"นางฟ้าชุมชน" แห่งโรงพยาบาลเทพา พลิกชีวิตใหม่ให้ผู้ป่วยติดเตียง
จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่หนึ่งที่มี "ผู้ป่วยติดเตียง" ในสัดส่วนที่สูงมาก ซึ่งผู้ป่วยประเภทนี้ ถ้าได้รับการดูแลไม่ดี จะลุกลามเป็น “แผลกดทับ” และกลายเป็นภาวะแทรกซ้อนจนทำให้เสียชีวิตได้
สาเหตุของผู้ป่วยติดเตียง มีทั้งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบ ถูกยิง ถูกระเบิด ได้รับบาดเจ็บสาหัสจนลุกเดินไม่ได้ มีอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต กับอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่ประสบอุบัติเหตุจากการเดินทางหรือการทำงาน รวมทั้งกลุ่มที่เป็นโรคเบาหวานเข้าขั้นร้ายแรงจนเป็นอัมพฤกษ์ ซึ่งในพื้นที่นิยมรับประทานอาหารและเครื่องดื่มรสหวาน ทำให้มีผู้ป่วยประเภทนี้อยู่มาก
ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูง โดยเฉพาะผู้ที่เป็น “แผลกดทับ” แล้ว และแทบไม่มีทางหายขาด กลายเป็นยิ่งสร้างภาระให้กับทั้งครอบครัวผู้ป่วยและสถานพยาบาลในท้องถิ่นที่ต้องรับดูแล
กลุ่มพยาบาลอาสา โรงพยาบาลเทพา จังหวัดสงขลา จึงค้นหาวิธีการที่จะช่วยผู้ป่วยเหล่านี้ โดยทดลองใช้แผ่นเจลที่ผลิตจากยางพารา ซึ่งปกติจะใช้กับผู้ป่วยในห้องผ่าตัด มาประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยติดเตียง ปรากฏว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจมาก แผลผู้ป่วยเริ่มหายและมีกำลังใจที่ดี
พรวิลัย บวรณรงค์เดช พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลเทพา แกนนำกลุ่มพยาบาลอาสา บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการรวมตัวกันเป็นอาสาสมัครว่า กลุ่มของพวกเธอมีความตั้งใจในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งต้องใช้ทั้งกำลังกายและกำลังใจของบุคลากรทางสาธารณสุขเป็นอย่างมาก เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
“เราไม่อยากให้ชุมชนทอดทิ้งกัน จึงเกิดกลุ่มจิตอาสาไปดูแลคนป่วยในพื้นที่ เป็นเครือข่ายกันในหมู่บ้าน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และโรงพยาบาลระดับอำเภอ ชาวบ้านเรียกพวกเราว่า ‘นางฟ้าชุมชน’ เพราะเมื่อลงไปในชุมชน เราไม่ใช่แค่ดูแลสุขภาพ แต่ดูทุกเรื่องทั้งความเป็นอยู่ สุขอนามัย ปากท้อง ชาวบ้านจึงเรียกว่าคุณหมอนางฟ้า หรือนางฟ้าชุมชน” พรวิลัย บอก
จากจุดเริ่มต้นในการเดินเข้าไปดูแลสุขภาพของผู้คนในชุมชน วันหนึ่งพวกเธอก็พบปัญหา คือผู้ป่วยเป็นแผลกดทับขนาดใหญ่ จากการเป็นผู้ป่วยติดเตียงมาเป็นเวลานาน และนั่นคือจุดเริ่มต้นของแนวคิดการประยุกต์ใช้แผ่นเจลที่ทำจากยางพารา มาใช้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้
“เราเจอคนไข้รายหนึ่ง เป็นแผลกดทับขนาดใหญ่มาก เหมือนไม่มีทางรักษาให้หายได้ หรือถ้าจะหายก็ต้องใช้เวลาหลายปี เราจะทำอย่างไรให้เขาหาย ตอนมาโรงพยาบาลก็อาการดี พอกลับไปบ้านก็แย่อีก ต้องมีอะไรสักอย่างมารองรับแผล”
“เราดูแลเขามา 2 ปี แผลแย่ลงเรื่อยๆ ทราบว่าเมื่อคนไข้นอนในห้องผ่าตัดท่าเดิมราว 6-8 ชั่วโมงแล้วใช้แผ่นเจลวางด้านล่าง ตัวคนไข้จะไม่เป็นแผล เพราะฉะนั้นคนที่เป็นแผลกดทับน่าจะใช้ได้ เพราะทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น”
โชคดีที่กลุ่มพยาบาลอาสา ได้รับการสนับสนุนแผ่นเจลจากทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ทำให้สามารถเดินหน้าช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างไม่ติดขัด
