ปตท.ทุ่มงบกว่า 3.3 แสนล.บาท ยกเครื่องกลุ่มปิโตร มุ่งธุรกิจเทคโนโลยีขั้นสูง
บอร์ดเห็นชอบปรับโครงสร้างถือหุ้นธุรกิจปิโตรเคมีโดยจำหน่ายหุ้นสายผลิตภัณฑ์โพรเพน และชีวภาพ ให้ พีทีทีจีซี สนับสนุนการลงทุนด้านเทคโนโลยีขั้นสูง และการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ตามนโยบายรัฐอันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ พร้อมเห็นชอบปรับเพิ่มงบลงทุน 5 ปี (2560 – 2564) เน้นโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อความมั่นคงพลังงานไทย ยึดหลักโปร่งใสยั่งยืน
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการลงทุน บอร์ด ปตท.ได้เห็นชอบการปรับโครงสร้างการถือหุ้นธุรกิจปิโตรเคมี ในสายผลิตภัณฑ์โพรเพน และชีวภาพ (Propane & Bio chains) และธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องของกลุ่ม ปตท. โดยการจำหน่ายหุ้นที่ ปตท.ถืออยู่ใน 6 บริษัท และ 1 โครงการ ให้กับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (พีทีทีจีซี) ได้แก่ บริษัท เอชเอ็มซี โพลิเมอส์ จำกัด บริษัท พีทีที อาซาฮี เคมิคอล จำกัด บริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม จำกัด บริษัท พีทีที โพลีเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด บริษัท พีทีที โพลีเมอร์ โลจิสติกส์ จำกัด บริษัท พีทีที เมนเทนแนนซ์ แอนด์ เอนจิเนียริง จำกัด และ โครงการ PMMA ของ บริษัท พีทีที พีเอ็มเอ็มเอ จำกัด ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดพลังร่วม (Synergy) ในธุรกิจปิโตรเคมีของ กลุ่ม ปตท. โดยเกิดความยืดหยุ่นในการรับวัตถุดิบ (feedstock) ซึ่งมี พีทีทีจีซี เป็นหัวหอกด้านเคมีภัณฑ์ของกลุ่ม ทั้งนี้ พีทีทีจีซี จะขอความเห็นชอบต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นต่อไป
นายเทวินทร์ กล่าวว่า การปรับโครงสร้างธุรกิจปิโตรเคมีของกลุ่ม ปตท.ในครั้งนี้จะเกิดผลดีต่อภารกิจของ ปตท.ที่ให้การสนับสนุนการลงทุนด้านเทคโนโลยีขั้นสูง และการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศต่อไปในอนาคตทั้งในระยะกลางและระยะยาว
ในขณะเดียวกัน ปตท.เปิดเผยงบลงทุน 5 ปี (2560 – 2564) ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบของบอร์ดมูลค่า 338,849 ล้านบาท โดยจำนวนดังกล่าวนั้นรวมการเพิ่มทุนในบริษัทลูก เพื่อปรับโครงสร้างการลงทุนแล้ว ทั้งนี้ ปตท.ตั้งเป้าลงทุนหลักในโครงสร้างพื้นฐาน 43% ปรับโครงสร้างการเงิน 22% ธุรกิจแอลเอ็นจี 14% ธุรกิจน้ำมันและเทรดดิ้ง 12% ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 4% บริษัทย่อยและบริษัทร่วมค้า 4% และอื่นๆ 1% ตามลำดับ โดยเฉพาะโครงการที่มีมูลค่าสูงเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน อาทิ ท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 5 มูลค่า 93,337 ล้านบาท และโครงการแอลเอ็นจีเทอร์มินัล แห่งที่ 2 มูลค่า 38,171 ล้านบาท เป็นต้น ในการนี้ ปตท.ได้บรรลุการเจรจาสัญญาระยะยาวการจัดหาแอลเอ็นจี กับ บีพี (BP) เชล (Shell) และ ปิโตรนาส (Petronas) รวมประมาณ 3 ล้านตันต่อปี โดยผลการเจรจากับ BP และ Shell ทำให้ลดต้นทุนการนำเข้าแอลเอ็นจี ตลอดอายุสัญญาได้ประมาณ 1.1 แสนล้านบาท พร้อมเร่งดำเนินการขยายคลังรับแอลเอ็น แห่งที่ 1 จาก 5 ล้าน เป็น 10 ล้านตันต่อปี เริ่มใช้งานได้ในปี 2560 และได้รับมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติขยายเป็น 11.5 ล้านตันต่อปีในปี 2562 รวมถึงอนุมัติการก่อสร้างคลังรับแอลเอ็นจี แห่งที่ 2 อีก 7.5 ล้านตันต่อปี ให้แล้วเสร็จในปี 2565
นอกจากนี้ ปตท.ยังสนับสนุนนโยบายรัฐในการเปิดเสรี เพื่อส่งเสริมให้เกิดการการแข่งขันในกิจการ แอลพีจี เอ็นจีวี และ แอลเอ็นจี โดยบริหารท่อส่งก๊าซฯและคลังปิโตรเลียมภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ Third Party Access (TPA) พร้อมทั้งวางยุทธศาสตร์ในการศึกษาการลงทุนในเทคโนโลยีและกิจการใหม่ๆ เพื่อหาโอกาสเติบโตแบบก้าวกระโดดสำหรับกลุ่ม ปตท. เช่น กิจการในสายโซ่ธุรกิจไฟฟ้า เป็นต้น
