เปิดหนังสือ‘ลับมาก’ก.คลังปี’48-ครม. แม้วอนุมัติ ปรับปรุงภาษีสุรา ช่วงคดีดิอาจิโอ
“…การปรับปรุงอัตราภาษีที่จัดเก็บจะมีผลต่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ซึ่งอาจจะมีการกักตุนสินค้าได้ ดังนั้นควรกำหนดให้มีการออกกฎกระทรวงในวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลังได้ประสานงานเป็นการภายในกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อตรวจพิจารณาร่างกฏกระทรวงไว้ล่วงหน้าแล้ว)…”
กำลังเป็นที่โจษจันไปทั่วสังคมไทยตอนนี้ !
กรณีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา (เอสอีซี) ระบุว่า บริษัท ดิอาจิโอ พีแอลซี ผู้ผลิตเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ระดับโลก เช่น สก็อตช์วิสกี้ ยี่ห้อ ‘จอห์นนี่ วอล์คเกอร์’ หรือ ‘วินเซอร์’ ยอมจ่ายเงินประมาณ 492 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าข้อตกลงระงับคดี หลังถูกตั้งข้อหาติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐบาลอินเดีย เกาหลีใต้ และไทย นานกว่า 6 ปี
โดยเฉพาะประเทศไทย เอสอีซี ระบุว่า บริษัท ดิอาจิโอฯ จ่ายเงินประมาณ 5.9 แสนดอลล่าร์สหรัฐฯ (ราว 18 ล้านบาท) ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยระดับสูงรายหนึ่ง ระหว่างปี 2547-2551 เพื่อช่วยวิ่งเต้นในการสู้คดีด้านภาษี และศุลกากรหลายคดี โดยติดต่อผ่านทาง DT (Diageo Moet Hennessy Thailand) ล็อบบี้หน่วยงานราชการไทย โดยจ่ายเงินราว 12,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อเดือน รวม 49 เดือน ให้กับบริษัทที่ปรึกษาทางการเมือง ที่มีตัวแทนจากกทางการไทย ซึ่งถูกระบุว่า เคยดำรงตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ รวมถึงเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยขณะนั้นด้วย (สำนักข่าวอิศรา : นายทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ขณะนั้น)
(อ่านประกอบ : เปิดสำนวนคดีสินบน บ.เหล้าข้ามชาติ ระบุชัดรองเลขาธิการนายกฯ-คน ทรท. เอี่ยว?)
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นจากมติคณะรัฐมนตรีระหว่างปี 2547-2548 พบว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว กระทรวงการคลังมีหนังสือ ‘ลับมาก’ ที่ กค 0623/ล. 289 ถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอร่างกฎหมายเพื่อยกเว้นภาษีสรรพสามิต ภาษีสุรา ค่าแสตมป์ยาสูบ และค่าธรรมเนียมสำหรับการประทับตราไพ่ โดยหนึ่งในกฎหมายดังกล่าว มีการเสนอร่างกฎกระทรวง ว่าด้วยการงดเว้นไม่เรียกเก็บภาษีสุรา พ.ศ. …. ด้วย ซึ่งคณะรัฐมนตรีขณะนั้นได้อนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
(อ่านประกอบ : ก.คลังชง‘ลับมาก’-ครม.แม้ว ไฟเขียวกฏกระทรวงงดเว้นภาษีเหล้าปี47 คดีดิอาจิโอ)
อีกข้อมูลสำคัญคือ ในรายงานของเอสอีซี ระบุว่า ช่วงเดือน เม.ย. 2548 มีการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของรัฐบาลไทย และเจ้าหน้าที่อาวุโสของบริษัท ดิอาจิโอฯ และ DT โดยการประชุมครั้งนี้มีนายกรัฐมนตรีเข้าร่วม(สำนักข่าวอิศรา : นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะนั้น) ต่อมาในเดือน พ.ค. 2548 ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรีได้รับรองบริษัท ดิอาจิโอฯ ให้เข้ามาจัดการด้านภาษี และข้อพิพาทด้านศุลกากร รวมไปถึงนายกรัฐมนตรีกล่าวทางวิทยุ เรื่องรับรองสถานะของบริษัท ดิอาจิโอฯ โดยรับรองว่า กรณีนี้สามารถคิดภาษีสำหรับสินค้าในประเทศตามรูปแบบ ‘เฉพาะ’ ที่คิดตามปริมาณ โดยไม่จำเป็นต้องใช้รูปแบบ ‘ad valorem’ หรือคิดตามราคาสินค้า
จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวมีสื่อหลายสำนัก เช่น หนังสือพิมพ์สยามรัฐ และผู้จัดการ 360 องศา รายงานอ้างคำให้สัมภาษณ์ของนายทักษิณ ผ่านรายการ ‘นายกฯทักษิณ คุยกับประชาชน’ และคำให้สัมภาษณ์ของนายทนง พิทยะ รมว.คลัง (ขณะนั้น) ถึงแนวคิดในการปรับปรุงเกี่ยวกับภาษีสุรา
ต่อมา เมื่อเดือน ก.ย. 2548 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ในการออกกฎกระทรวงกำหนดชนิดของสุราและอัตราภาษีสุรา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2548 และมีการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยมีการปรับอัตราภาษีใหม่ โดยมีนายทนง พิทยะ รมว.คลัง (ขณะนั้น) ลงนาม ระบุสาระสำคัญว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงอัตราภาษีของสุรากลั่น ชนิดสุราปรุงพิเศษ และชนิดสุราพิเศษให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนลดการบริโภคสุรา เนื่องจากการบริโภคสุราที่มีแรงแอลกอฮอล์สูง ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนมากกว่าการบริโภคสุราที่มีแรงแอลกอฮอล์ต่ำ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