“เมื่อทดลองนำแผ่นเจลมาวางใต้แผลของคนไข้รายนี้ ปรากกว่าแผลเล็กลง และอาการโดยรวมดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดภายใน 5-6 เดือน” พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ จากโรงพยาบาลเทพา บอก
หลังจากนั้นจึงเกิดการหารือประสานงานกันระหว่างกลุ่มพยาบาลอาสาโรงพยาบาลเทพา กับ ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย จากภาควิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี ซึ่งเบื้องต้นได้บริจาคแผ่นเจลจำนวน 5 แผ่น จากนั้นก็รับว่าจะเพิ่มจำนวนให้ได้เท่ากับจำนวนผู้ป่วย โดยจากการสำรวจในอำเภอเทพา พบว่ามีผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่ต้องใช้แผ่นเจลประมาณ 150 คน
ดร.ณัฐพงศ์ เล่าว่า ศึกษาและผลิตแผ่นเจลนี้มานานร่วมกับทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (ม.อ.หาดใหญ่) กระทั่งเมื่อกลุ่มพยาบาลอาสา โรงพยาบาลเทพา เห็นว่าน่าจะใช้กับผู้ป่วยติดเตียงได้ และนำไปใช้จริงจนได้ผลดี จึงเริ่มต้นโครงการ “นางฟ้าชุมชน”
“ผมบริจาคให้เบื้องต้นจำนวน 5 ชิ้น โดยให้โครงการหาเคสที่เหมาะสมเพื่อจุดประกายโครงการ แล้วขยายต่อ คุณหมอบอกว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในห้องผ่าตัดสามารถประยุกต์ได้ แต่เรื่องของสี ความนิ่มต้องศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งแผ่นเจล 5 ชิ้นนี้ถูกนำไปใช้ศึกษาและพัฒนาต่อถึงความเหมาะสมในการใช้กับผู่ป่วยติดเตียง” ดร.ณัฐพงศ์ ระบุ
ภาควิชาเทคโนโลยียางและพอลีเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี ในฐานะผู้ผลิตแผ่นเจล สามารถผลิตได้ในราคาแผ่นละ 7,500 บาท เพื่อให้ชุมชนและคนทั่วไปสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงอีก 150 คนในอำเภอเทพา
วิธีการนำไปใช้ไม่ใช่แจกแล้วใช้ได้ทันที แต่ต้องมีคนแนะนำและดูแลวิธีการใช้ให้ได้ผล ถูกต้อง มีการเก็บข้อมูล ศึกษาขนาด และพัฒนาต่อเนื่อง เป็นโครงการที่พัฒนาทั้งกระบวนการ และให้ชุมชนมีส่วนร่วมช่วยชุมชนด้วยกัน คนที่มีโอกาสมากกว่าสามารถให้คนที่มีโอกาสน้อยกว่าได้โดยไม่ต้องรอนาน
แผ่นเจลนี้ถูกออกแบบเพื่อให้กระจายแรงกดบนพื้นผิว ผู้ป่วยที่ต้องอยู่กับที่เป็นเวลานานจะมีความเสี่ยงเกิดแผลกดทับ แผ่นเจลจะลดความเสี่ยง ผู้ใช้งานบอกว่า ผลที่ได้รับมีมากมาย จากการขยับไม่ได้แต่อยากขยับ เมื่อขยับแล้วเกิดแผล เมื่อมีแผ่นเจลก็สามารถนั่งได้จนแปรงฟันเสร็จ และตะแคงตัวช่วยตัวเองได้ เพราะมีแผ่นเจลช่วย
ในเรื่องของความคุ้มทุน ดร.ณัฐพงศ์ บอกว่า คุ้มมากกว่าคุ้ม เพราะแผ่นเจลที่ทางภาควิชาผลิตได้ ราคาถูกกว่าของต่างชาติมาก ผลที่ได้รับก็เป็นประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจของคนไข้อย่างเห็นได้ชัด ไม่สามารถตีเป็นมูลค่าได้
“แผ่นเจลชิ้นละ 7,500 บาท งบโรงพยาบาลที่มีไม่สามารถซื้อแจกได้ ผู้ป่วยกดทับบางคนมีแผลลึกและใหญ่มาก ติดเชื้อ ต้องให้ยาฆ่าเชื้อตัวแรงๆ ค่ายาครั้งหนึ่งเป็นหมื่น ความคุ้มทุนของ 7,500 บาท ถือว่าคุ้มมาก โครงการนี้ควรจะเดินหน้า เพื่อให้เห็นว่าปัญหาของผู้ป่วยกดทับแล้วพึ่งพาระบบสาธารณสุขมีราคาซ่อนอยู่เยอะ อนาคตประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และจะมีปัญหาผู้ป่วยติดเตียงมากขึ้น โมเดลนี้สามารถรองรับและรับมือกับปัญหาในอนาคตได้ด้วย”
