เปิดผลสอบงบฯพัฒนาท่องเที่ยวปี57-58จ.พัทลุง53ล.งานล่าช้า-เบิกจ่ายซ้ำซ้อน
"จ.พัทลุง.. ได้รับจัดสรรงบฯ โครงการประจําปีงบฯ 2557 เป็นเงิน 25 ล้านบาท และปีงบฯ 2558 เป็นเงิน 28.37 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 53.37 ล้านบาท โดยระบุมีการดำเนินงานล่าช้า.. เนื่องจากใช้ระยะเวลานานหลายเดือนในการบริหารจัดการการจัดซื้อจัดจ้าง..ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายเงินในภาพรวมของหน่วยงานและของประเทศ.."
โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เชิงอนุรักษ์เข้มแข็งเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จ.พัทลุง ประจำปีงบฯ 2557 และ 2558 กำลังถูกจับตามอง เมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบว่า มีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินโครงการเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความล่าช้า และการเบิกจ่ายเงินงบฯ ไม่ถูกต้องตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง ตลอดจน วัสดุอุปกรณ์และสิ่งก่อสร้างที่ได้รับการสนับสนุนไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรววจสอบพบว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เชิงอนุรักษ์เข้มแข็งเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จ.พัทลุง ประจำปีงบฯ 2557 และ 2558 ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติราชการที่มีวัตถุประสงค์ และทิศทางการพัฒนาตามแผนพัฒนาจังหวัด โดยได้รับจัดสรรงบฯ โครงการประจําปีงบฯ 2557 เป็นเงิน 25 ล้านบาท และปีงบฯ 2558 เป็นเงิน 28.37 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 53.37 ล้านบาท โดยระบุมีการดำเนินงานล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผนปฏิบัติราชการ เนื่องจากใช้ระยะเวลานานหลายเดือนในการบริหารจัดการการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายเงินในภาพรวมของหน่วยงานและของประเทศที่ต้องการกระตุ้นการใช้จ่ายเงินจากภาครัฐ การจ้างงาน และการหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจของประเทศ
โดยจากการตรวจสอบพบว่า ผลการดำเนินงานโครงการดังกล่าวประจำปีงบฯ 2557 ล่าช้ากว่าแผนปฏิบัติราชการฯ 3 กิจกรรม คือ
1.กิจกรรมติดตั้งป้ายบอกทิศทางท่องเที่ยวแบบยื่น (Overhang) ดำเนินงานโดย แขวงทางหลวงพัทลุง สัญญาจ้างเลขที่ พท 20/2557 ลงวันที่ 8 ก.ย. 2557 วงเงิน 4,798,137 บาท มีระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินการ 11 เดือน โดยระหว่างการจัดซื้อจัดจ้างมีการแก้ไขรายละเอียด และยกเลิกการประกวดราคา ซึ่งเป็นสาเหตุที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้มีการทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันในช่วงเวลาใกล้จะสิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินโครงการฯ
2.กิจกรรมการพัฒนาหมู่บ้านท่องเที่ยว (OTOP) ดำเนินงานโดย สำนักงานพัฒนาชุมชน จ.พัทลุง จำนวน 5 สัญญาคือ
(1) งานจ้างก่อสร้างอาคารบริการนักท่องเที่ยว ต.ลานข่อย อ.ป่าพะยอม ตามสัญญาจ้างเลขที่ 14/2557 ลงวันที่ 3 ก.ย. 2557 วงเงิน 1,148,000 บาท ผู้รับจ้างส่งมอบงานเกินกำหนดอายุสัญญา นับแต่วันอนุมัติเงินงบฯ วันที่ 1 พ.ย. 2556 ถึงวันทำสัญญาใช้ระยะเวลาดำเนินการนาน 10 เดือน
(2) งานจ้างก่อสร้างอาคารบริการนักท่องเที่ยว ต.เขาชัยสน อ.เขาชัยสน ตามสัญญาจ้างเลขที่ 13/2557 ลงวันที่ 1 ก.ย. 2557 วงเงิน 923,000 บาท ผู้รับจ้างส่งมอบงานเกินกำหนดอายุสัญญา นับแต่วันอนุมัติเงินงบฯ วันที่ 1 พ.ย. 2556 ถึงวันทำสัญญาใช้ระยะเวลาดำเนินการนาน 10 เดือน
