ขมวดเงื่อนปม‘ครม.ทักษิณ’ปรับภาษีเหล้า เทียบ ก.ล.ต.สหรัฐฯคดีสินบนดิอาจิโอ
INFO : พลิกข้อมูล-เงื่อนปมคดีสินบนดิอาจิโอฯ ก.คลัง คนชงปรับภาษีเหล้าตามดีกรี ครม.ทักษิณ อนุมัติช่วงปี'47-48 เทียบสำนวน ก.ล.ต.สหรัฐฯ
กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง กรณีคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา (เอสอีซี) เปิดเผยข้อมูลว่า บริษัท ดิอาจิโอ พีแอลซี ผู้ผลิตเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง สก็อตช์วิสกี้ ‘จอห์นนี่ วอล์คเกอร์’ และ ‘วินเซอร์’ ยอมจ่ายค่าปรับกว่า 492 ล้านบาท เพื่อยุติคดีในข้อหาจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ อินเดีย และไทย ยาวนานกว่า 6 ปี
โดยเฉพาะประเทศไทย เอสอีซี ระบุว่า บริษัท ดิอาจิโอฯ จ่ายค่านายหน้าผ่าน DT (Diageo Moet Hennessy Thailand) เป็นเงินกว่า 5.9 แสนดอลล่าร์สหรัฐฯ (ราว 18 ล้านบาท) ให้กับบริษัทที่ปรึกษาทางการเมือง โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยเป็นผู้รับผลประโยชน์ โดยเริ่มตั้งแต่ช่วง เม.ย. 2547-ก.ค. 2551 เดือนละ 12,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ/เดือน รวม 49 เดือน โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยดังกล่าว เคยนั่งเก้าอี้รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ รวมถึงเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยด้วย
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นมติคณะรัฐมนตรีระหว่างปี 2547-2548 พบว่า อยู่ช่วงรอยต่อระหว่างรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 1 และ 2 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว กระทรวงการคลัง มีการเสนอการปรับอัตราภาษีสุรา และแก้ไขปรับปรุงภาษีสรรพสามิต หลายครั้งด้วยกัน สรุปได้ดังนี้
ปี 2547
เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2547 กระทรวงการคลังมีหนังสือ ‘ลับมาก’ ด่วนที่สุด ที่ กค 0623/ล. 289 ถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เสนอร่างกฏหมายเพื่อยกเว้นภาษีสรรพสามิต ภาษีสุรา ค่าแสตมป์ยาสูบ และค่าธรรมเนียมสำหรับการประทับตราไพ่ โดยหนึ่งในกฏหมายดังกล่าว มีการเสนอร่างกฏกระทรวง ว่าด้วยการงดเว้นไม่เรียกเก็บภาษีสุรา พ.ศ. …. ด้วย
ถัดมาเพียงวันเดียว เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2547 คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษากันแล้วมีมติอนุมัติตามที่กระทวงการคลังเสนอ กระทั่งเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2547 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำหนังสือแจ้ง รมว.คลัง (ข้อมูลจากเว็บไซต์เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ปรากฏชื่อ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ เป็น รมว.คลัง แต่ไม่มีข้อมูลยืนยันว่า ร.อ.สุชาติ เป็นคนเสนอเรื่องนี้) ว่าได้นำร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
อย่างไรก็ดีจากการสืบค้นข้อมูลในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ไม่ปรากฏว่าเผยแพร่กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวในช่วงเดือน พ.ค. 2547 แต่อย่างใด
(อ่านประกอบ : ก.คลังชง‘ลับมาก’-ครม.แม้ว ไฟเขียวกฏกระทรวงงดเว้นภาษีเหล้าปี47 คดีดิอาจิโอ, ‘ทักษิณ’คิด‘ทนง’ทำ!ปรับภาษีเหล้าปี47-48 เทียบข้อมูลก.ล.ต.สหรัฐฯคดีสินบนดิอาจิโอ)
หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2547 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงการคลัง รายงานว่า ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เสร็จแล้วตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการทั้ง 2 ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว (ไม่มีข้อมูลว่าคณะรัฐมนตรีขณะนั้นอนุมัติหลักการร่างดังกล่าวเมื่อวันใด และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเมื่อใด)
เบื้องต้นสำหรับร่าง พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อแก้ไขปัญหาภาษีสุราซ้ำซ้อน และปรับปรุงโครงสร้างการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต
มีสาระสำคัญคือ สุราแช่ (สุราที่ไม่ได้กลั่น และให้หมายความถึงสุราแช่ที่ได้ผสมกับสุรากลั่นแล้ว แต่มีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 23 ดีกรีด้วย) สุรากลั่น (สุราที่ได้กลั่นแล้ว และให้หมายความรวมถึงสุรากลั่นที่ได้ผสมกับสุราแช่แล้วแต่มีแรงแอลกอฮอล์เกินกว่า 23 ดีกรี และสุรากลั่นที่ได้ผสมกับของดื่ม หรือเครื่องดื่มชนิดอื่นด้วย) และ อื่น ๆ ตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะเก็บอัตราภาษีมูลค่าร้อยละ 90 ลิตร หรือลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ทั้งนี้ตามที่อธิบดี (กรมสรรพสามิต) กำหนด หน่วยละ 1,000 บาท
ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่า เพื่อกำหนดให้สุราเป็นสินค้าตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (เพิ่มตอนที่ 2/1 แห่งพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตท้าย พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527) โดยนำสุราแต่ละประเภทที่เคยกำหนดเป็นบทนิยามของ พ.ร.บ.สุรา พ.ศ.2493 มากำหนดไว้ในรายการในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต โดยได้เปลี่ยนแปลงรายละเอียดของสุราแช่ และสุรากลั่นไปจากเดิม กล่าวคือ เพิ่มแรงแอลกอฮอล์สำหรับสุราแช่ที่ผสมกับสุรากลั่นจากเดิมไม่เกิน 15 ดีกรี เป็นไม่เกิน 23 ดีกรี และแรงแอลกอฮอล์สำหรับสุรากลั่นที่ได้ผสมกับสุราแช่จากเดิมเกินกว่า 15 ดีกรี เป็นเกินกว่า 23 ดีกรี และให้รวมถึงสุรากลั่นที่ผสมกับของดื่มหรือเครื่องดื่มชนิดอื่นด้วย
โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ดำเนินการเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2548 แต่เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงในวันที่ 5 ม.ค. 2548 จึงไม่อาจดำเนินการเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ กระทั่งเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2548 กระทรวงการคลัง (ลงนามโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รมว.คลัง ขณะนั้น) ได้พิจารณาเห็นชอบร่างดังกล่าว และนำเสนอเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
ต่อมา เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2548 คณะรัฐมนตรีลงมติให้กระทรวงการคลังรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ไปพิจารณาทบทวนในประเด็นความสอดคล้องกับหลักการจัดเก็บภาษีสุราให้สอดคล้องกับอัตราส่วนตามแรงแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ (ดีกรี) และการให้ความคุ้มครองผู้ผลิตสุราภายในประเทศ การดูแลผู้บริโภคด้านราคา และคุณภาพสุรา รวมทั้งระบบการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอันเป็นรายได้ของรัฐ ให้เป็นไปด้วยความเหมาะสมและเป็นธรรม ทั้งนี้หากพิจารณาแล้วเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่ขัดแย้งกับหลักการดังกล่าว ให้ดำเนินการร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวต่อไปได้ โดยให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ไม่มีข้อมูลระบุว่า ท้ายสุดแล้วร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้ประกาศใช้ในรัฐบาลชุดนี้ หรือมีการปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเพิ่มเติมหรือไม่
