3 นักสิทธิฯหวังอัยการสั่งไม่ฟ้อง คดีเปิดรายงานซ้อมทรมานชายแดนใต้
สามนักสิทธิมนุษยชนที่โดน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งความดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท และกระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยื่นขอความเป็นธรรมกับอัยการ และหวังว่าคดีนี้จะมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เพราะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
นักสิทธิมนุษยชน 3 คน ประกอบด้วย นายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษามูลนิธิผสานวัฒนธรรม นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และประธานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) รวมทั้ง นางสาวอัญชนา หีมมีหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ ถูกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งความดำเนินคดีใน 2 ข้อหา จากการเปิดเผยรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีฯ ในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557–2558 โดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า อ้างว่าได้รับความเสียหายจากการเผยแพร่รายงานดังกล่าวเป็นเอกสาร และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์
ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนพร้อมนัดผู้ต้องหาทั้ง 3 คนเข้าพบพนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี ขณะที่นักสิทธิมนุษยชนทั้งสามได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการ ให้สั่งการพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนพยานบุคคลเพิ่มเติม รวมทั้งพิจารณาถึงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ว่าคดีดังกล่าวเป็นการฟ้องร้องข้อหาที่นิติบุคคลอาจไม่มีอำนาจฟ้อง ประกอบกับประมวลกฎหมายอาญาได้กำหนดความผิดฐานหมิ่นประมาท เพื่อมุ่งคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลไม่ให้ถูกละเมิด มิได้มุ่งที่จะคุ้มครองนิติบุคคล ขณะที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นนิติบุคคล และเป็นหน่วยงานของรัฐ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี จึงสามารถถูกตรวจสอบได้โดยประชาชน และไม่ได้มีฐานะเป็นผู้เสียหาย
นางสาวพรเพ็ญ กล่าวว่า ยังมีความหวังอยู่ว่าอัยการจะสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ เพราะการดำเนินการเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำรายงานฯ มีขั้นตอนและได้ดำเนินการภายใต้กรอบการตรวจสอบข้อมูลด้านสิทธิมนุษย อีกทั้งเห็นว่าในทางกฎหมายพวกเธอน่าจะชนะ และยังมีชาวบ้านเป็นพยานร่วมด้วย แต่ขอไม่เปิดเผย ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของพยาน
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า การจัดทำรายงานสถานการณ์การทรมานฯ มุ่งประโยชน์ต่อสาธารณะ เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานราชการตรวจสอบกรณีการกระทำทรมาน รวมทั้งการเปิดเผยการทรมานที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ การจัดทำรายงานยังเป็นการสร้างหลักประกันสิทธิและเสรีภาพแก่ประชาชน สร้างความเข้มแข็งให้แก่หลักนิติธรรมและกระบวนการยุติธรรม
ฉะนั้นการเนินคดีต่อนักสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 คนจึงไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และอาจเป็นการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ ตลอดจนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งขัดขวางการทำหน้าที่ของพลเมือง ปิดปากไม่ให้ดำเนินการตรวจสอบและรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน
สำหรับบรรยากาศที่สำนักงายอัยการประจำจังหวัดปัตตานี มีประชาชนและเครือข่ายภาคประชาสังคมจำนวนหนึ่งเดินทางไปให้กำลังใจนักสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 คน ทั้งยังมีผู้แทนจากสถานทูต องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศและระหว่างประเทศ องค์การข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ นักวิชาการ นักกฎหมาย ไปร่วมสังเกตการณ์ด้วย
หลังยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม ปรากฏว่าพนักงานอัยการได้นัดนักสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 คนเข้ารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 21 มีนาคม เวลา 14:00 น.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : สามนักสิทธิฯที่ถูกดำเนินคดี (จากซ้าย) อัญชนา, สมชาย และ พรเพ็ญ