(3) งานจ้างก่อสร้างอาคารบริการนักท่องเที่ยว ต.ชัยบุรี อ.เมืองพัทลุง ตามสัญญาจ้างเลขที่ 12/2557 ลงวันที่ 1 ก.ย. 2557 วงเงิน 1,147,000 บาท ผู้รับจ้างได้ส่งมอบงานภายในอายุสัญญา นับแต่วันอนุมัติเงินงบฯ วันที่ 1 พ.ย. 2556 ถึงวันทำสัญญาใช้ระยะเวลาดำเนินการนาน 10 เดือน
(4) งานจ้างเหมาผลิตถุงกระดาษและผลิตกล่องกระดาษ ตามสัญญาจ้างเลขที่ 17/2557 ลงวันที่ 16 ก.ย. 2557 วงเงิน 257,070 บาท ผู้รับจ้างส่งมอบงานภายในอายุสัญญา นับแต่วันอนุมัติเงินงบฯ วันที่ 1 พ.ย. 2556 ถึงวันทำสัญญาจ้าง ใช้ระยะเวลาดำเนินการนาน 10 เดือน
(5) งานจ้างเหมาตกแต่งภูมิทัศน์ 7 จุด ในพื้นที่หมู่ที่ 1 อ.เมืองฯ ตามสัญญาจ้างเลขที่ 11/2557 ลงวันที่ 27 ส.ค. 2557 วงเงิน 1,945,400 บาท ผู้รับจ้างส่งมอบงานภายในอายุสัญญา นับแต่วันอนุมัติเงินงบฯ วันที่ 1 พ.ย. 2556 ถึงวันทำสัญญาใช้ระยะเวลาดำเนินการนาน 9 เดือน
และ 3.กิจกรรมจัดสร้างศูนย์การเรียนรู้โลมาอิรวดีทะเลหลวงแบบครบวงจร ดำเนินงานโดย เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง สั ญญาจ้างเลขที่ 167/2557 ลงวันที่ 30 ก.ย. 2557 วงเงิน 8,032,822 บาท ผู้รับจ้างส่งมอบงานจ้างเกินกําหนดอายุสัญญาจ้าง 225 วัน นับแต่วันอนุมัติเงินงบประมาณ วันที่ 4 ต.ค. 2556 ถึงวันทําสัญญาใช้ระยะเวลาดําเนินการนาน 11 เดือน และการขออนุญาตก่อสร้างในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ใช้ระยะเวลานานประมาณ 11 เดือน ส่งผลทําให้การดําเนินงานในขั้นตอนอื่น ๆ ล่าช้าออกไปด้วย
ขณะที่ ผลการดำเนินงานปีงบฯ 2558 มีกิจกรรมที่มีความล่าช้ากว่าแผนปฏิบัติราชการฯ คือ กิจกรรมปรับปรุงภูมิทัศน์และก่อสร้างสิ่งอํานวยความสะดวกน้ําตกไพรวัลย์ ดำเนินงานโดย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ตามสัญญาจ้างเลขที่ 131/2558 ลงวันที่ 31 มี.ค. 2558 วงเงิน 7.33 ล้านบาท ผู้รับจ้างส่งมอบงานภายในอายุสัญญา นับแต่วันอนุมัติเงินงบฯ วันที่ 8 ต.ค. 2557 ถึงวันทำสัญญาใช้ระยะเวลาดำเนินการนาน 6 เดือน
อย่างไรก็ดี สตง. ได้ระบุข้อเสนอแนะว่า ขอให้ผู้ว่าราชการ จ.พัทลุง สั่งการเร่งรัด ติดตามผลการดำเนินงาน เพื่อให้แล้วเสร็จตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีที่กำหนด และสั่งการให้หัวหน้าหน่วยงานรายงานผลให้จังหวัดฯ ได้ทราบถึงความก้าวหน้าของการดำเนินงานว่าบรรลุเป้าหมายหรือไม่
ขณะที่ในส่วนของ การเบิกจ่ายเงินงบฯ ไม่ถูกต้องตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบพบว่า เกิดจากหน่วยงานมีระบบการควบคุมภายในที่ไม่มีประสิทธิภาพ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หนังสือสั่งการ และมติ ครม. ที่เกี่ยวข้อง
โดยปีงบฯ 2557 มีการเบิกจ่ายไม่เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง 3 กิจกรรม คือ
1.กิจกรรมประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว จ.พัทลุง งบประมาณ 800,000 บาท ดำเนินงานโดย สำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.พัทลุง เพื่อประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดฯ จากการตรวจสอบพบว่า การเบิกจ่ายค่าเช่าที่พัก ค่าอาหาร ไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2526 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงานและการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ. 2549 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้