(อ่านประกอบ : แกะรอย ก.คลังปรับภาษีเหล้าตามดีกรี รอยต่อ รบ.ทักษิณ 1-2 ช่วงคดีดิอาจิโอ)
ปี 2548
ตามรายงานของ เอสอีซี ระบุว่า ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2548 มีการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของรัฐบาลไทย และทางเจ้าหน้าที่อาวุโสของบริษัท ดิอาจิโอฯ และ DT โดยการประชุมครั้งนี้มีนายกรัฐมนตรีเข้าร่วม(สำนักข่าวอิศรา : นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะนั้น) ต่อมาในเดือน พ.ค. 2548 ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรีได้รับรองบริษัท ดิอาจิโอฯ ให้เข้ามาจัดการด้านภาษี และข้อพิพาทด้านศุลกากร รวมไปถึงนายกรัฐมนตรีกล่าวทางวิทยุ เรื่องรับรองสถานะของบริษัท ดิอาจิโอฯ โดยรับรองว่า กรณีนี้สามารถคิดภาษีสำหรับสินค้าในประเทศตามรูปแบบ ‘เฉพาะ’ ที่คิดตามปริมาณ โดยไม่จำเป็นต้องใช้รูปแบบ ‘ad valorem’ หรือคิดตามราคาสินค้า
จากการสืบค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต พบว่า ในช่วงปี 2548 มีสื่อหลายสำนัก เขียนรายงาน และบทความอ้างอิงคำพูดของนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ที่กล่าวผ่านรายการวิทยุกระจายเสียง ‘นายกฯทักษิณคุยกับประชาชน’ ถึงแนวคิดในการปรับปรุงโครงสร้างภาษีสุรา รวมถึงนายทนง พิทยะ เคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า นายทักษิณ มีแนวคิดปรับโครงสร้างอัตราภาษีสุรา และกระทรวงการคลังจะนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณา และเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีด้วย
ต่อมาในช่วงเดือน ก.ย. 2548 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ในการออกกฎกระทรวงกำหนดชนิดของสุราและอัตราภาษีสุรา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2548 และมีการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยมีการปรับอัตราภาษีใหม่ โดยมีนายทนง พิทยะ รมว.คลัง (ขณะนั้น) ลงนาม ระบุสาระสำคัญว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงอัตราภาษีของสุรากลั่น ชนิดสุราปรุงพิเศษ และชนิดสุราพิเศษให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนลดการบริโภคสุรา เนื่องจากการบริโภคสุราที่มีแรงแอลกอฮอล์สูง ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนมากกว่าการบริโภคสุราที่มีแรงแอลกอฮอล์ต่ำ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ (อ่านประกอบ : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2548/00170270.PDF)
อย่างไรก็ดีกรณีนี้ นายทนง พิทิยะ อดีต รมว.คลัง ขณะนั้น เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ไม่เคยได้ยินชื่อบริษัท ดิอาจิโอฯ มากอ่น และไม่ทราบเรื่องที่ล็อบบี้ แต่สาเหตุที่มีการปรับโครงสร้างภาษีสุราดังกล่าว เนื่องจากเจ้าของบริษัทเบียร์แห่งหนึ่ง มาพบและมาเล่าให้ฟังว่า ที่ผ่านมาการเก็บภาษีแอลกอฮอล์ที่คิดตามปริมาณ ทำให้เสียเปรียบคู่แข่ง เนื่องจากคู่แข่งมีดีกรีสูงกว่าในปริมาณที่เท่ากัน จึงอยากให้มีการคิดภาษีให้เป็นไปตามดีกรี นอกจากนั้น การเก็บภาษีสุราของไทย มีหลายรูปแบบไม่เป็นมาตรฐาน ขณะที่ไทยกำลังปรับตัวเข้าสู่อาเซียน จึงได้มอบหมายให้กรมสรรพามิต ไปศึกษาเรื่องนี้ และก็มีการเสนอให้มีการปรับโครงสร้างภาษีตามที่ปรากฎเป็นข่าว ซึ่งไม่ได้มียี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งได้ประโยชน์ ให้เป็นไปตามหลักสากล
