จากกระบี่ถึงเทพา...กระแสต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินลามทั่วใต้!
กระแสต้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้กำลังร้อนแรงและขยายตัวออกไปเรื่อยๆ
ในส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กลุ่มคัดค้านที่ใช้ชื่อว่า “เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน” ได้นัดแสดงพลังไปเมื่อวันจันทร์ที่ 13 ก.พ. เป็นการรวมตัวกันในพื้นที่ ก่อนจะนัดบุกทำเนียบรัฐบาลในวันศุกร์ที่ 17 ก.พ. ท่ามกลางความเคลื่อนไหวของภาครัฐสั่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ระดมผู้สนับสนุนให้ออกมาประกาศจุดยืนสู้
ขณะที่ภาคใต้ตอนล่าง มีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา อ.เทพา จ.สงขลา ก็มีแรงต้านจากคนในพื้นที่ นักอนุรักษ์ และองค์กรพัฒนาเอกชนเช่นกัน
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 ก.พ. มีการจัดเวทีสาธารณะเรื่อง “การพัฒนาต้องตอบโจทย์สันติภาพและสิ่งแวดล้อม เราขอร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ” ที่สนามชั่วคราวพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าเทพา บ้านคลองประดู่ อ.เทพา
เวทีในครั้งนี้ ถือเป็นการแสดงพลังครั้งใหญ่ของเครือข่ายภาคประชาชนและชาวบ้านจากหลายจังหวัดของภาคใต้กว่า 2,000 คน เพื่อร่วมคัดค้านนโยบายการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ซึ่งรัฐบาลโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กำลังผลักดันอยู่หลายโครงการ ทั้งกระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช สงขลา รวมไปถึง อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี แม้ล่าสุดโครงการหลังจะเริ่มเงียบลงไป
กิจกรรมเวทีสาธารณะที่เทพา มีการขึงป้ายผ้าแสดงสัญลักษณ์และข้อความคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยมีชาวบ้านในพื้นที่กลุ่มที่ต่อต้านโรงไฟฟ้า ช่วยรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้กับผู้มาร่วมงาน พร้อมเปิดโต๊ะบริจาคสมทบทุนกิจกรรมของชาวบ้าน มีตัวแทนนักวิชาการ นักกิจกรรม ภาคประชาสังคม และชาวบ้านที่เสี่ยงได้รับผลกระทบ ร่วมปราศรัยบนเวที อาทิ เครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมสงขลา-สตูล, เครือข่ายหยุดถ่านหินสงขลา, เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น, กลุ่มรักบ้านเกิดสะบ้าย้อย, เครือข่ายหยุดถ่านหิน, กลุ่มชุมชนทุ่งพอ อ.สะบ้าย้อย ตลอดจนเครือข่ายนักศึกษาจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ เยาวชน Beach for Life พร้อมมีการละหมาดฮายัตด้วย
นายดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (Permatamas) กล่าวว่า เวทีครั้งนี้เป็นการรวมพลังของชาวบ้านในภาคใต้ที่ต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินทั้งหมดในแผนพัฒนาภาคใต้ เนื่องจากมีข้อมูลทางวิชาการยืนยันชัดเจนแล้วว่า ถ่านหินมีผลกระทบรุนแรง ควรใช้พลังงานจากทางเลือกอื่นๆ แทน
“พี่น้องทั้งภาคใต้จับมือร่วมกันทั้งหมดแล้ว เพื่อส่งสัญญาณไปถึงรัฐบาลที่กำลังจะมีท่าทีออกมาเร็วๆ นี้ว่าจะเดินหน้าหรือหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นเทพาหรือกระบี่ เราไม่ต้องการการชะลอ แต่ขอให้ยกเลิกไปเลย ซึ่งหากรัฐบาลยืนยันว่าจะเดินหน้าต่อ ชาวบ้านในภาคใต้ทั้งหมดก็จำเป็นต้องยกระดับการเคลื่อนไหว ซึ่งหวังว่ารัฐบาลจะเลือกฟังเหตุผลและความถูกต้อง” นายดิเรก กล่าว
