ก.วิทย์ฯ จับมือ มหาดไทย สร้างแผนพัฒนาจังหวัดด้าน วทน.
รองปลัด วท. ชี้ไทยขาดนโยบายด้านวิจัยพัฒนา-ถ่ายทอดความรู้ วทน. ลงชุมชน หวังขยายโครงการเป็นแผนพัฒนาจังหวัดคลุมทั่วประเทศ ผู้แทนจังหวัดนำร่องแผนฯ ย้ำความสำคัญภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างเดียวไม่เพียงพอแก้ปัญหา เชื่อ วทน. ช่วยเกาถูกที่คัน
วันที่ 26 พ.ค. 54 ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ (วท.) ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) “แนวทางการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.)” โดย ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ รองปลัด วท. กล่าวถึงนโยบายการนำ วทน. สู่ชุมชนว่า นโยบายด้าน วทน. มีบทบาทอย่างยิ่งต่อมิติการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน แต่ประเทศไทยมักละเลยในจุดนี้ ต่างจากประเทศเกาหลีและญี่ปุ่น ซึ่งให้ความสำคัญและนำเรื่องดังกล่าวลงไปหยิบจับเพื่อพัฒนาสินค้าชุมชนให้มีคุณภาพไปพร้อมๆ กับยกระดับความสามารถของชาวบ้านไปด้วย
“เช่น สินค้าโอท้อป มีศักยภาพและคุณภาพไม่ด้อยไปกว่าสินค้าอื่น แต่กลับไม่ค่อยได้รับความนิยม ตลาดภายในแคบ ขณะที่ตลาดนอกได้รับการตอบรับพอสมควร แต่ก็ไม่ดีที่สุด นั่นเป็นเพราะยังอ่อนด้อย ทั้งผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และกระบวนการผลิต เหล่านี้ล้วนต้องอาศัย วทน.ใหม่มาปรับแทนทั้งสิ้น”
รองปลัด วท. กล่าวต่อว่า ชาวบ้านรู้ลึกซึ้งและมีความชำนาญของภูมิปัญญาเป็นทุนเดิมชัดเจนแล้ว แต่ที่ต้องไปติดอาวุธเพิ่มคือการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า ที่สำคัญกว่านั้นคือการทำให้ยูนิตย่อยที่สุดอย่างชาวบ้านลืมตาอ้าปากได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ดังนั้นนโยบายด้าน วทน. จึงจะเป็นตัวจับที่ช่วยให้เกิดผลสัมฤทธิ์ดังกล่าว หลักๆ เห็นว่ามี 2 ประเด็น คือนโยบายด้านวิจัยพัฒนา ที่ วท. ส่งเสริมอยู่แล้ว แต่อาจจะยังไม่ตรงกับความต้องการชุมชน และนโยบายการถ่ายทอดความรู้ วทน. ลงสู่ชุมชนที่เน้นการเชื่อมโยงกับจังหวัด
“วท.มีข้อจำกัดของโครงสร้างที่ไม่มีหน่วยงานในส่วนภูมิภาค ขณะที่งานด้าน วทน. กว้างขวาง จึงได้มีการนำกลไกการเชื่อมโยงระหว่าง วท.และจังหวัดชุมชนมาใช้ภายใต้กรอบภารกิจของหน่วยงานในสังกัด เช่น คลินิกเทคโนโลยี เครือข่ายอาสาสมัคร วทน. ศูนย์การเรียนรู้ระดับชุมชน หมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์ ซึ่งผลที่ได้ก็ไปช่วยแก้ปัญหาของชุมชนได้ระดับหนึ่งแต่ส่วนใหญ่เป็นระยะสั้นเท่านั้น”
ดร.วีระพงษ์ กล่าวอีกว่า ในทางปฏิบัติพอเห็นภาพที่ชัดขึ้น แต่ที่ต้องมองต่อไปคือจะทำอย่างไรให้ ชุมชน คิดถึง วทน. ทุกครั้ง จึงเห็นว่าควรบรรจุไว้ในแผนพัฒนาจังหวัดโดยมีหน่วยปกครองเป็นกำลังหลักในการหนุนเสริมจะทำให้ วทน. แก้ปัญหาชุมชนได้ในระยะยาว เกิดการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ ยกระดับขีดความสามารถเพื่อนำไปสู่การเป็นชุมชนที่เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งท้ายที่สุดก็จะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงเป็นที่มาของทำเอ็มโอยูร่วมกัน กับ มท. เพื่อผลักดันการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดด้าน วทน. โดยนำร่องก่อนใน 20 จังหวัด