นายทนง กล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีการล็อบบี้จ่ายเงินให้กับใครคนใดคนหนึ่ง ที่มีการระบุชัดในรายงานก็คงต้องไปหามาให้ได้ว่าเป็นใคร แต่ตนไม่เคยทราบเรื่องนี้มาก่อน
(อ่านประกอบ : เปิดหนังสือ‘ลับมาก’ก.คลังปี’48-ครม. แม้วอนุมัติ ปรับปรุงภาษีสุรา ช่วงคดีดิอาจิ)
ขณะที่ข้อมูลล่าสุด พบว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนขึ้นมาไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีนี้อย่างน้อย 2 สำนวน โดยสำนวนแรกเกี่ยวกับกรณีกล่าวหาหลบเลี่ยงภาษี โดยเกี่ยวกับการรับสินบนจากบริษัท ดิอาจิโอฯ มีผู้ถูกกล่าวหา 4 ราย ได้แก่ นายประพล มิลินทจินดา กรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท หลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) นายพันธ์เลิศ ใบหยก ประธานกรรมการเครือโรงแรมใบหยก นายชัยยันต์ โปษยานนท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมสรรพสามิต และนายวัฒนา ยูถะสุนทร เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร เป็นผู้ถูกกล่าวหา
สำนวนที่สอง มีผู้ถูกกล่าวหาเป็นข้าราชการทางการเมือง แต่ไม่เปิดเผยชื่อ มีพฤติการณ์คือ ปรากฏตามข่าวของสื่อมวลชน กรณี บ.ดิอาจิโอ พีแอลซี (Diageo PLC) ผู้ผลิตสุรารายใหญ่ ยี่ห้อจอห์นนี่ วอล์กเกอร์ ยอมจ่ายเงินค่าปรับ จำนวน 16 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ฯ ของสหรัฐ เพื่อยุติคดีละเมิดกฎหมายว่าด้วยการกระทำทุจริตในต่างประเทศ โดยผู้บริหารของดิอาจิโอ ได้ยอมรับว่ามีการจ่ายสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอินเดีย เกาหลีใต้ และไทย เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีการนำเข้าในแต่ละประเทศ ซึ่งในรายของไทยมีการจ่ายเงินมากถึง 600,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 18 ล้านบาท ในระหว่างปี 2547 - 2551 ซึ่งเกี่ยวพันกับ ริชมอนเด้ หรือชื่อใหม่ว่า ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย)บริษัทลูกของดิอาจิโอ พีแอลซี
โดยทั้งสองสำนวนดังกล่าว มีการเปิดเผยความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2560 ที่ผ่านมา อยู่ระหว่างสอบปากคำพยานบุคคล และรวบรวมพยานหลักฐาน
(อ่านประกอบ : ป.ป.ช.สอบ‘ประพล-พันธ์เลิศ-บิ๊ก ขรก.’ คดีดิอาจิโอเลี่ยงภาษี-ปมสินบนยังไม่เปิดชื่อ)
ทั้งหมดคือข้อมูลที่สำนักข่าวอิศรารวบรวม เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับรายงานของ ก.ล.ต.สหรัฐฯ หรือ เอสอีซี อย่างไรก็ดีกรณีนี้ยังไม่มีการระบุชื่อว่า ใครเป็นผู้รับสินบน แต่อย่างใด
ทั้งนี้ไม่ใช่แค่รัฐบาลของนายทักษิณเท่านั้น ที่มีการปรับโครงสร้างภาษีสุรา แต่ในระหว่างปี 2550-2551 รัฐบาลขณะนั้นได้ปรับปรุงโครงสร้างภาษีสุราด้วย โดยเป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวตามรายงานของ เอสอีซี ที่ระบุว่า มีการจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐไทย
สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอให้ทราบต่อไป !
อ่านประกอบ :
เปิดสำนวนคดีสินบน บ.เหล้าข้ามชาติ ระบุชัดรองเลขาธิการนายกฯ-คน ทรท. เอี่ยว?
พลิกงบการเงิน'ดิอาจิโอ'พบตัวเลขปริศนา"ค่าเผื่อหนี้สิน"1,750ล.ช่วงดคีสินบนข้ามชาติ