“จากการที่ได้พูดคุยสัมผัสกับผู้ป่วยที่มีโอกาสได้ทดลองใช้แผ่นเจล พบว่า เกิดประโยชน์มากกว่าที่คาดหวังไว้ ที่สำคัญคือดีต่อสภาพจิตใจ เพราะผู้ป่วยบอกว่าชีวิตขึ้นมาก สามารถแปรงฟันได้เอง ขับถ่ายเองได้โดยไม่ต้องมีคนช่วย ทำให้มองเห็นคุณค่าของตนเอง ส่งผลถึงอนาคตทำให้อยากดูแลตนเอง มีอาชีพ ลดภาระของครอบครัว”
ดร.ณัฐพงศ์ บอกด้วยว่า การทอดสะพานให้คนที่มีโอกาสมากกว่า เข้าไปหาชาวบ้าน เป็นสิ่งที่ดี เป็นการรวมเมืองกับชนบท คนชนบทรู้สึกได้รับความช่วยเหลือ ลดช่องว่างระหว่างกัน ลดความรุนแรงลงได้ ถ้าโครงการได้เดินสายไปยังพื้นที่อื่นๆ จะเป็นตัวอย่างทำให้เกิดการเชื่อมโยงต่อกัน
ขณะที่ นายแพทย์เดชา แซ่หลี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทพา บอกว่า เป็นครั้งแรกที่ได้ร่วมวางแผนดูแลผู้ป่วยด้วยนวัตกรรมแด่ผู้ด้อยโอกาส ขอขอบคุณ ม.อ.ปัตตานี ที่ร่วมสนับสนุนโครงการ
“แผ่นเจลช่วยดูแลผู้ป่วยแผลกดทับ เป็นนวัตกรรมที่งดงาม ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น สามารถขยับทำกิจวัตรประจำวันได้โดยไม่เกิดแผลกดทับเพิ่มเติม ลดภาระต่อครอบครัว เศรษฐกิจครอบครัวดีขึ้น คุ้มทุนมากในราคา 7,500 บาทต่อราย ทั้งระยะเวลา การผ่าตัดที่มีค่าใช้จ่าย นอนพักฟื้น หากติดเชื้อและดื้อยา ยาก็ราคาแพงขึ้น เทียบกับแผ่นเจลแล้วคุ้มทุนมาก” หมอเดชา กล่าว
ด้าน อิมร่อน มุสอ ผู้ป่วยติดเตียงจากสาเหตุการตกต้นไม้จนกระดูกสันหลังหัก ร่างกายท่อนล่างไร้ความรู้สึก แผลลึกและใหญ่มาก พักฟื้นและไปกลับโรงพยาบาลมานานกว่า 3 ปี กระทั่งได้เจอแผ่นเจล ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป
“ผมนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลเป็นปีๆ ขึ้นๆ ลงๆ ระหว่างเทพา-สงขลา อีก 5 เดือนเข้าห้องผ่าตัด เจอพี่พยาบาลแนะนำให้ใช้แผ่นเจล คิดว่าจะจริงไหม เขาเอาไปให้ที่โรงพยาบาล แต่ยังไม่ได้ใช้ เอามาใช้ที่บ้าน ได้ผลกว่าที่คิดไว้ ช่วยได้มาก จากแผลใหญ่ 5 แผลเหลือ 3 แผล เมื่อก่อนสามารถใส่แก้วกาแฟเข้าไปในแผลได้ ตอนนี้ขนาดแผลลดลงเหลือเพียงขนาดนิ้วก้อย แผลดีขึ้นมาก เวลานั่งอาบน้ำ แปรงฟัน แผ่นเจลนี้สามารถช่วยได้มาก จากคนทรุดโทรม ตัวดำ ไม่มีชีวิตชีวา ไม่มีหวัง กลับมามีกำลังใจ อ้วนท้วน ฟื้นฟูทุกอย่าง กลับมาสู้ จากที่คิดว่าไม่มีใครช่วยเรา แต่มีคนพยุงให้ลุกขึ้นได้”
“ขอขอบคุณทาง ม.อ.ปัตตานีที่คิดผลิตภัณฑ์นี้ช่วยให้คนท้อแท้ได้สู้ชีวิตอีกครั้ง ขอบคุณหมอนางฟ้าที่ไม่ทิ้งกัน เขาพูดจริงทำจริงจากหัวใจ เหมือนตายแล้วได้กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง มันยิ่งใหญ่มากสำหรับผม ขอบคุณมากๆ” เป็นเสียงที่เปี่ยมไปด้วยความหวังและความสุขของอิมร่อน
และหากโครงการนี้ขยายพื้นที่ออกไป เราก็จะได้ยินเสียงแห่งความสุขเช่นนี้ดังขึ้นๆ ทั่วทั้งประเทศไทย...
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ทีมพยาบาลอาสา "นางฟ้าชุมชน" ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วยติดเตียง
2 พรวิลัย บวรณรงค์เดช แกนนำพยาบาลอาสา "นางฟ้าชุมชน"
3 โรงพยาบาลเทพา รับมอบแผ่นเจลที่ได้รับการสนับสนุนจาก ม.อ.ปัตตานี และเดินหน้าทำโครงการร่วมกัน
4 ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย
5 อิมร่อน มุสอ ผู้ป่วยติดเตียงจากอุบัติเหตุตกต้นไม้ (เบลอภาพเพื่อเคารพสิทธิ์ผู้ป่วย)