“กรณ์” แจงเดินหน้า “ปุ๋ยสั่งตัด” และ “ประกันภัยนาข้าว”
เผยผู้ที่มีสิทธิ์ร่วมโครงการปุ๋ย 4 ล้านรายจากประกันรายได้ จับงบชดเชยส่วนต่างราคาถูก 3.9 พัน ลบ. หนุนเงินกู้เกษตรกรซื้อปุ๋ย 3 หมื่นล้าน ลบ. คิด ดบ.ร้อยละ 7 ด้านประกันภัยนาข้าวปีนี้รอตกลงค่าเบี้ย 130 บาทกับบริษัทประกันวินาศภัย
วันที่ 20 พ.ค.54 นายกรณ์ จาติกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าว “แนวทางการดำเนินงานโครงการปุ๋ยลดต้นทุนและการประกันภัยข้าวนาปี 2554” ว่าตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 6 พ.ค. 54 ที่เห็นชอบให้ดำเนินงานโครงการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร โดยกำหนดราคาปุ๋ย 6 สูตร ได้แก่ 46-0-0, 16-20-0, 16-16-8, 16-8-8, 18-12-6, และ 15-15-15 พร้อมเห็นชอบให้มีการชดเชยส่วนต่างราคาปุ๋ยเคมีให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการกิโลกรัมละ 1.50 บาทหรือตันละ 1,500 บาท
รมว.คลัง กล่าวต่อว่าจะเปิดให้ร้านค้าและสหกรณ์ลงทะเบียนจำหน่ายปุ๋ยในโครงการวันที่ 26 พ.ค.นี้ โดยร้านค้าที่สนใจสามารถขึ้นทะเบียนที่ ธ.ก.ส.ในพื้นที่ สำหรับเกษตรกรที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการนี้จะต้องเข้าร่วมโครงการประกันรายได้ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง ปี 53/54 ซึ่งปัจจุบันมี 4,786,160 ราย โดยจะได้รับการชดเชยตามจำนวนพื้นที่เพาะปลูกที่มีสิทธิตามโครงการประกันรายได้ ซึ่งจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 3,901 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินชดเชยส่วนต่างราคาปุ๋ย 3,450 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นค่าดำเนินการและอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่เจ้าหน้าที่และเกษตรกร
“ถ้าเกษตรกรต้องการซื้อปุ๋ยเป็นเงินสด สามารถชำระที่ ธ.ก.ส.สาขา จากนั้น ธ.ก.ส.จะออกใบจัดหาปุ๋ยให้ไปรับ ณ ร้านค้าที่ขึ้นทะเบียน ซึ่ง ธ.ก.ส.จะโอนค่าปุ๋ยให้ร้านค้าตามใบจัดหา ส่วนกรณีที่เกษตรกรต้องการกู้เงินจาก ธ.ก.ส.เพื่อซื้อปุ๋ย ธนาคารได้เตรียมวงเงินไว้ 30,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี” นายกรณ์ กล่าว
ทั้งนี้ ดร. ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่าปุ๋ยเคมีที่ขึ้นทะเบียนเพื่อผลิตจำหน่ายมีทั้งหมด 798 สูตร ซึ่งดินแต่ละพื้นที่มีความต้องการปุ๋ยที่แตกต่างกัน แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังใช้ปุ๋ยโดยไม่มีการวิเคราะห์ดิน แต่เมื่อปี 2540–2551 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้สนับสนุนให้ ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ และคณะ ประดิษฐ์ชุดตรวจสอบเอ็นพีเคในดินแบบรวดเร็ว และยังแนะนำ “ปุ๋ยสั่งตัด” ซึ่งเป็นปุ๋ยที่ออกแบบเฉพาะพื้นที่ ตามความต้องการของดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่างกัน ซึ่งจะช่วยลดการใช้ปุ๋ยได้เป็นจำนวนมาก ดังนั้นปุ๋ย 6 สูตร ที่ ธ.ก.ส. นำเข้าร่วมโครงการถือว่าเป็นแม่ปุ๋ยที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ได้
“พื้นที่ภาคกลางใช้ปุ๋ยเกินความจำเป็นเฉลี่ยปีละ 1 ล้านตัน ปัญหาที่เกิดตามมาคือทำให้สารต่างๆ ตกค้างในดิน ถ้าใช้ไนโตรเจนมากข้าวก็จะล้มและเกิดปัญหาเพลี้ยระบาด ดังนั้นการใช้ปุ๋ยสั่งตัดนอกจากจะช่วยลดรายจ่ายของเกษตรกรแล้วยังช่วยควบคุมสารอาหารในดินได้อีกทาง” ดร.ประทีป กล่าว
ทั้งนี้เกษตรกรที่สนใจคู่มือปุ๋ยสั่งตัด สามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ www.ssnm.agr.ku.ac.th หรือ www.banrainarao.com
นายกรณ์ ยังกล่าวถึงโครงการประกันภัยนาข้าว ว่ายังอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทประกัน เชื่อว่า ถ้าเรียบร้อยแล้วจะมีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมจำนวนมาก เนื่องจากจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยเป็นการจูงใจ
โดยนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการประกันภัยนาข้าวที่ผ่านมติ ครม.นั้น สำหรับลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการรัฐจะอุดหนุนเบี้ยประกัน 70 บาทต่อไร่ และเกษตรกรจ่าย 60 บาทต่อไร่ หากบริษัทประกันรับเบี้ย 130 บาทต่อไร่ ธ.ก.ส.จะช่วยจ่ายเบี้ยประกันให้กับเกษตรกรอีกไร่ละ 10 บาท ซึ่งถ้าเกิดความเสียหาย เกษตรกรจะได้รับการชดเชยจากบริษัทประกันภัยไร่ละ 1,400 บาท และค่าชดเชยจากรัฐที่ให้อยู่แล้วไร่ละ 606 บาท ซึ่งต้องรอการเจรจากับบริษัทประกันวินาศภัยอีกครั้งหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าโครงการประกันภัยนาข้าวในปีนี้แตกต่างจากการประกันภัยปีก่อนที่ใช้สถิติน้ำฝนจากกรมอุตุฯ เป็นตัวชี้วัด แต่ในปีนี้กลับอิงประกาศกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้บริษัทประกันภัยที่ต้องการเข้าร่วมต้องพิจาณาอย่างถ้วนถี่ เพราะจะทำให้บริษัทมีความเสี่ยงสูงขึ้น .