กู้ชีพสันติปัตตานี..."จิตอาสา"ดวงใหญ่กลางไฟความรุนแรง
ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้ล้วนมีสองด้านเสมอ...เป็นสัจธรรมที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ ฉะนั้นแม้ในยามที่ต้องเผชิญกับวิกฤติขนาดใหญ่ดังเช่น "มหาอุทกภัย" ที่ทำให้หลายสิบจังหวัดของประเทศไทยจมอยู่ใต้น้ำ ก็ยังมีภาพความงดงามของบรรดา "จิตอาสา" ที่ระดมกันออกให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ทุรกันดารต่างๆ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน กลายเป็น "เรื่องดีในเรื่องร้าย" ให้ผู้คนในสังคมได้เล่าขานกัน
เช่นเดียวกับที่สามจังหวัดชานแดนภาคใต้ แม้ผู้คนจำนวนมากจำต้องระทมทุกข์อยู่กับปัญหาความรุนแรงที่ยืดเยื้อมานานกว่า 8 ปี ทว่าในพื้นที่แบบนี้ก็ยังมีกลุ่ม "จิตอาสา" ที่คอยให้ความช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนทุกรูปแบบโดยไม่คิดค่าตอบแทน ตั้งแต่งูเข้าบ้าน ไปจนถึงรถเฉี่ยวชน อุบัติเหตุบนท้องถนน เพลิงไหม้ ไม่เว้นแม้แต่สถานการณ์ความไม่สงบที่มีภยันตรายรายล้อมอยู่รอบตัว
กลุ่มจิตอาสาที่ว่านี้คือ "หน่วยกู้ชีพสันติปัตตานี"
แม้จังหวัดไหนๆ ก็มีหน่วยกู้ชีพทำงานในระบบมูลนิธิน้อยใหญ่มากมายจนจำชื่อกันไม่หวาดไม่ไหว แต่ความต่างของหน่วยกู้ชีพสันติปัตตานีที่ต้องหยิบมาเล่าให้สังคมได้รับรู้ก็คือ พวกเขาไม่ใช่มูลนิธิ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่หรือเครือข่ายของรัฐ แต่เป็นคนธรรมดาๆ ที่หาเช้ากินค่ำ ต้องทำงานช่วงเวลากลางวันของทุกวันเหมือนคนอื่นๆ แต่พอตกค่ำพวกเขาก็จะสวมเครื่องแบบที่สั่งตัดเย็บกันเอง คอยฟังรายงานเหตุการณ์ต่างๆ ทางวิทยุสื่อสาร เมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้น พวกเขาจะพร้อมใจกันกระโดดขึ้นรถ หมุนพวงมาลัย เหยียบคันเร่งออกไปยังจุดเกิดเหตุทันที
ที่น่าทึ่งก็คือ อุปกรณ์ในการทำงานและช่วยชีวิตทั้งหมด ตั้งแต่รถยนต์ เปลสนาม วิทยุสื่อสาร ไปจนถึงกระเป๋าปฐมพยาบาล และอุปกรณ์ราคาแพงอื่นๆ รวมทั้งน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องเติมใช้ในภารกิจ พวกเขาออกเงินกันเองทั้งหมด
หากใครผ่านไปแถว "ป้อมช้าง" หน้าวิทยาลัยเทคนิคปัตตานี ใต้เงาป้าย "เทศบาลเมืองปัตตานี" ห่างจากวงเวียนหอนาฬิกาไม่ถึง 200 เมตร จะเห็นรถกระบะจอดเรียงรายอยู่พร้อมๆ กับชายฉกรรจ์กลุ่มใหญ่...นั่นแหละพวกเขา...หน่วยกู้ชีพสันติปัตตานี
ว่าที่ ร.ต.ปองภพ ขีปนานนท์ หัวหน้าทีม เล่าให้ฟังว่า สมาชิกในทีมขณะนี้มีทั้งหมด 24 คน มาจากต่างสาขาอาชีพ ทั้งรับราชการครู พนักงานบริษัท เจ้าของร้านคาร์แคร์ (ล้างและซ่อมบำรุงรถยนต์) และผู้รับเหมา ทั้งหมดมารวมตัวกันด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน คือช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์