1.1 ไม่มีใบแจ้งรายการ (Folio) ที่แสดงรายละเอียดชื่อ และชื่อสกุลผู้เข้าพักแรม วันเดือนปีและเวลาที่เข้าพักแรม และยกเลิกการเช่าพัก จำนวนผู้ที่เข้าพัก อัตราค่าเช่าห้องรายวัน ค่าภาษีและค่าบริการ และจำนวนเงินแต่ละรายการเป็นรายวันที่ออกให้โดย โรงแรมชัยคณาธานี เพื่อเป็นหลักฐานประกอบใบเสร็จรับเงินเล่มที่ 070 เลขที่ 3486 ลงวันที่ 7 มี.ค. 2557 วงเงิน 42,700 บาท เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของผู้รับผิดชอบก่อนการเบิกจ่าย และให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบความถูกต้องการเบิกจ่าย เช่น ผู้ตรวจสอบภายในของ จ.พัทลุง หรือผู้ตรวจสอบภายนอก เช่น สตง. เป็นต้น เป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2526 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2550
1.2 เบิกจ่ายค่าที่พักในอัตราราคาค่าที่พักไม่ตรงกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในเว็บไซต์ของ รร.ชัยคณาธานี มีการเบิกจ่ายค่าที่พักซ้ำซ้อน ผู้เข้าพักไม่มีรายชื่อลงทะเบียนในการเสวนา ทำให้เบิกจ่ายเงินค่าที่พักสูงไปเป็นเงินรวม 10,600 บาท ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ. 2549 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2555 ข้อ 16 และระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลัง การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง พ.ศ. 2551 ข้อ 31
2.กิจกรรมงานเทศกาล “ล่องเรือ แลนก ทะเลน้อย” งบฯ 205,000 บาท ดำเนินงานโดย ที่ทําการปกครอง อ.ควนขนุน จากการตรวจสอบพบว่า ไม่มีข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจ้าง ไม่มีแบบรูป รายละเอียด ข้อกำหนดรายการ ปริมาณการจ้างที่ตกลกกันไว้ หรือราคากลางประกอบการจ้าง เพื่อความสะดวกในการตรวจรับงานจ้างและการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจรับงานจ้างว่าผู้รับจ้างทำตามรายการที่กำหนดไว้ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ และเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบฯ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 27
2.1 เบิกจ่ายค่าจ้างเหมาจัดสถานที่จัดงาน ตามใบสั่งจ้างเลขที่ 13/2557 ลงวันที่ 1 เม.ย. 2557 จ้างตกแต่งสถานที่จัดงานในพิธีเปิดงานเทศกาลฯ วงเงิน 31,000 บาท
2.2 เบิกจ่ายค่าจ้างเหมาจัดแสง สี เสียง ตามใบสั่งจ้างเลขที่ 14/2557 ลงวันที่ 1 เม.ย. 2557 จ้างเหมาจัดแสง สี เสียงในงานเทศกาลฯ ระหว่างวันที่ 10 - 16 เมษายน 2557 วงเงิน 100,000 บาท
3.กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เมืองปศุสัตว์ (งานวันโค จ.พัทลุง) งบฯ 275,000 บาท ดําเนินงานโดย สํานักงานปศุสัตว์ จ.พัทลุง จากการตรวจสอบพบว่า เบิกเงินค่าจ้างเหมาทําอาหารว่างและเครื่องดื่ม จํานวน 1000 ชุด ๆ ละ 50 บาท เป็นเงิน 50,000 บาท แต่ไม่แจกแจงรายละเอียดว่า อาหารว่างและเครื่องดื่มที่จ้างทำ นั้น ทำเพื่อเลี้ยงรับรองใคร เนื่องจากไม่มีรายชื่อผู้มาลงทะเบียนเข้าร่วมงานให้ตรวจสอบ เป็นการเบิกจ่ายเงินไม่ถูกต้องตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลัง การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง พ.ศ.2551 ข้อ 34
ขณะที่ ปีงบฯ 2558 มีการเบิกจ่ายไม่เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง 2 กิจกรรม คือ
