ส.คลังสมองฯ ฉายภาพอนาคตเกษตรไทยน่าห่วง
ส.คลังสมองของชาติสะท้อน 3 ภาพอนาคตเกษตรไทย อีก 10 ปีข้างหน้าน่าห่วง หากไ่ม่รีบติดเครื่อง การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ-การเมืองภายใน เป็นตัวแปร
เมื่อเร็วๆนี้ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันคลังสมองของชาติและภาคีเครือข่าย จัดสัมมนาวิชาการ “ภาพอนาคตการเกษตรไทย 2563” โดย ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า การคาดการณ์ภาพอนาคตเป็นกระบวนการที่ดึงเอาปัจจัยซึ่งไม่แน่นอน ใช้สัญญาณที่เกิดขึ้นในสภาพการณ์ปัจจุบัน โดยมีจุดร่วม 2 ปัจจัยคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเมืองภายในประเทศ โดยมาวิเคราะห์ให้เห็นความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นกับภาคเกษตรไทยในอีก 10 ข้างหน้าผ่านกระบวนการมองภาพอนาคต (forsign) ที่อาศัยทุกภาคส่วนของสังคมวิเคราะห์เชื่อมโยงปัจจัยอย่างเป็นระบบ เพื่อใช้เตรียมรับมือและวางแผนการปรับตัวที่เหมาะสมและเป็นไปได้ สรุปเป็น 3 ภาพ ได้แก่ ไม้ล้ม ไม้เลี้ยง และไม้ป่า
น.ส.นงนภัทร รุ่งอรุณขจรเดช ที่ปรึกษาชมรมเกษตรกรคลื่นใหม่ จ.นครปฐม ตัวแทนนำเสนอภาพไม้ล้มว่า ภาพดังกล่าวคาดการณ์ภาคเกษตรไทยใน 10 ข้างหน้าจะล้มเหลว เนื่องจากการเมืองที่ยุ่งเหยิงส่งผลให้นโยบายด้านการเกษตรเน้นไปที่การสงเคราะห์มากกว่าสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร, เกษตรกรรายย่อยซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยยังคงทำเกษตรแบบดั้งเดิมโดยไม่ปราศจากเทคโนโลยีที่เหมาะสม ขณะที่เกษตรกรรายใหญ่แข็งแกร่งและผูกขาด, ความพยายามในการปฏิรูประบบวิจัยด้านการเกษตรของรัฐจะยังคงล้มเหลว, สภาเกษตรกรแห่งชาติที่ตั้งขึ้นจะถูกแทรกแซงโดยการเมืองกลายเป็นสภานักการเมืองแทน, แรงงานจะน้อยลง บ้านเมืองจะเข้าสู่ยุคข้าวยากหมกแพงอันเป็นผลจากสภาพภูมิอากาศและหาวิธีการแก้ไขไม่ได้
“เสมือนภาพของต้นไม้ที่มีรากแต่ไม่ดูดซับน้ำดิน ใบไม่สังเคราะห์แสงทางความรู้ให้ลำต้นเติบใหญ่ยืนต้นตายท่ามกลางป่าที่อุดมสมบูรณ์ด้วยไม้หลายพันธุ์ที่ต่างแย่งกันเสียดแทงลำต้นเพื่อเติบโตและแผ่กิ่งก้านทางความคิดปกคลุมไม้ที่อ่อนแอต่างกว่า” น.ส.นงนภัทร กล่าว
นายกมลศักดิ์ เลิศไพบูลย์ อดีตผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงภาพไม้เลี้ยงว่า เป็นภาพที่สะท้อนว่าใน 10 ปีข้างหน้า เกษตรกร เอกชนและรัฐบาลจะร่วมมือกันในการพัฒนาภาคเกษตร โดยนโยบายประชานิยมของรัฐบาลจะสนับสนุนภาคเกษตรได้ตรงเป้ามากขึ้น สร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่หันหลังกลับเข้าภาคเกษตร ในลักษณะ “ผู้ประกอบการเกษตร” ที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีและการตลาดมากขึ้น, มีการเพิ่มมูลค่าผลผลิตโดยรัฐเป็นผู้สนับสนุน เกิดตลาดที่เชื่อมต่อกับระบบสื่อสารที่ทันสมัย ส่วนผลกระทบที่เกิดจากสภาพอากาศจะได้รับการช่วยเหลือจากนโยบายรัฐ โดยทั้งหมดจะเคลื่อนผ่านสภาเกษตรกรฯ ที่ผูกโยงด้านข้อมูลสู่เกษตรกร
“มันคือภาพของต้นไม้ที่เติบโตมีกิ่งก้านออกยอดงดงามด้วยการดูแลเอาใจใส่ หมั่นรดน้ำ พรวนดิน และให้อาหารรวมทั้งคอยปกป้องจากดินฟ้าอากาศและโรคภัยที่แปรปรวน แต่ไม้เลี้ยงนั้นจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้ด้วยรากแก้วที่แข็งแรง และท่อน้ำเลี้ยงจากส่วนอื่นที่คอยพยุง” นายกมลศักดิ์ กล่าว
นายสมปอง อินทร์ทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กล่าวถึงภาพไม้ป่า คาดการณ์ว่าโลกร้อนจะกลายเป็นโอกาสให้ไทยได้ผลิตและส่งออกมากขึ้น เพราะประเทศผู้ค้าอื่นได้รับผลกระทบเสียหายรุนแรงกว่า จะเกิดการผสานเทคโนโลยีและภูมิปัญญาที่ก้าวไกลมากขึ้น เกษตรกรจะเข้มแข็งและรวมตัวกันในนามเครือข่ายเกษตรมีอำนาจต่อรองทางการตลาดและเพิ่มประสิทธิภาพพร้อมลดต้นทุนการผลิตได้เอง โดยไม่ต้องอาศัยรัฐ เสมือนภาพของต้นไม้ใหญ่ที่ผลิดอกผลตามนิเวศเกื้อกูลกันเองระหว่างสิ่งมีชีวิตด้วยกัน
“ภาพนี้คือภาพที่ต้องการให้เกิดขึ้นจริงในอนาคตมากที่สุด เพราะนั่นคือการบ่งบอกว่าเกษตรกรจะพึ่งตนเองได้ทั้งระบบ โดยภาครัฐแทบไม่ต้องมีบทบาทอะไรเลย แต่ตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าเกษตรกรจะยืนได้เพียงลำพัง เพราะอย่างไรก็ต้องอาศัยรัฐในเชิงความต้องการทางโครงสร้างที่เอื้อต่อการผลิต” นายสมปอง กล่าว.