"จุดเริ่มต้นผมคิดว่ามาจากความประทับใจในการทำงานลักษณะจิตอาสา เมื่อก่อนผมเคยประสบอุบัติเหตุบนท้องถนน หน่วยงานแรกที่เข้าถึงพื้นที่และช่วยเหลือผมคือหน่วยกู้ชีพของ อ.เทพา จ.สงขลา ตั้งแต่นั้นผมจึงรู้สึกประทับใจและมีแนวคิดอยากทำงานเพื่อสังคมมาตลอด แต่ไปขอเข้ากลุ่มกับเขา เขาก็ไม่ยอม เพราะคนของเขาเต็มแล้ว ก็เลยพูดคุยกับเพื่อนๆ ที่อยู่ในปัตตานี และตัดสินใจตั้งหน่วยกู้ชีพสันติขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือทุกคนที่เดือดร้อน เราเปิดศูนย์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 ม.ค.2550 โดยใช้ป้อมช้าง หรือป้อม สห.(สารวัตรทหาร) เดิม แต่ตอนนั้นถูกทิ้งร้าง เป็นสถานที่นัดรวมตัวกัน"
ปองภพ ขยายความต่อว่า สาเหตุที่เรียกว่า "ป้อมช้าง" เพราะข้างๆ ป้อมมีรูปปั้นช้างเป็นหินตั้งอยู่ พร้อมทั้งยอมรับว่าตอนที่รวมกลุ่มกันครั้งแรกไม่ได้คิดเลยว่าจะเดินกันมาไกลถึงขนาดนี้
"เราคิดแค่เอารถไปจอดนั่งกินน้ำชาอยู่ร้านประจำหน้าวงเวียน ม.อ. (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี) รวมตัวกันประมาณ 10 คน ระหว่างนั่งดื่มน้ำชานินทาเพื่อน ถ้าเกิดอุบัติเหตุพวกเราก็จะรีบขับไปช่วยพาคนเจ็บส่งโรงพยาบาล เมื่อบ่อยครั้งเข้าจึงมีแนวคิดว่าน่าจะร่วมกลุ่มกันตั้งศูนย์เพื่อรวมกลุ่มคนที่มีจิตอาสาช่วยเหลือสังคม พอสามารถรวมกลุ่มเพื่อนที่มีแนวคิดเดียวกันได้แล้ว จึงได้นำรถไปดัดแปลง ใส่หลังคา ไฟ เปล กระเป๋าปฐมพยาบาล วิทยุสื่อสาร ลงทุนตกคันละไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท โดยใช้เงินและรถส่วนตัวทั้งหมด"
ปองภพ เล่าต่อว่า หลังจากเปิดศูนย์กู้ชีพสันติ โดยขอทางหน่วยงานรัฐเข้าไปใช้สถานที่ "ป้อมช้าง" ซึ่งเราก็ซ่อมแซมทำนุบำรุงขึ้นใหม่จนมีสภาพใช้งานได้ เราก็ประสานทางวิทยุสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและโรงพยาบาลงปัตตานี เวลามีเหตุด่วนเหตุร้ายเราก็วิ่งไป
"กลางวันเราทำงานหลักของแต่ละคน พอกลางคืนก็มารวมตัวกันทำภารกิจช่วยเหลือคนเดือดร้อน แม้ปัตตานีจะดูเป็นเมืองเงียบๆ แต่จริงๆ แล้วมีงานให้วิ่งหรือลงพื้นที่กันแทบทุกคืน บางครั้งนั่งกินข้าวได้คำสองคำ วิทยุสื่อสารแจ้งมาบอกว่าเกิดเหตุ ทุกคนก็จะรู้หน้าที่ ลุกขึ้นคว้าอุปกรณ์แล้วมุ่งไปที่รถโดยไม่ได้สนใจเลยว่ากำลังกินข้าวกันอยู่ด้วยซ้ำ"
"เป้าหมายที่เราทำก็เพื่ออยากช่วยเหลือ ไม่อยากให้มีคนเจ็บหนัก เพราะถ้าช้าย่อมหมายถึงชีวิต ในหนึ่งนาทีถ้าเราเร็วเขาก็รอด แต่ถ้าเราช้าเขาก็อาจตายได้ ทุกกรณี ทุกเหตุการณ์ ทุกคน ทุกศาสนาเราปฏิบัติเหมือนกันหมด เหมือนทุกคนเป็นญาติพี่น้องของเรา"
การทำความดีนั้น แม้ไม่ได้รับผลตอบแทนกลับมาเป็นตัวเงินหรือทรัพย์สิน ทว่าสิ่งดีๆ ย่อมเกิดขึ้นกับคนทำดีแน่นอน และกับพวกเขา "หน่วยกู้ชีพสันติปัตตานี" ก็ไม่มีข้อยกเว้น
"เราช่วยเหลือสังคม สังคมก็ให้เรากลับ เช่น มีคนบริจาคกาแฟ บริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ นอกจากนั้นเรายังได้รับบริการที่ดีกลับมาด้วย เช่น เวลาไปไหนเราไม่มีที่จอดรถ ก็จะมีคนช่วยหาที่จอดให้ หรือเวลาไปไหนมาไหนแล้วเจอคนที่เราเคยช่วย เขาก็จะขอบคุณเรา และเข้ามาพูดถึงเหตุการณ์ที่เราให้ความช่วยเหลือ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความรู้สึกดีๆ แค่คำขอบคุณคำเดียวก็ยิ่งใหญ่มากพอแล้ว ทุกครั้งที่ได้ยินพี่น้องขอบคุณเราด้วยความจริงใจ เราก็รู้สึกซาบซึ้ง เพราะทุกวันนี้คำขอบคุณหายากมากขึ้นทุกทีในพื้นที่บ้านเรา"