นายเทวินทร์ อธิบายเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากงบฯ ลงทุน 5 ปี มูลค่า 338,849 ล้านบาทแล้ว ที่ประชุมบอร์ดยังได้อนุมัติงบสำรองลงทุน (Provision) จำนวน 198,612 ล้านบาท เพื่อเตรียมสำหรับความต่อเนื่องของการผลิตในสัมปทานที่จะหมดอายุ การพัฒนาโครงการแอลเอ็นจีที่จะส่งมาประเทศไทย โครงการลงทุนที่ต่อยอดเพิ่มมูลค่าจากกิจการปัจจุบัน และโอกาสลงทุนในธุรกิจใหม่ ซึ่งในปัจจุบัน ธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกของ ปตท.ได้มีการขยายผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อผู้บริโภค โดยเฉพาะการขยายกิจการในประเทศเพื่อนบ้านในรูปแบบสถานีบริการน้ำมันแบบครบวงจร (Life Station model) อันเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของไทยและเพื่อนบ้านจำนวนมาก ในขณะที่ ธุรกิจเทรดดิ้งของ ปตท.ก็ได้ขยายธุรกิจผ่านสำนักงานที่ลอนดอน ซึ่งตั้งขึ้นใหม่ เพื่อครอบคลุมตลาดทั่วโลก และเพิ่มประสิทธิภาพการค้าขาย อีกทั้ง ปตท. ยังมีการลงทุนผ่านบริษัทลูกในธุรกิจแบตเตอรี่ และธุรกิจไฟฟ้าอีกด้วย
สำหรับผลประกอบการประจำปี 2559 นั้น ปตท. มีรายได้จากการขาย 1.72 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 15 จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลง อย่างไรก็ดี กำไรสุทธิของกลุ่ม ปตท. เพิ่มขึ้น 74,673 ล้านบาทจากปี 2558 เป็น 94,609 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการบันทึกมูลค่าการด้อยค่าทางบัญชีลดลงและมีกำไรจากสินค้าคงคลังแทนการขาดทุนรวม 7 หมื่นล้านบาท ในขณะที่สภาพตลาดราคาน้ำมันและปิโตรเคมี ส่งผลกระทบต่อกำไรขั้นต้นลดลง 2 หมื่นล้านบาท แต่กลุ่ม ปตท. ได้มีดำเนินการเพิ่มผลผลิตในการดำเนินงานอย่างจริงจัง ทำให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ถึง 2.4 หมื่นล้านบาท ประกอบกับมีการลงทุนในธุรกิจตลอดห่วงโซ่คุณค่า ที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ ทำให้ผลประกอบการของกลุ่มปตท. พลิกฟื้นเร็วกว่าบริษัทน้ำมันชั้นนำอื่นๆ หลายแห่งที่การลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจต้นน้ำ
นายเทวินทร์ กล่าวว่า กรณีสินบน โรลส์ รอยซ์ ที่เป็นกระแสข่าวนั้น ปตท.ไม่เพียงเร่งรวบรวมข้อมูล เอกสาร และสอบปากคำผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ยังได้วิเคราะห์กระบวนการและแนวปฏิบัติในอดีต เพื่อหาจุดอ่อนในการปรับปรุงแก้ไข นอกจากนี้ ปตท.ได้ประสานสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้านข้อมูลที่จำเป็น พร้อมจัดสถานที่ให้ ป.ป.ช. เข้ามาตรวจเอกสาร รวมทั้งติดต่อหน่วยงานภายนอกต่างๆ ในการขอรายชื่อคน ปตท.ที่เรียกร้องสินบน ซึ่งในขณะนี้ยังไม่ได้รับการแจ้งกลับจากหน่วยงานใด โดย ปตท.จะติดตามข้อมูลต่อไป
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 บอร์ด ปตท. ได้รับทราบรายงานผลการสืบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีสินบน โรลส์ รอยซ์ และได้เห็นชอบแนวทางการปรับปรุงกระบวนการเพื่อป้องกันการทุจริต ได้แก่ ขึ้นทะเบียนนายหน้า จัดระบบการบันทึกการติดต่อในโครงการก่อสร้างและจัดซื้อ เพิ่มการเก็บเอกสารเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-document) ใช้แนวทางในการนำหลักเกณฑ์เรื่องข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact : IP) และการบริหารต้นทุน (Cost) มาใช้ในโครงการท่อก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 5 และ คลังฯ แอลเอ็นจี แห่งที่ 2 ทั้งหมดนี้เพื่อแสดงความตั้งใจตามหลักการของ ปตท.ในการดำเนินธุรกิจที่โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้