ทั้งนี้ มีการเสวนา “การจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดด้าน วทน. จังหวัดนำร่อง ปี 53” โดย นายเฉลิมยศ อุทยานรัตน์ ผู้แทน วท.ประจำ จ.ยะลา 1 ในจังหวัดนำร่องที่ประสบความสำเร็จด้านการจัดทำแผนฯ กล่าวว่า สำคัญที่สุุดอยู่ในกระบวนการคัดเลือกปัญหาที่ต้องมาจากความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง อย่างยะลาปัญหาที่ถูกนำเสนอมากที่สุดคือขยะและการแปรรูปผลไม้ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศทำให้ราคาผลิตตกต่ำ ชาวบ้านขายไม่ได้ขาดทุนเกิดหนี้สิน สิ่งที่คนเหล่านี้ต้องการมากที่สุดคือเทคโนโลยีการแปรรูป ขณะที่หน่วยงานในพื้นที่ก็ไม่มีศักยภาพหรือองค์ความรู้ด้านนี้ จึงเลือกที่จะนำประเด็นดังกล่าวบรรจุเข้าในแผนประสานให้ วท.ส่งผู้เชี่ยวชาญลงมาช่วย
นายเกรียงเดช เข็มทอง อดีตรองผู้ว่าราชการ จ.ตรัง กล่าวว่า งานวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องทฤษฎี เมื่อต้องดำเนินการด้านนี้หน่วยราชการเองก็ใช้งบประมาณไปแก้ปัญหาแบบอีลุ่ยฉุยแฉก คือทุ่มงบลงไปแต่ชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์ แต่ภายหลังที่ต้องนำ วทน. ไปบรรจุในแผนจังหวัดทำให้เห็นสภาพและความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
“เรามาทราบว่าชาวบ้านมีปัญหาต้นทุนการผลิตปาล์ม โดยมีสาเหตุจริงๆ เพราะเขาไม่รู้จักวิธีใช้ปุ๋ย ทำให้เพิ่มต้นทุนการผลิต ซึ่งที่ผ่านมาการแก้ปัญหาก็มักไปแก้ด้วยกลไกตลาด แต่แนวทางการจัดทำแผนฯ ทำให้รู้ว่าจริงๆ คืออะไร เข้าใจวิธีแก้ที่ตรงจุดโดยนำเอา วทน.มาเชื่อม”
นายสุวิทย์ สุบงกฎ อดีตรองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การสร้างความรู้สึกนึกคิดให้ชาวบ้านมอง วทน.เป็นสิ่งจับต้อง ไม่ใช่แค่อยู่ในห้องคือข้ออีกจุดมุ่งหมายหนึ่ง อย่างที่กาฬสินธุ์ประเด็นที่นำเสนอเข้าแผนฯ คือจะทำอย่างไรให้ผ้าไหมแพรวาส่งออกได้ เนื่องจากที่ทำอยู่เป็นสีเปลือกไม้ต้มเอง ไม่มีคุณภาพ ต่างประเทศจึงไม่รับ แต่ภายหลังสถาบันการศึกษาในพื้นที่ลงมาช่วยถ่ายทอดผสมสีธรรมชาติแบบผง ทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ สร้างรายได้ให้ชาวบ้าน
“แต่ทั้งหมดไม่ได้จบที่บรรจุลงแผนแล้วจบ เพราะ วทน.กับการแก้ปัญหาชุมชนจะสำเร็จได้ ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งคือกลไกสำคัญที่สุดต้องเห็นความสำคัญ ไม่ใช่ไม่อยากทำแล้วล้ม ซึ่งยากที่จะฟื้นขึ้นมาใหม่ เนื่องจากธรรมชาติของชาวบ้านการจะให้คิดหรือทำอะไรใหม่ทำได้ยาก ข้อนี้ต้องระวัง”
นายวรการ ยกยิ่ง อดีตรองผู้ว่าราชการ จ.ชุมพร กล่าวว่า ประโยชน์ที่จะได้รับโดยตรงคือการแก้ปัญหาชาวบ้าน เพิ่มมูลค่าสินค้า ส่วนทางอ้อมคือหน่วยราชการเอง ที่สามารถคลี่ปมปัญหาต่างๆ ได้สะดวกขึ้น ยกตัวอย่างชาวบ้านเคยมาเรียกร้องมีปัญหาผลผลิตมังคุดล้นตลาด จะมาแปรรูปด้วยการกวนก็ขายไม่ได้ เพราะทำแล้วติดกระดาษ มีวิธีแก้ปัญหาอย่างไรได้ นั่นเป็นคำถามง่ายๆ ที่ราชการตอบไม่ได้ และสะท้อนถึงความจำเป็นที่ต้องมีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญมาเชื่อมประสานการทำงานกับจังหวัด
ทั้งนี้ มีการประชุมกลุ่มย่อยแบ่งตามรายภูมิภาคถึงแนวทางขับเคลื่อนแผนพัฒนาจังหวัดโดยประเด็นพิจารณาเพื่อจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดด้าน วทน. พร้อมกลไกการขับเคลื่อนเป็นแผน 3 หรือ 4 ปีต่อไป.