เท'หมื่นล้าน'ล้างหนี้นอกระบบ
ครม.อนุมัติสินเชื่อ 1 หมื่นล้าน แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ เปิดให้กู้ผ่าน 2 แบงก์รัฐ ออมสินธ.ก.ส.รายละ 5 พันล้าน ดอกเบี้ยสุดถูก 10% ต่อปี เงื่อนไขคนเดียวค้ำประกันและชำระคืน 5 ปี
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินซึ่งเสนอโดยกระทรวงการคลัง โดยโครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการของแพ็กเกจใหญ่ที่ต้องการแก้ไขหนี้นอกระบบหมดไป วงเงินสินเชื่อรวม 1 หมื่นล้านบาท
วงเงินดังกล่าวแบ่งเป็นวงเงินสินเชื่อธนาคารออมสินไม่เกิน 5,000 ล้านบาท และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาท วงเงินไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย สำหรับระยะเวลากู้ภายใน 1 ปี กู้ยืมไม่เกิน5 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกิน 0.85% ต่อเดือน หรือประมาณปีละ 10% ต้องมีบุคคลค้ำประกันอย่างน้อย 1 คน หรือมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยจะพิจารณาจากความฉุกเฉินและความจำเป็นในการใช้เงิน ยื่นขอสินเชื่อได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปภายในเวลา 1 ปี
ทั้งนี้รัฐบาลพร้อมชดเชยค่าเสียหายหากเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล โดยที่ 25% แรก จะชดเชย 100% ตั้งแต่ 25-37.5% รัฐบาลจะชดเชย 70% และมากกว่า 37.5% แต่ไม่เกิน 50% รัฐบาลจะชดเชยครึ่งหนึ่ง โดยรัฐจะรับความเสียหายไม่เกินวงเงิน 4,000 ล้านบาท
โครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน จะช่วยให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรรายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ในกรณีมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉิน โดยไม่ต้องไปใช้บริการสินเชื่อนอกระบบ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาหนี้นอกระบบที่มีภาระดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่สูง และบางกรณีมีการติดตามทวงถามหนี้ที่ใช้ความรุนแรง
โครงการดังกล่าวจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการให้ดีขึ้นประมาณ 200,000 ราย
มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 ออกแพ็กเกจเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ โดยหลักการของการจัดการหนี้นอกระบบของกระทรวงการคลัง แบ่งเป็น 4 เรื่องใหญ่ๆ คือ 1.การเพิ่มศักยภาพให้ความรู้ด้านการเงิน โดยการปลูกฝังความรู้และวินัยการเงิน ฝึกให้ทำบัญชีเป็น
2.การดำเนินการจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบ เช่น การ ออก พ.ร.บ.ไปแล้ว 2 ฉบับ ฉบับแรกคือ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 เพื่อโทษสำหรับผู้ที่เรียกอัตราดอกเบี้ยเกิน 15% ต่อปี โดยจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีและปรับไม่เกิน 2 แสนบาท และ พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2538 คือการห้ามข่มขู่ลูกหนี้ ถ้าฝ่าฝืนก็ติดคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท
3.การไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ โดยจัดให้เจ้าหนี้เข้ามาร่วมไกล่เกลี่ยกับลูกหนี้ โดยมีกระทรวงการคลัง ตำรวจ และกระทรวงยุติธรรมเป็นคนกลาง 4.การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ พิโคไฟแนนซ์ และมีการจัดตั้งหน่วยธุรกิจ โดยธนาคารออมสินกับ ธ.ก.ส.
ด้าน พล.ท.สรรเสริญแก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหาการทุจริตในองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น(อปท.) ทั้งระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล โดยเฉพาะการสอบบรรจุพนักงาน เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า การนำข้อสอบออกมาขายให้แก่ผู้สมัครสอบ, การจัดทำข้อสอบที่ไม่ได้มาตรฐาน, การแยกสนามสอบทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ
"คสช.จึงให้มีคณะกรรมการกลางของแต่ละหน่วยงานดูแล สอบรวม มีเปเปอร์เดียวสอบพร้อมกัน ทำอย่างนี้การเรียกเก็บค่าต๋งจะสามารถตรวจสอบได้"