ศาล ปค.สูงสุดสั่ง ให้ศาลต้นพิจารณาคดีห้ามจยย.ขึ้นสะพาน-อุโมงค์ ใหม่
ศาลปกครองสูงสุด แก้คำสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นดำเนินกระบวนการพิจารณาในคดีการข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร (ชั่วคราว) ว่าด้วย การห้ามรถบางชนิดและล้อเลื่อนลากเข็น เดินบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยก และในอุโมงค์ลอดทางร่วมทางแยก พ.ศ. 2559 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ผู้สื่อข่าาวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คำสั่งศาลปกครองสูงสุด แก้คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ให้ศาลปกครองชั้นต้นดำเนินกระบวนการพิจารณาในคดีหมายเลขดำที่ 590/2559 ในคดีที่นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ที่ 1 กับพวกรวม 80 คน (ผู้ฟ้องคดี) ยื่นฟ้อง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่ 1 กับพวกรวม 3 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) กรณีออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร (ชั่วคราว) ว่าด้วย การห้ามรถบางชนิดและล้อเลื่อนลากเข็น เดินบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยก และในอุโมงค์ลอดทางร่วมทางแยก พ.ศ. 2559 ลว. 28 มี.ค. 2559 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เนื่องจากผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ประกาศดังกล่าวมีผลเป็นการห้ามรถจักรยานยนต์ไม่ให้ใช้สะพานและอุโมงค์ดังกล่าว มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม และสร้างภาระให้แก่ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์เกินสมควร เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย
ในคดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2559 ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลได้ออกข้อบังคับให้เจ้าพนักงาจราจรในเขตกรุงเทพมหามหานคร (ชั่วคราว) ว่าด้วยการห้ามรถบางชนิดและล้อเลื่อนลากเข็น เดินบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยก และในอุโมงค์ลอดทางร่วมทางแยก พ.ศ.2559 กำหนดห้ามไม่ให้รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน รถยนต์สามล้อและล้อเลื่อนลากเข็นเดินบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยก จำนวน 39 สะพาน และในอุโมงค์ทางร่วมทางแยกจำนวน 6 อุโมงค์ โดยอ้างว่า รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน และรถยนต์สามล้อและล้อเลื่อนลากเข็นดังกล่าว ทำให้เกิดความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ส่งผลกระทบต่อปัญหาจราจร และเป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุจราจร ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนทำให้ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ฟ้องคดี และต่อประชาชนโดยทั่วไป ผู้มีสิทธิใช้รถและใช้ถนน เป็นการสร้างภาระโดยไม่เป็นธรรม กระทบสิทธิและเสรีภาพ
ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีมีการอุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีของศาลปกครองชั้นต้น
ศาลปกครองสูงสุด พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีในข้อหาที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานครฯ ว่าด้วยการห้ามรถบางชนิดและล้อเลื่อนลากเข็นเดินบนสะพานทางร่วมทางแยกและในอุโมงค์ฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ออกจากสารบบความ ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นด้วย
จึงมีคำสั่งแก้คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ศาลปกครองชั้นต้นดำเนินกระบวนการพิจารณาในข้อหาที่หนึ่งต่อไป
ส่วนข้อหาที่สอง ที่ผู้ฟ้องฟ้องว่า กรุงเทพมหานครและกรมทางหลวง ก่อสร้างสะพานข้ามทางร่วมทางแยกหรืออุโมงค์ลอดทางร่วมทางแยก โดยมิได้แบ่งหรือจัดสรรช่องทางเดินรถสำหรับจักรยานยนต์ รถจักรยานสามล้อและล้อเลื่อนลากเข็น ทั้งที่สะพานหรืออุโมงค์ดังกล่าวสามารถจะแบ่งหรือจัดสรรช่องทางได้ ผู้ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ กรุงเทพมหานครและกรมทางหลวงกำหนดหรือจัดสรรช่องเดินรถ นั้นศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง ซึ่งศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย