เจาะโครงสร้าง-ผลงานคณะ‘บิ๊กป้อม-บิ๊กป๊อก’ กำจัดผักตบ จับตาลิ่วหรือเหลว?
"..จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นมีอย่างน้อย 2 หน่วยงาน ได้แก่ กรมทรัพยากรน้ำ และกรมชลประทาน ได้ขอยกเลิกบางโครงการแล้ว เนื่องจากตรวจสอบพบปัญหาว่า อาจมีความซ้ำซ้อนในการดำเนินการ ซึ่งถูกกระทรวงการคลังทำหนังสือ ‘เตือน’ เช่นกันว่า ให้ระมัดระวังในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน .."
สาธารณชนอาจทราบไปแล้วว่า เมื่อช่วงเดือน ก.ย. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีแนวคิดต้องการแก้ไขปัญหาผักตบชวาอย่างจริงจัง (อีกครั้ง) โดยมอบหมาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวเรือหลักรับผิดชอบ มีกระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการกับหน่วยงานรัฐอื่น ๆ
หลังจากก่อนหน้านี้ช่วง ธ.ค. 2558-มี.ค. 2559 ‘บิ๊กตู่’ มีข้อสั่งการไปแล้ว โดยให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ดำเนินการ ทว่า ‘คว้าน้ำเหลว’ จนต้องรื้อแผนขึ้นมาใหม่เมื่อ ก.ย. 2559 ที่ผ่านมา
แต่คราวนี้มี ‘คำเตือน’ จากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ดำเนินการตรวจสอบผลการกำจัดผักตบชวาย้อนหลังในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2555-2559) พบปัญหาอุปสรรคหลายประการ สวนทางกับเงินงบประมาณที่ลงทุนเป็นจำนวนมาก ทำให้การกำจัดผักตบชวาอาจเกิด ‘ความเสี่ยง’ ที่จะใช้งบประมาณแผ่นดินโดย ‘สูญเปล่า’ ได้ ?
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่เป็นหน่วยดำเนินการหลัก ได้สรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมา คือระหว่างเดือน ต.ค. 2559-มี.ค. 2560 แล้ว (แต่ผลดังกล่าวเผยแพร่เมื่อเดือน ก.พ. 2560) สรุปได้ ดังนี้
สำหรับโครงสร้างคณะทำงานกำจัดผักตบชวาชุด ‘บิ๊กป้อม’ เริ่มประชุมมอบหมายงานตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2559 แบ่งโครงสร้างได้ ดังนี้
1.กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการกำหนดแผน/แนวทางการดำเนินการ รวมทั้งบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2.นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาผักตบชวา โดยมี พล.อ.ประวิตร เป็นประธาน รมว.มหาดไทย (พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา) เป็นรองประธาน ปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมการปกครอง เป็นกรรมการ และมีอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นเลขานุการ โดย พล.อ.ประวิตร มีคำสั่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาผันชวา 2 ระดับ ดังนี้
1.คณะกรรมการระดับส่วนกลาง ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน อธิบดีกรมการปกครองหรือผู้แทน ร่วมเป็นคณะทำงาน โดยมีอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นเลขานุการ
2.คณะกรรมการระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ปลัดจังหวัด นายอำเภอ ร่วมเป็นคณะทำงาน และโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด เป็นเลขานุการ
สำหรับหน่วยงานส่วนกลาง รับผิดชอบแม่น้ำสายหลัก ประกอบด้วย 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า และ กทม. โดยจัดแบ่งพื้นที่รับผิดชอบในการกำจัดผักตบชวาในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางตอนล่าง ดังนี้
กรมโยธาธิการและผังเมือง รับผิดชอบแม่น้ำแม่กลอง (จากเขื่อนแม่กลอง-อ่าวไทย) และแม่น้ำท่าจีน (จากประตูน้ำโพธิ์พระยา จ.สุพรรณบุรี-อ่าวไทย) กรมชลประทาน รับผิดชอบแม่น้ำท่าจีนบางส่วน แม่น้ำน้อย แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำนครนายก รวมถึงแหล่งน้ำ คู คลอง ที่ขึ้นทะเบียนเป็นของกรมชลประทาน กรมเจ้าท่า รับผิดชอบแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี และคลองที่เชื่อมกับแม่น้ำน้อย และแม่น้ำป่าสักบางส่วน และ กทม. รับผิดชอบแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนที่ไหลผ่าน กทม. ระยะทางประมาณ 33 กิโลเมตร และคลองสาขาต่าง ๆ ในพื้นที่
ส่วนการดำเนินการระดับจังหวัด รับผิดชอบแม่น้ำสายรองและแหล่งน้ำปิด ประกอบด้วย 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด รับผิดชอบการสำรวจข้อมูล และจัดทำแผนการกำจัดผักตบชวาในแม่น้ำ คู คลอง ที่มีความกว้าง (ที่ระดับผิวน้ำเฉลี่ย) มากกว่า 20 เมตร และแหล่งน้ำปิดที่มีขนาดพื้นที่มากกว่า 200 ไร่ขึ้นไป องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รับผิดชอบการสำรวจข้อมูลและจัดทำแผนการกำจัดผักตบชวาในแม่น้ำ คู คลอง ที่มีความกว้าง (ระดับผิวน้ำเฉลี่ย) น้อยกว่า 20 เมตร และแหล่งน้ำปิดที่มีขนาดพื้นที่น้อยกว่า 200 ไร่ลงมา ส่วนแหล่งน้ำที่มีหน่วยงานรับผิดชอบดูแลเป็นการเฉพาะ มอบให้หน่วยงานนั้น ๆ ดำเนินการ เช่น พื้นที่บริเวณเหนือเขื่อน อ่างเก็บน้ำ หรือทางน้ำที่ได้มีการออกประกาศให้กรมชลประทาน หรือกรมเจ้าท่า เป็นผู้ดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายของหน่วยงานนั้น
สำหรับมาตรต่าง ๆ แบ่งได้ 2 ขั้นตอน ได้แก่
มาตรการในการกำจัด (เก็บใหญ่) ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการของจังหวัด และกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้แก่ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า และหน่วยงานระดับจังหวัด อำเภอ ท้องถิ่น บูรณาการร่วมกันแบบประชารัฐร่วมใจในการจัดเก็บผักตบชวาตามแผนปฏิบัติการ ได้วางไว้ภายในระยะเวลาที่กำหนด คือ ต.ค. 2559-มี.ค. 2560
มาตรการในการป้องกัน (เก็บเล็ก) ได้พิจารณากำหนดแนวทางไว้ ดังนี้
1.จังหวัด และอำเภอจะต้องเน้นย้ำและกำชับติดตามให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำการเก็บผักตบชวาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่เพื่อป้องกันมิให้ผักตบชวามีการเติบโตและขยายพันธุ์อีก โดยต้องทำเป็นภารกิจประจำทุกสัปดาห์ และรายงานผลดำเนินการให้อำเภอ และจังหวัดทราบ
2.การอบรมให้ความรู้ ความเข้าใจเรื่องผักตบชวาแก่ประชาชนในท้องที่ ได้ทราบว่ามีการขยายพันธุ์และเติบโตอย่างรวดเร็วอย่างไร การจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ ร่วมสร้างจิตสำนึกในการแก้ไขปัญหาผักตบชวา การดูแลรักษาแหล่งน้ำ และการส่งเสริมความรู้ในการกำจัดผักตบชวาไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ เช่น การทำปุ๋ยหมัก การทำหัตถกรรมพื้นบ้านจากผักตบชวา ฯลฯ
3.การจัดหาและสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือในการกำจัดผักตบชวา (เก็บเล็ก) ให้กับท้องถิ่น เช่น เรือพาย เครื่องมือในการย่อยผักตบชวา เพื่อสามารถนำไปเลี้ยงสัตว์ และทำปุ๋ยแบ่งเป็น 4 หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ ได้แก่ หน่วยงานประจำจังหวัด แบ่งเป็น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่ทหารภายในจังหวัด พบว่า มียอดปริมาณผักตบชวารวม 5,138,483 ตัน วางแผนกำจัดผักตบชวาไว้ 3,109,513 ตัน แต่กำจัดได้จริง 3,0143,351 ตัน
นอกจากนั้นอีก 3 หน่วยงานรับผิดชอบเฉพาะลุ่มน้ำภาคกลางตอนล่าง ได้แก่ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน และกรมเจ้าท่า มีปริมาณผักตบชวารวม 6,205,355 ตัน วางแผนกำจัดผักตบชวาไว้ 3,755,892 ตัน แต่กำจัดได้จริง 3,820,592 ตัน
รวมคิดเป็นร้อยละ 61.57 ของปริมาณผักตบชวาที่สำรวจได้ ซึ่งจังหวัดที่ไม่มีผักตบชวาได้แก่ จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต
ขณะเดียวกันได้กำหนดบทบาทของนายอำเภอในพื้นที่ ให้ประสานงานและสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ เช่น ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ภาคประชาชน ภาคเอกชน พร้อมทั้งดำเนินการและแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ร่วมมือกับประชาชนในหมู่บ้านกำจัดผักตบตามศักยภาพ สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนไม่ให้นำสารเคมีไปกำจัดเพื่อป้องกันมลพิษทางน้ำ ถ้ามีเครื่องมือไม่เหมาะสมอาจประสานหน่วยทหารเข้ามาสนับสนุน และให้แก้ไขปัญหาความขัดแย้งหรือต่อต้านจากประชาชน เช่น กรณีไม่ยินยอมให้เครื่องจักรของหน่วยราชการเข้ามาดำเนินการในแหล่งน้ำถูกล้อมรอบโดยที่ดินเอกชน เป็นต้น
ทั้งหมดคือโครงสร้างขนาดใหญ่ไล่ไปจนถึงระดับพื้นที่ของคณะทำงานชุด ‘บิ๊กป้อม-บิ๊กป๊อก’ เพื่อ ‘กำจัด’ ผักตบชวาให้สิ้นซาก ตามแนวทางของ ‘บิ๊กตู่’
เบื้องต้นหลังผ่านการดำเนินงานมาแล้ว 5 เดือน พบว่า แล้วเสร็จไปเพียง 61.57% เท่านั้น ?
จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นมีอย่างน้อย 2 หน่วยงาน ได้แก่ กรมทรัพยากรน้ำ และกรมชลประทาน ได้ขอยกเลิกบางโครงการแล้ว เนื่องจากตรวจสอบพบปัญหาว่า อาจมีความซ้ำซ้อนในการดำเนินการ ซึ่งถูกกระทรวงการคลังทำหนังสือ ‘เตือน’ เช่นกันว่า ให้ระมัดระวังในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน
ยังเหลืออีก 1 เดือน ให้ ‘เร่งรัด’ ดำเนินการ ดังนั้นต้องรอจับตาดูว่า ท้ายสุดจะทำสำเร็จเห็นผลเป็นรูปธรรม ไม่ล้มเหลวเหมือนที่ผ่านมาอีกได้หรือไม่!
อ่านประกอบ :
5 เดือนทำได้ 61% มท.โชว์ผลสรุปกำจัดผักตบ-กำชับท้องถิ่นเก็บทุกสัปดาห์
เปิดปฏิบัติการกำจัดผักตบยุค‘บิ๊กตู่’ ก่อนเหลว! สั่งทำใหม่-สตง.พบปัญหาเพียบ?
ชำแหละ 4 ปัญหากำจัดผักตบชวา! สตง. ชง‘บิ๊กตู่’เร่งแก้-ป้องใช้งบแผ่นดินไม่คุ้มค่า?
พบสารพัดปัญหากำจัดผักตบยุค'บิ๊กตู่'! สตง.จี้จับตาหน่วยงานรับผิดชอบใกล้ชิด
โชว์คำเตือน ก.คลัง-เบื้องหลัง! กรมทรัพยากรน้ำเลิกโครงการกำจัดผักตบ?
เปิดงบกรมทรัพยากรน้ำกำจัดผักตบล็อตใหม่ยุค‘บิ๊กตู่’ 6.2 พันล.-เลิกแล้ว 1 โครงการ
ขมวด 3 เงื่อนปมปัญหากำจัดผักตบชวายุค ‘บิ๊กตู่’ จับตาลิ่วหรือร่วง?
เปิดปฏิบัติการกำจัดผักตบยุค‘บิ๊กตู่’ ก่อนเหลว! สั่งทำใหม่-สตง.พบปัญหาเพียบ?
5 ปีล่าสุด 2.5 พันล.! เปิดงบ 5 หน่วยงานรัฐกำจัดผักตบ-กทม.แชมป์ใช้ 1.5 พันล.
เปิดหมดงบ ก.มหาดไทย‘แม่งาน’ กำจัดผักตบชวา 2 ปี 59 โครงการ 362 ล.
ปภ.จ้าง อผศ.วิธีพิเศษกำจัดผักตบชวาด้วย 8.1 ล.-ยอดรวม มท.ใช้งบพุ่ง 370 ล.
เอกชนขายเรือผักตบ กทม. 116ล.!รายใหญ่ค้าอาวุธกองทัพ-คู่เทียบ บ.ลูกปรีชา
กทม.ยัน บ.ขายเรือผักตบ 116 ล. คุณสมบัติเหมาะสม-สตง.ตรวจละเอียดแล้ว!
บ.ไทยแอโร่ฯแจ้งทำธุรกิจเรือปี’57 ก่อนขายเรือกำจัดผักตบกรมโยธาฯ-อปท. 62 ล.
‘ไทย แอโร่มารีน’ขายเรือกำจัดผักตบกรมโยธาฯ 51 ล.-อปท.ด้วย เบ็ดเสร็จ 62 ล.
สารพัดอุปสรรค-ปัญหากำจัดผักตบฉบับ กทม.! ไขคำตอบไฉน 5 ปีใช้งบ 1.5 พันล.
กรมโยธาฯซื้อเรือ-อุปกรณ์กำจัดผักตบ 177.6 ล.ก่อน สตง.ชง‘บิ๊กตู่’สางปัญหา