1.กิจกรรมเทศกาลล่องเรือ แลนก ทะเลน้อย งบฯ 300,000 บาท ดำเนินงานโดย ที่ทําการปกครอง อ.ควนขนุน จัดกิจกรรมงานในเขตพื้นที่เทศบาล ต.พนางตุง อ.ควนขนุน การจัดงานมีมหรสพ แสง สี เสียง การแสดงต่าง ๆ และจัดนิทรรศการสื่อประชาสัมพันธ์ โดยมีเทศบาล ต.พนางตุง เป็นเจ้าภาพ และที่ทำการปกครอง อ.ควนขนุน รับผิดชอบเบิกจ่ายเงินในส่วนค่าจ้างเหมาจัดสถานที่เวที แสง สี เสียง ในวันที่ 10 เม.ย. 2558 วงเงิน 100,000 บาท โดยจากการตรวจสอบพบว่า เทศบาล ต.พนางตุง จ่ายค่าจ้างเหมาตกแต่งเวทีวันที่ 9-15 เม.ย. 2558 วงเงิน 70,000 บาท ปรากฏตามใบตรวจรับของคณะกรรมการตรวจรับฯ ประกอบด้วย ค่าจัดสวนหย่อมหน้าเวที ฉากเวที งานประดับตกแต่งเวที แผ่นพื้นไม้กระดานเวที พรมปูเวที และจ่ายค่าเช่าเวทีระหว่างวันที่ 9 ,11-15 เม.ย. 2558 วงเงิน 42,000 บาท
พิจารณาแล้ว การจัดเวที แสง สี เสียง เทศบาล ต.พนางตุง ได้ดำเนินการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. 2558 ซึ่งเป็นวันจัดงานวันแรก เวทีและการตกแต่งแสงสีเสียงได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น การเบิกจ่ายค่าจ้างเหมาจัดสถานที่ เวที แสง สี เสียง ของที่ทําการปกครอง อ.ควนขนุน จึงเป็นการเบิกจ่ายซ้ำซ้อนกันกับเทศบาล ต.พนางตุง เป็นเงิน 100,000 บาท เป็นการเบิกจ่ายเงินไม่ถูกต้องตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลัง การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง พ.ศ. 2551 ข้อ 34 และทำให้ทางราชการเสียหาย
2.กิจกรรมงานประเพณีสองศาสนา และวัฒนธรรมย้อนยุคตะโหมด งบฯ 200,000 บาท ดำเนินงานโดย ที่ทำการปกครอง อ.ตะโหมด จากการตรวจสอบพบว่า ไม่มีเอกสาร หลักฐานประกอบการเบิกจ่ายให้ตรวจสอบ
อย่างไรก็ดี สตง. ระบุข้อเสนอแนะว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1.กิจกรรมประชาสัมพันธ์สนับสนุนการท่องเที่ยว จ.พัทลุง ของสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดฯ ให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีรายชื่อผู้เข้าพัก และเบิกค่าเช่าที่พักตามใบแจ้งรายการที่นำมาให้ตรวจสอบมีการพักแรมจริงหรือไม่ และใบแจ้งรายการดังกล่าวออกโดยโรงแรมชัยคณาธานีหรือไม่ รวมถึงให้เรียกเงินคืนจากผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นเงิน 10,600 บาท ส่งคืนคลังเป็นเงินรายได้แผ่นดินโดยด่วน
2.กิจกรรมงานเทศกาล “ล่องเรือ แลนก ทะเลน้อย” ปีงบฯ 2557 ให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีไม่มีแบบรูปรายละเอียด ข้อกำหนดปริมาณ หรือราคากลางการจ้างประกอบใบสั่งจ้าง และการเบิกจ่ายเงินเป็นไปตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง เหมาะสม ประหยัด และถูกต้องตามระเบียบหรือไม่
3.ให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิด กรณีไม่มีหลักฐาน หรือรายชื่อ และลายมือชื่อผู้มาร่วมงานให้ตรวจสอบ ให้เรียกเงินคืนเป็นเงิน 50,000 บาทจากผู้ที่เกี่ยวข้องส่งคืนคลังเป็นรายได้แผ่นดินโดยด่วน และดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องตามควรแก่กรณี
4.กิจกรรมเทศกาลล่องเรือ แลนก ทะเลน้อย ประจำปีงบฯ 2558 ให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิด กรณีที่ทำการปกครอง อ.ควนขนุน เบิกจ่ายเงินซ้ำซ้อนกับเทศบาล ต.พนางตุง ให้เรียกเงินคืนจากผู้ที่เกี่ยวข้องส่งคืนคลังเป็นเงินรายได้แผ่นดินเป็นเงิน 100,000 บาท และดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องตามควรแก่กรณี
