นัดพูดคุยฯ28 ก.พ.ชง "พื้นที่ปลอดภัย" ระดับอำเภอ – รัฐชี้ใกล้ปิดยุคบันได7ขั้น
คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล จะเดินทางไปร่วมพูดคุยแบบเต็มคณะกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ "มารา ปาตานี" ที่ประเทศมาเลเซีย ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ โดยหัวข้อหารือหลักจะเป็นการร่วมกันกำหนด "พื้นที่ปลอดภัย" ระดับอำเภอ
ข้อตกลงเรื่องการกำหนด "พื้นที่ปลอดภัย" คณะพูดคุยฯทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบในหลักการร่วมกันตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และในช่วงที่ผ่านมา คณะทำงานเทคนิคร่วมฯได้หารือกันในรายละเอียด กระทั่งได้ข้อยุติร่วมกันว่า ในการพูดคุยแบบเต็มคณะ วันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ จะมีการหารือเพื่อกำหนดพื้นที่ร่วมกันเป็นครั้งแรก โดยจะกำหนดในระดับอำเภอ ด้วยการเลือกอำเภอใดอำเภอหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอำเภอนำร่อง "พื้นที่ปลอดภัย"
แหล่งข่าวจากคณะพูดคุยฯ บอกว่า แนวโน้มของการพูดคุยดีขึ้นมาก และเชื่อว่าจะสร้างสันติสุขได้ตามที่หลายฝ่ายตั้งความหวัง โดยในช่วงหลังมีผู้แทนกลุ่มติดอาวุธเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยด้วย ซึ่งเป็นบุคคลที่มีหมายจับในคดีความมั่นคง และมีชื่ออยู่ในสารบบของเจ้าหน้าที่ว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบตัวจริงในระดับแกนนำ ถือว่าคณะพูดคุยฯที่นำโดย พลเอกอักษรา เกิดผล สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เห็นต่างจากรัฐได้ โดยเฉพาะกลุ่มติดอาวุธ
ทั้งนี้ สถานการณ์ในพื้นที่ลดระดับความรุนแรงลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึง 2 เดือนแรกของปี 2560 ทั้งสถิติการก่อเหตุ และรูปแบบของความรุนแรง แม้ในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่จะมีปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จนอาจทำให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงไม่สามารถเคลื่อนไหวก่อเหตุได้ง่ายนัก แต่หลังจากน้ำลดแล้ว สถานการณ์โดยรวมก็ยังเงียบสงบ
เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงซึ่งปฏิบัติงานในพื้นที่มานานกว่า 10 ปีประเมินว่า มองเห็นสัญญาณความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญว่าสถานการณ์โดยรวมกำลังพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น คือ
1.การบ่มเพาะเยาวชนเพื่อไปเป็นนักรบรุ่นใหม่ ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
2.อาร์เคเค หรือกลุ่มติดอาวุธขนาดเล็กของขบวนการ ไม่มีเสรีในการปฏิบัติเหมือนเก่า ไม่สามารถก่อเหตุเชื่อมโยงในแง่เวลาและสถานที่ได้เหมือนในอดีต คือลักษณะการก่อเหตุแบบพร้อมกันหลายจุด กระจายในหลายอำเภอ ไม่สามารถทำได้
3.ความร่วมมือในการแจ้งข่าวสารของประชาชนมีมากขึ้น ส่งผลให้สามารถจับกุมอาร์เคเคได้เป็นจำนวนมาก
สำหรับในภาพใหญ่ของสถานการณ์ชายแดนใต้ ฝ่ายความมั่นคงวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงลดระดับการก่อเหตุลง เพราะสมาชิกขบวนการจำนวนมากเริ่มเบื่อหน่าย และมองไม่เห็นทางที่จะเอาชนะได้ เนื่องจากระยะเวลาการต่อสู้เนิ่นนานเกินไป ประกอบกับรัฐบาลเปิดโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขมารองรับตั้งแต่ปี 2556 ในรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือว่าการดำเนินการเรื่องการพูดคุยมีความต่อเนื่องพอสมควร จนสร้างความมั่นใจให้กับผู้เห็นต่างจากรัฐได้ ขณะที่กลุ่มแกนนำทั้งหลายก็รับรู้แล้วว่าการจะเดินหน้าต่อไปโดยใช้การก่อเหตุรุนแรงเป็นเครื่องมือ ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป เพราะประชาชนเบื่อหน่าย และแจ้งข่าวสารให้กับทางราชการ
"จะเรียกว่าเป็นการปิดยุคบันได 7 ขั้น เพื่อแยกดินแดนรัฐปัตตานีก็คงพูดได้" แหล่งข่าวระดับสูงจากหน่วยงานความมั่นคง ระบุ
การประเมินของฝ่ายความมั่นคง เชื่อว่าสถานการณ์ในพื้นที่จะดีขึ้นเป็นลำดับ และในที่สุดกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐจะยุติการต่อสู้โดยใช้ความรุนแรง แต่การต่อสู้ในภาพรวมจะจบลงหรือไม่ หรือเปลี่ยนรูปแบบการต่อสู้ไป ถือเป็นความท้าทายที่ต้องติดตาม
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ว่า ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ขณะนี้สงบมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะรัฐสามารถทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องของการทำงานได้มากขึ้น การส่งทหาร ตำรวจลงพื้นที่ ก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ดูแลความปลอดภัย ไม่ใช่การเข้าไปปราบปราม หลังจากนี้รัฐบาลพยายามที่จะทำให้เกิดความสงบอย่างยั่งยืนในพื้นที่ ด้วยการทำให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ โดยมีโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ที่ดำเนินการอยู่แล้วใน 3 อำเภอเป็นพื้นที่นำร่อง
อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ที่ส่งลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่ มีทั้งคนดีและคนไม่ดี แต่ขณะนี้รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พล.อ.อักษรา เกิดผล (คนที่สองจากขวา) จับมือกับ ดาโต๊ะสรี อะหมัด ซัมซามิน ฮาซิม ผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยจากมาเลเซีย
หมายเหตุ : แฟ้มภาพอิศรา