(อ่านประกอบ : ‘ทักษิณ’คิด‘ทนง’ทำ!ปรับภาษีเหล้าปี47-48 เทียบข้อมูลก.ล.ต.สหรัฐฯคดีสินบนดิอาจิโอ)
เพื่อให้สาธารณชนเห็นภาพชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.israenws.org นำหนังสือ ‘ลับมาก’ เกี่ยวกับการปรับปรุงภาษีสุราของกระทรวงการคลังที่นายทนง พิทยะ นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มาเปิดเผย ดังนี้
หนังสือดังกล่าวลงวันที่ 5 ก.ย. 2548 ถูกส่งไปที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำไปพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวาระจรเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2548 โดยคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
สำหรับสาระสำคัญของมาตรการปรับปรุงภาษีสุราฉบับนี้ ระบุว่า การปรับปรุงภาษีสุราครั้งนี้เสนอปรับปรุงเฉพาะภาษีสุรากลั่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนลดการบริโภคสุราลง เพราะสุรากลั่นมีแรงแอลกอฮอล์สูงกว่าสุราแช่ การบริโภคสุราที่มีแรงแอลกอฮอล์สูงกว่า ย่อมก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภคมากกว่าการบริโภคสุราที่มีแอลกอฮอล์ต่ำกว่า ดังนั้น จึงควรจัดเก็บภาษีสุรากลั่นเพิ่มขึ้น แต่หากจะยังมีการบริโภคสุราก็จะไปบริโภคสุราที่มีแรงแอลกอฮอล์ต่ำและมีคุณภาพ ซึ่งมีผลเสียต่อสุขภาพน้อยกว่า
หนังสือดังกล่าวระบุอีกว่า มาตรการปรับปรุงภาษีสุรา เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนลดการบริโภคสุราลง หากจะยังมีการบริโภคก็จะไปบริโภคสุราที่มีแรงแอลกอฮอล์ต่ำและมีคุณภาพ
ทั้งนี้ปัจจุบันกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง จัดเก็บภาษีสุรากลั่นประเภทที่มีแรงแอลกอฮอล์สูง ซึ่งได้แก่ สุรากลั่นชนิดสุราปรุงพิเศษ และชนิดสุราพิเศษ ตามกฎกระทรวงกำหนดชนิดของสุราและอัตราภาษีสุรา พ.ศ.2546 ออกตามความใน พ.ร.บ.สุรา พ.ศ.2493 ระบุว่า
หนึ่ง สุรากลั่นชนิดสุราปรุงพิเศษ อัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 50 อัตราภาษีตามปริมาณ 240 บาท ต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์
สอง สุรากลั่นชนิดพิเศษประเภทบรั่นดี อัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 35 อัตราภาษีตามปริมาณ 240 บาท ต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์
สาม สุรากลั่นชนิดสุราพิเศษประเภทวิสกี้ อัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 50 อัตราภาษีตามปริมาณ 240 บาท ต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์
สี่ สุรากลั่นชนิดสุราพิเศษประเภทอื่น นอกจากบรั่นดีและวิสกี้ อัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 50 อัตราภาษีตามปริมาณ 240 บาท ต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์
เนื่องจากสมควรปรับปรุงภาษีสุรากลั่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนลดการบริโภคสุราลง เพราะสุรากลั่นมีแรงแอลกอฮอล์สูงกว่าสุราแช่ การบริโภคสุราที่มีแรงแอลกอฮอล์สูงกว่า ย่อมก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภคมากกว่าการบริโภคสุราที่มีแรงแอลกอฮอล์ต่ำกว่า จึงควรกำหนดอัตราภาษีสุราใหม่ ดังนี้
หนึ่ง สุรากลั่นชนิดสุราปรุงพิเศษ อัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 50 อัตราภาษีตามปริมาณ 400 บาท ต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์
สอง สุรากลั่นชนิดพิเศษประเภทบรั่นดี อัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 40 อัตราภาษีตามปริมาณ 400 บาท ต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์
สาม สุรากลั่นชนิดสุราพิเศษประเภทวิสกี้ อัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 50 อัตราภาษีตามปริมาณ 400 บาท ต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์
สี่ สุรากลั่นชนิดสุราพิเศษประเภทอื่น นอกจากบรั่นดีและวิสกี้ อัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 50 อัตราภาษีตามปริมาณ 400บาท ต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ (ดูเอกสารประกอบ)
อนึ่งในช่วงท้าย กระทรวงการคลัง ระบุด้วยว่า การปรับปรุงอัตราภาษีที่จัดเก็บจะมีผลต่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ซึ่งอาจจะมีการกักตุนสินค้าได้ ดังนั้นควรกำหนดให้มีการออกกฎกระทรวงในวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลังได้ประสานงานเป็นการภายในกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อตรวจพิจารณาร่างกฏกระทรวงไว้ล่วงหน้าแล้ว)
อ่านประกอบ : พลิกงบการเงิน'ดิอาจิโอ'พบตัวเลขปริศนา"ค่าเผื่อหนี้สิน"1,750ล.ช่วงดคีสินบนข้ามชาติ