5.ให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิด กรณีไม่มีเอกสารหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายให้ตรวจสอบ และให้เรียกเงินคืนจากผู้ที่เกี่ยวข้องส่งคืนคลังเป็นเงินรายได้แผ่นดินด่วน และดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องตามควรแก่กรณี
6.ขอให้สั่งการให้การใช้จ่ายเงินในการจัดทำโครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ ให้มีความประหยัด เหมาะสม ตามความจำเป็น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีผลคุ้มค่ากับเงินแผ่นดิน โดยยึดหลักธรรมาภิบาล
ทั้งนี้ในส่วนของ วัสดุอุปกรณ์และสิ่งก่อสร้างที่ได้รับการสนับสนุนไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า นั้น พบในบางกิจกรรมของการดำเนินโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฯ จ.พัทลุง ประจำปีงบฯ 2557 และ 2558
โดยปีงบฯ 2557 กิจกรรมที่มีการใช้ประโยชน์วัสดุอุปกรณ์ และสิ่งก่อสร้างไม่คุ้มค่า หรือไม่ได้ใช้ประโยชน์ คือ กิจกรรมการพัฒนาหมู่บ้านท่องเที่ยว (OTOP) งบประมาณ 6,454,400 บาท ดําเนินงานโดย สํานักงานพัฒนาชุมชน จ.พัทลุง ประกอบด้วยกิจกรรมย่อย 3 รายการ คือ การพัฒนาหมู่บ้าน OTOP การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในหมู่บ้านชุมชนท่องเที่ยว OTOP จํานวน 5 หมู่บ้าน และปรับปรุงภูมิทัศน์หรือศูนย์การท่องเที่ยว จํานวน 5 หมู่บ้าน จากการตรวจสอบ พบว่า หมู่บ้านชุมชนท่องเที่ยว OTOP มีการใช้ประโยชน์ชั้นเหล็กวางสินค้าสูง 5 ชั้น 3 แห่ง (คิดเป็นร้อยละ 60) ไม่ใช้ประโยชน์ 2 แห่ง (ร้อยละ 40) ใช้ประโยชน์ชั้นเหล็กวางสินค้าสูง 4 ชั้น 3 แห่ง (ร้อยละ 60) ไม่ใช้ประโยชน์ 2 แห่ง (ร้อยละ 40) ใช้ประโยชน์ถุงกระดาษ (แบบมีสายถือ) 5 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 100 และใช้ประโยชน์กล่องกระดาษ (แบบมีหูหิ้ว) 5 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 100 นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ใช้วัสดุอุปกรณ์ไม่ได้เป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการ
และจากการตรวจสอบงานปรับปรุงภูมิทัศน์หรือศูนย์การท่องเที่ยว งบประมาณ 5,400,000 บาท พบว่า งานก่อสร้างอาคารบริการนักท่องเที่ยวชั้นเดียว 3 หลัง วงเงิน 3,218,000 บาท การก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จทั้ง 3 หลัง มีการใช้ประโยชน์ 2 หลัง (คิดเป็นร้อยละ 66.67) และไม่ได้ใช้ประโยชน์ 1 หลัง (ร้อยละ 33.33) คือ อาคารบริการนักท่องเที่ยว หมู่ที่ 1 ต.ลานข่อย อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง ซึ่งได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ ตั้งแต่ 29 ธ.ค. 2557 ตามสัญญาจ้างเลขที่ 14/2557 ลงวันที่ 3 ก.ย. 2557 แต่ไม่มีการใช้ประโยชน์อาคารบริการนักท่องเที่ยว เนื่องจากสถานที่ก่อสร้างตั้งอยู่ถนนสาย 2 ไม่มีรถสัญจรไปมา การคมนาคมไม่สะดวกหมือนกับถนนสายหลัก จึงปล่อยให้สภาพอาคารทรุดโทรม ฝาพนังแตกร้าว และประตูชํารุด
ส่วนในปีงบฯ 2558 การใช้ประโยชน์วัสดุอุปกรณ์ และสิ่งก่อสร้างไม่คุ้มค่า หรือไม่ได้ใช้ประโยชน์ มี 2 กิจกรรม ดังนี้
1.กิจกรรมปรับปรุงภูมิทัศน์ถ้ํามาลัยเทพนิมิต งบฯ 4,984,000 บาท ดําเนินงานโดย สํานักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.พัทลุง จากการตรวจสอบพบว่า งานก่อสร้างใน ส่วนต่าง ๆ แล้วเสร็จได้ใช้ประโยชน์ไปแล้ว ยกเว้นส่วนระบบงานส่งน้ําประปาที่จ่ายไปยังชุมชน บ้านนอก-ม่วงหวาน ยังไม่มีการใช้ประโยชน์แต่อย่างใด เนื่องจากอยู่ระหว่างการวางแผนขอบริหารจัดการใช้น้ําประปาของชุมชนกับสาํนักงานเทศบาลเมืองพัทลุง
