ยกเลิก "รถด่วนพิเศษบีอาร์ที" คุ้มหรือไม่
ในเมืองที่มีการจราจรติดขัดมากที่สุดเมืองหนึ่งของโลกอย่างกรุงเทพมหานครฯ คนที่อาศัยในเมืองกรุงก็ต้องดิ้นรถหาวิธีเดินทางที่รวดเร็วเพื่อไปยังจุดหมายให้ทันเวลา ไม่ว่าจะเป็นรถไฟใต้ดินเอ็มอาร์ที,รถไฟฟ้าบีทีเอส,มอเตอร์ไซค์วิน,เรือด่วน แล้วแต่ความเร่งรีบและความเอื้ออำนวยของเส้นทาง
ทันทีทีมีข่าวออกมาว่า กรุงเทพมหานคร เตรียมปิดฉากโครงการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (บีอาร์ที) หลังวิ่งให้บริการมาตั้งแต่ 29 พฤษภาคม 2553 รวมกว่า 7 ปี
ถึงวันนี้ กทม.ให้เหตุผลอ้างว่า ขาดทุนสะสมมาต่อเนื่องปีละ 200 ล้านบาททุกปี ขณะที่จำนวนผู้โดยสารใช้บริการบีอาร์ทีกว่า 2 หมื่นคน / วัน
ก่อนหน้านี้ผู้บริหารกทม.ยืนยันเสียงแข็ง ยังไงก็ยุบ “รถด่วนบีอาร์ที” ย้ำไม่หยิบเรื่องมาทบทวนอีก ต้องยกเลิกสถานเดียว แม้มีเสียงคัดค้าน ล่ารายชื่อรณรงค์ ผ่านเว็บไซต์ Change.org โดยตั้งเรื่องว่า “ปรับขึ้นค่าโดยสารบีอาร์ทีแทนยกเลิกการให้บริการ ก่อนถูกยกเลิก 1 พ.ค. 60”
จนล่าสุด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะรับผิดชอบดูแลด้านจราจร ได้ออกเหยียบเบรค โดยระบุว่า ตอนนี้กำลังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบแก้ปัญหา ซึ่งพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็ขานรับขอเวลาสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่ได้รับผลกระทบก่อน
ผู้ว่าฯ กทม.ระบุด้วยว่า หากต้องมีการยกเลิกจริง ก็จะให้พี่น้องประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ขณะนี้กทม.ได้ขอความร่วมมือไปยังหลายมหาวิทยาลัยให้ช่วยทำการสำรวจผู้ที่ได้รับผลกระทบ และจะมาหาทางออกกันอีกครั้ง คาดว่าจะให้คำตอบได้ว่าจะยกเลิกหรือไม่ภายใน 15 วันต่อจากนี้
สำหรับมุมมองนักวิชาการ ดร. สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ มองถึงการให้บริการขนส่งสาธารณะว่า ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะมายกเลิกอะไรได้เลยแบบง่ายๆ อยากให้ทุกอย่างมีขั้นมีตอน โดยเสนอให้มีการทบทวน หรือการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการเสียก่อน หรือพิจารณาการปรับราคาค่าโดยสาร เป็นต้น
"วันนี้หลังมีข่าวออกไป กระแสสังคมบอกไม่ควรยกเลิก ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องก็รับฟัง ถือเป็นเรื่องที่ดี"
ส่วนเสียงสะท้อนผู้ใช้บริการรถโดยสารบีอาร์ที จากการได้พูดคุย ส่วนใหญ่ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า "ไม่ควรยกเลิก" พร้อมกับเรียกร้องให้กทม.สำรวจความเห็นประชาชนให้ดีก่อนที่จะทำอะไรลงไป เพราะคนที่ได้รับผลกระทบคือประชาชนตาดำๆ
