเทศไทยตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกฎหมายที่นำไปสู่การควบคุมตัวโดยพลการ กฎหมายที่ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความเห็น การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบ ตลอดจนเสรีภาพในการเดินทาง ยุติการใช้ศาลทหารเพื่อไต่สวนคดีของพลเรือนไม่ว่าในกรณีใดทั้งสิ้นเพราะการกระทำดังกล่าวถือเป็นการละเมิดพันธกิจของไทยในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม และยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ซึ่งกำหนดบทลงโทษเกี่ยวกับการมั่วสุมหรือชุมนุม 'ทางการเมือง' ที่มีจำนวนห้าคนหรือมากกว่าขึ้นไป
นอกจากนี้ทางแอมเนสตี้ฯ ยังเรียกร้องให้รัฐบาล รื้อคดีการบังคับสูญหายของทนายสมชาย นีละไพจิตร และดำเนินกระบวนการสอบสวนเป็นไปตามหลักสากล ตลอดจนบุคคลอื่นที่ถูกบังคับให้สูญหาย เพื่อรับรองว่าผู้ที่รับผิดชอบต่อการบังคับให้สูญหายจะถูกลงโทษ และควรผ่านร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคลให้สูญหายพ.ศ. .... โดยที่เนื้อหาต้องสอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
ขณะที่ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา(www.isranews.org) รายงานว่า ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เป็นตัวแทนมอบรายงานพร้อมทั้งข้อเรียกร้องถึงทางการไทย โดยมีนายณัฐภาณุ นพคุณ ผู้อำนวยการกองการสังคม กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศเป็นตัวแทนรัฐบาลไทยรับมอบรายงานฉบับดังกล่าว