2.กิจกรรมปรับปรุงภูมิทัศน์ และก่อสร้างสิ่งอํานวยความสะดวกน้ําตกไพรวัลย์ งบฯ 7,351,000 บาท ดําเนินงานโดย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด จากการตรวจสอบพบว่า ในส่วนของงานก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ และงานก่อสร้างห้องน้ํา-ห้องสุขาแล้วเสร็จ คณะกรรมการตรวจรับงานจ้างได้ตรวจรับไว้ถูกต้องแล้ว แต่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ เนื่องจากอยู่ระหว่างการประสานงานของสํานักงานจังหวัดฯ กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด เพื่อดําเนินการโอนทรัพย์สินให้กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ เข้าไปดูแลบํารุงรักษา และใช้ประโยชน์ ส่วนงานปรับปรุงลานจอดรถเป็นลานคอนกรีตเสริมเหล็กแล้วเสร็จ ได้มีการใช้ประโยชน์แล้ว
โดย สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า เพื่อให้การดําเนินงานของโครงการบรรลุวัตถุประสงค์ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และคุ้มค่าการใช้จ่ายเงินงบฯ ให้ผู้ว่าราชการ จ.พัทลุง พิจารณาดําเนนิการ ดังนี้
1.กรณีชั้นเหล็กวางสินค้าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ สั่งการให้สํานักงานพัฒนาชุมชน จ.พัทลุง พิจารณาวิธีการ หรือรูปแบบในการบริหารจัดการให้มีการใช้ประโยชนอ์ย่างคุ้มค่า
2.สั่งการให้สํานักงานพัฒนาชุมชน จ.พัทลุง ในการเสนอโครงการครั้งต่อไป ควรศึกษาความเป็นไปได้ของกิจกรรม/โครงการในด้านต่าง ๆ อย่างรอบคอบ โดยเฉพาะการสํารวจความเหมาะสมของพื้นที่โครงการ โดยต้องมีรายละเอียดข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้องตามความเป็นจริง เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จากการไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการ หรือปริมาณนักท่องเที่ยวมีจํานวนน้อย ทําให้สูญเสียงบประมาณโดยไม่เกิดประโยชน์ และให้ดําเนินการหาแนวทางการใช้ประโยชน์อาคารบริการนักท่องเที่ยวที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่ไม่ใช้ประโยชน์ให้สามารถใช้ประโยชน์และเกิดความคุ้มค่า
3.สั่งการให้สํานักงาน จ.พัทลุง เร่งรัดให้มีการถ่ายโอนทรัพย์สินให้กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์และบํารุงรักษา ต่อไป
4.ในโอกาสต่อไป การจัดทําโครงการที่มีกิจกรรมแจกสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ ให้กําชับหน่วยงานที่ รับผิดชอบให้ความสําคัญในการสํารวจความต้องการ และความจําเป็นของกลุ่มเพื่อที่จะได้สนับสนุนให้ตรงความต้องการ และความจําเป็นอย่างแท้จริง
5.กําชับหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดทําโครงการต่าง ๆ ให้ความสําคัญกับการติดตามประเมินผล การดําเนินงานเพื่อให้บรรลุผลสําเร็จทั้งทางด้านประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความคุ้มค่าในการใช้จ่ายเงินงบประมาณ
.................
จากข้อมูลผลการตรวจสอบของสำนักวานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทั้งหมดที่กล่าวข้างต้น โครงการนี้จึงนับเป็นกรณีศึกษาที่สะท้อนภาพปัญหาการบริหารจัดการงานของหน่วยงานท้องถิ่นที่ดูเหมือนจะล้มเหลว และขาดประสิทธิภาพอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการดำเนินงานที่ล่าช้า การเบิกจ่ายเงินที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบฯ รวมถึงการไม่ได้ใช้วัสดุอุปกรณ์ และสิ่งก่อสร้างที่ได้รับการสนับสนุนให้เกิดประโยชน์ และคุ้มค่า