นางอารีย์ บุญคุ้ม อาชีพพนักงานประกันภัย หนึ่งในผู้ใช้รถบีอาร์ทีเป็นประจำได้ ยืนยันว่า บีอาร์ที สะดวกสบาย รวดเร็ว และปลอดภัย และหากหากกทม.ต้องการที่จะยกเลิกจริง เธอก็เดือดร้อนเพราะต้องหาวิธีการเดินทางเส้นใหม่
"วันนี้รถในกรุงเทพฯ ติดหนักอยู่แล้วคงต้องใช้เวลาในการเดินทางมากกว่าเดิม ถ้ากทม.เลิกบีอาร์ที อะไรที่เป็นการบริการประชาชนก็ไม่ควรยกเลิก"
นายประภัสสร สิทธิพรรัตนมณี นิสิตจุฬาฯ ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดยกเลิก บีอาร์ที เพราะเป็นการเดินทางที่สะดวกและรวดเร็ว การยกเลิกจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อคนแถวนี้
ก่อนจะช่วยกทม.คิดหาทางออก โดยเสนอว่า "ควรขึ้นราคาค่าโดยสาร เชื่อว่า ผู้ใช้บริการบีอาร์ทีคนอื่นก็คงเต็มใจที่จะจ่ายเพิ่มมากกว่าที่จะให้ยกเลิก ซึ่งทางกทม.ควรจะแก้ปัญหาต่างๆให้ถูกจุดมากกว่าที่จะตัดปัญหานั้นทิ้งโดยไม่แก้ไขก่อน"
นางสาว นัดธิดา เผือกเจริญ พนักงานออฟิศ บอกว่า การมีรถเมล์บีอาร์ที ทำให้การเดินทางมาทำงานสะดวก ถึงแม้เธอจะไม่ได้ใช้บริการบ่อย แต่ก็เป็นทางเลือกที่ดีในการเดินทางทางกทม. บีอาร์ทีเป็นรถเมล์ที่ไม่มีวันรถติด
เธอยังบอกถึงความประทับใจในการให้บริการบีอาร์ทีด้วยว่า ดูปลอดภัยในการเดินทาง มีเลนเฉพาะไม่ต้องห่วงเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนน อีกทั้ง คนขับรถดูได้มาตรฐานกว่ารถเมล์อื่นๆที่เคยนั่งมา
"ใจจริงไม่อยากให้ยกเลิก เพราะบีอาร์ที คือสิ่งดีๆที่ประชาชนอย่างเราๆควรได้รับ"
เช่นเดียวกับนางวรรณญา มาเทียน พนักงานออฟฟิศ กล่าวว่า ไม่ควรยกเลิก ใจเขาใจเรา ถ้ายกเลิกแล้วคนที่ใช้เป็นประจำก็ต้องมาหาวิธีการเดินทางใหม่อาจจะต้องต่อรถหลายสายมากขึ้น ทำให้เสียเวลาในการเดินการจราจรในกรุงเทพฯรถติดหนักมากอยู่แล้ว
"บ้านอยู่ที่ราชพฤกษ์จะเข้าสาธรก็ใช้เวลาไม่มากถ้านั่งรถเมล์บีอาร์ที แต่ถ้าหากยกเลิกก็เดินทางลำบากเพราะไม่มีรถไฟฟ้าและรถติดมาก เมื่อก่อนจะเข้าเมืองก็ลำบาก แต่พอมีรถเมล์บีอาร์ทีสะดวกมากขึ้นจากที่เคยเข้าสาธรใช้เวลาชั่วโมงกว่า ตอนนี้เหลือแค่ 15 นาที ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดีหากที่ไหนรถไฟฟ้าเข้าไม่ถึง" พนักงานออฟฟิส ย่านสาธร กล่าว พร้อมกับเสนอให้ทำสายรถเมล์บีอาร์ทีขยายให้ครอบคลุมมากกว่านี้ สร้างให้มากขึ้น เพราะเป็นการเดินทางที่สะดวก ส่วนที่อ้างขาดทุนก็ควรจะหาวิธีแก้ปัญหาอื่นมากกว่าการตัดสินใจยกเลิกเพราะจะทำให้คนที่ใช้อยู่ลำบาก
สุดท้ายคนใช้บริการบีอาร์ทีก็ต้องรอลุ้น ผลการสำรวจความคิดเห็นผู้ใช้บริการจะออกมาเป็นอย่างไร การแก้ปัญหาขาดทุน และยอดผู้โดยสารไม่เข้าเป้า กทม.จะทำอย่างไรให้ไปรอด ก่อนจะเลือกวิธีการยกเลิกรถบีอาร์ที
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ดร.ธงชัย ชี้กทม.สวนกระแสโลก เลิกบีอาร์ที ขนส่งสาธารณะ อ้างขาดทุน
โชว์ผลสอบ‘สตง.’ ปมรถ‘BRT’ ก่อน กทม. สั่งยกเลิกให้บริการ-ขาดทุนยับพันล.