ขณะที่ตัวแทนจากเครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมสงขลา-สตูล กล่าวว่า “เราไม่ได้ไขว่คว้าหาถ่านหิน ภาคใต้ไม่ต้องการแลนด์บริดจ์ (มีโครงการจะสร้างท่าเรือและถนนเชื่อมทะเลสองด้าน คืออ่าวไทยกับอันดามัน เรียกว่าแลนด์บริดจ์) เราไม่มีสิทธิ์เลือกเกิด แต่มีสิทธิ์เลือกรักษาแผ่นดิน มาตรา 44 ใช้กับคนที่คอร์รัปชั่น ล้างผลาญประชาชน ไม่ใช่ใช้กับประชาชน”
ดร.เกื้อ ฤทธิบูรณ์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) กล่าวว่า สิ่งที่พี่น้องประชาชนออกมาเคลื่อนไหว เป็นสิทธิ์อันชอบธรรมที่ควรได้รับ
“รัฐบอกว่าได้ศึกษารอบด้านทั้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA แต่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่นำเสนอออกมาไม่ได้สะท้อนความเป็นพื้นที่เลย รัฐบอกว่าป่าที่นี่มีแค่ปอทะเลเพียงตาตุ่ม เจอแต่ปลาช่อน ปลานิล เป็นการบอกว่างานวิชาการของรัฐเป็นสิ่งที่เชื่อไม่ได้ พี่น้องจึงต้องยืนหยัดต่อสู้เพื่อกำหนดชะตากรรมและการพัฒนาประเทศของตนเอง ต้องยืนยันไม่ให้ใช้ถ่านหินอีกต่อไป”
กิจกรรมจบลงด้วยการอ่านแถลงการณ์ร่วมกัน ระบุข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 4 ข้อ คือ
1.ขอให้รัฐบาลยุติการผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพารวมทั้งโรงไฟฟ้ากระบี่และปะนาเระ จ.ปัตตานี โดยอย่าใช้อำนาจทหารฟันธงเข้าข้างฝ่ายทุน เพราะความเสียหายจะเกินเยียวยา รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีเอาแต่พูดทุกวันศุกร์ แต่กลับไม่เคยฟังเสียงโดยตรงจากประชาชน
2.ขอให้รัฐบาลหยุดนโยบายการยัดเยียดอุตสาหกรรมมลพิษมาให้พี่น้องจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งเหมืองแร่ โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าขยะ นิคมอุตสาหกรรมมลพิษในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงเขื่อน และการถมหินทำลายชายหาด ซึ่งล้วนนำเข้ามาโดยไม่เคยถามประชาชน
3.องค์กรภาคประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอกระบวนการมีส่วนร่วมในการร่วมคิดร่วมทำร่วมตัดสินอย่างจริงใจในทุกกรณีของการพัฒนาที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน อย่าใช้การมีส่วนร่วมเป็นเพียงวาทกรรม โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพามีขนาดใหญ่มาก มลพิษและผลกระทบครอบคลุมกว้างขวาง แต่ทำไมคนปัตตานี ยะลา นราธิวาส รวมทั้งสงขลาและสตูล กลับถูกละเลย ไม่มีส่วนร่วมใดๆ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา
4.การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องตั้งมั่นในการเคารพต่อเสียงประชาชน มุ่งมั่นรักษาฐานชีวิต ฐานทรัพยากรสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และเคารพต่อกระบวนการสันติภาพ ไม่ควรให้การพัฒนาที่ประชาชนไม่ต้องการมาเป็นเงื่อนไขและเป็นภัยแทรกซ้อนต่อสันติภาพที่กำลังเป็นความหวังของพื้นที่
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : 1-3 บรรยากาศเวทีสาธารณะที่ อ.เทพา จ.สงขลา