"เคยมีครั้งหนึ่งเราไปซื้อข้าว แม่ค้าโดนมีดบาดเราเลยทำแผลให้ แม่ค้าก็ให้ข้าวพวกเรากินฟรี เราก็ได้ความประทับใจ และเขาก็ประทับใจเราด้วย แต่ไม่ใช่เราหวังข้าวฟรีนะ (หัวเราะ) เราอยากช่วย บางคนที่เขาไม่ประสบเหตุอาจจะมองไม่เห็นตรงจุดนี้ แต่คนที่ประสบเหตุหรือเคยประสบเหตุเขาจะเห็นคุณค่าของพวกเรา บางคนถามว่าเราบ้าหรือเปล่าที่มาทำแบบนี้ ลงทุนเอง เสียแรง เสียเวลา ไม่ได้หลับได้นอน แต่ความรู้สึกของพวกเราหลังจากที่ได้ช่วยเหลือ เราเหมือนได้ทำบุญ เรารู้สึกแบบนั้นทุกครั้งเลย เราไม่ได้หวังเงินทอง เราหวังแค่คำขอบคุณ และเราไม่อยากเห็นใครบาดเจ็บหรือต้องจากไป" ปองภพ กล่าว
การทำงานที่ต้องทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ และเวลาเช่นนี้ โดยเฉพาะเป็นการทำงานตอนกลางคืนด้วย แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อครอบครัวไม่น้อยเหมือนกัน
"บอกได้เลยว่าทำแล้วไม่มีเวลาส่วนตัว แม้แต่เวลาให้กับครอบครัวก็ลดน้อยลง ให้ได้ไม่เต็มที่ แรกๆ ทางบ้านก็ไม่ค่อยเข้าใจนะ แต่เดี๋ยวนี้เขาจะช่วยกันฟังวิทยุสื่อสารแทนให้เลย ทำให้หมดปัญหาทางบ้านไป ประกอบกับญาติพี่น้องเราได้ไปเห็นเราทำงานช่วยเหลือคนอื่นจริงๆ ไม่ได้ไปมั่วสุมหรือเหลวไหลที่ไหน ยิ่งทำให้ทางบ้านรู้สึกดีกับสิ่งที่พวกเราทำ" ปองภพ บอก
วันนี้ของหน่วยกู้ชีพสันติปัตตานี แตกต่างจากวันแรกที่เขารวมตัวกันนั่งดื่มน้ำชารอฟังรายงานเหตุร้ายผ่านทางวิทยุสื่อสารอย่างสิ้นเชิง เพราะพวกเขาเริ่มมีคนรู้จัก ได้รับการประสานจากโรงพยาบาลปัตตานีเพื่อเข้ารับการอบรมเรื่องการปฐมพยาบาลอย่างถูกวิธี ให้รู้จักวิธีการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บให้ปลอดภัยที่สุด กระทั่งได้เข้าร่วมโครงการ "มิราเคิล ออฟ ไลฟ์" ใน ทูลกระม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี ในชื่อ "หนึ่งใจ สู้ภัยพิบัติ" โดยเป็นหนึ่งในหน่วยกู้ภัย 10 จังหวัดนำร่องที่เข้าร่วมโครงการ
"ตอนนี้มีคนสนใจมาร่วมทีมกับพวกเราเยอะมาก และเราเองก็กำลังผลิตเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มาสานต่องาน แม้แต่ลูกๆ ของพวกเราก็บอกว่าพ่อต้องตัดชุดให้นะ ไม่ตัดชุดให้โกธรเลยนะ แต่การจะรับคนเข้าร่วมทีมก็ต้องตรวจสอบคัดกรองกันอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวพันกับยาเสพติดเราจะไม่ให้เข้าทีมเลย เพื่อไม่ให้งานของเราด่างพร้อย ไม่ให้สังคมติฉินนินทาพวกเราได้"
เมื่อถามว่าจะทำงานแบบนี้ไปถึงเมื่อไหร่ ปองภพ ตอบทิ้งท้ายแบบสั้นๆ ง่ายๆ แต่ได้ใจความว่า "จะทำจนกว่าไม่มีแรง"
นี่คือหัวจิตหัวใจอันยิ่งใหญ่เกินตัวของกลุ่มจิตอาสา...กู้ชีพสันติปัตตานี!
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : 1-3 การทำงานของทีมหน่วยกู้ชีพสันติ (ภาพโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ)
หมายเหตุ : ภาพบางภาพผ่านการตกแต่งโดย ฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา