ลามถึงเวียงจันทน์ ตื่นคุมสวนกล้วยจีนก่อมลพิษ ปลาตายเกลื่อน
MGRออนไลน์ - ทางการนครเวียงจันทน์สั่งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ลงตรวจตราและควบคุมสวนกล้วยของนักลงทุนจากจีน หลังจากพบว่า ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมมาหลายปี แม้กระทั่งเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ทางการได้พบว่าบางแห่งไม่มีใบอนุญาตให้ลงทุน ไม่มีการศึกษาผลกระทบ ไม่มีทะเบียนการประกอบธุรกิจภาษี ซึ่งหมายความว่าไม่มีการเสียภาษีให้รัฐ ทางการยังได้ออกมาตรการเข้มงวด ในการปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้ การจัดเก็บและการทำลาย ทั้งภาชนะและสารพิษ ที่เหลือจากการใช้อีกด้วย
แผนกกสิกรรมและป่าไม้ นครเวียงจันทน์ ได้จัดประชุมร่วมกับบรรดาผู้ประกอบการจากจีน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อเร็วๆ นี้ รวมทั้งออกมาตรการในการป้องกัน หากยังพบฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย จะมีโทษถึงขั้นให้ยุติกิจการ หนังสือพิมพ์ลาวพัดทะนารายงาน
นับเป็นครั้งแรกที่มีรายงาน เกี่ยวกับสวนกล้วยของนักลงทุนจากจีน ก่อปัญหาในย่านชานเมืองหลวง หลังจาก 2-3 ปีที่ผ่านมา ปัญหาส่วนใหญ่เกิดขึ้น ในหลายแขวงภาคเหนือใกล้ชายแดนจีน ซึ่งมีเนื้อที่สวนกล้วย รวมกันกว่า 1 แสนไร่ จนรัฐบาลต้องสั่งไม่ให้แขวงต่างๆ อนุญาตการลงทุนปลูกกล้วยโดยนักลงทุนจีนอีก ในขอบเขตทั่วประเทศ
หนังสือพิมพ์ลาวพัดทะนา ของสมาคมนักข่าวแห่งชาติ รายงานเรื่องราวล่าสุดนี้ โดยไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับพื้นที่ปลูกกล้วยของนักลงทุนจีน ในเขตนครเวียงจันน์ ซึ่งราว 5 บริษัทดำเนินกิจการตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมือง (อำเภอ) สังทอง กับ เมืองปากงึม ซึ่งเป็นอำเภอรอบนอก มีพื้นที่ติดลำน้ำลำธารที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง
ทางการนครเวียงจันทน์ได้เรียกประชุม ผู้แทนบริษัทลงทุนจากจีนทั้งหมด เพื่อหามาตรการในการแก้ไขปัญหาการก่อมลพิษ ที่เกิดจากการใช้ยาปราบศัตรูพืช และ สารฆ่าหญ้ากับวัชชพืช ตลอดจนปุ๋ยเคมี ซึ่งทางการได้พบว่าสารบางตัว เลิกใช้กันแล้วในทั่วโลก รวมทั้งใน สปป.ลาว ที่ได้รวมเอาไว้ในบัญชีห้ามใช้
บางบริษัทไม่มีใบอนุญาตการลงทุน ไม่มีเอกสารศึกษาผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ไม่มีทะเบียนวิสาหกิจ ซึ่งหมายถึงการไม่ได้เสียภาษีให้รัฐ
สื่อของทางการไม่ได้ให้รายละเอียดว่า เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ระบุว่าสวนกล้ววยของนักลงทุนจีน เริ่มส่งผลระทบต่อสภาพแวดล้อม และ ต่อสังคมให้เห็น ตั้งแต่ปี 2558 คือ หลังจากเริ่มดำเนินการเพียง 1 ปี
"ປີ 2015 ເກີດມີສະພາບປາຕາຍ ເປັນຈໍານວນຫລາຍຢູ່ສາຍນໍ້າຕອນເມືອງສັງທອງ, ເດືອນກັນຍາ 2016 ໄດ້ມີກໍາມະກອນຢູ່ ສວນກ້ວຍບ້ານຊຽງແລທ່າ ເມືອງປາກງື່ມ 5 ຄົນເບື່ອຢາຂ້າຫຍ້າ ແລະ ຢາປາບສັດຕູພືດ ແລະ ຕົ້ນເດືອນມັງກອນ 2017 ກໍມີ ປະຊາຊົນຈໍານວນໜຶ່ງ ເກີດເປັນຕຸມຄັນຕາມຮ່າງກາຍພາຍຫລັງ ລົງອາບນໍ້າຢູ່ສາຍນໍ້າຕອນເມືອງສັງທອງ ແລະ ຍັງມີຫລາຍຫາງສຽງ ຈາກປະຊາຊົນທີ່ໄດ້ຮັບຜົນກະທົບ ຈາກການປູກກ້ວຍ ຂອງນັກລົງທຶນຊາວຕ່າງປະເທດດັ່ງກ່າວ"
ย่อหน้าข้างบนเป็นรายงานของหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกัน กล่าวถึงการพบปลาตายจำนวนมาก ในลำน้ำในเขตเมืองสังทอง เมื่อปี 2558 ต่อมาดือน ก.ย.ปีที่แล้ว ก็มีคนงานสวนกล้วย 5 คน ในเขตเมืองปากงึม แพ้ยาฆ่าหญ้าและ ยาปราบศัตรูพืช จนล้มป่วย และปลายเดือน ม.ค.2560 คอเพียงข้ามเดือนมานี้ ประชาชนจำนวนหนึ่ง เกิดเป็นตุ่มคันตามร่างกาย หลังลงอาบน้ำในลำน้ำ เขตเมืองสังทอง
ยังมีเสียงร้องเรียนคล้ายกันนี้ จากประชาชนในท้องถิ่นอีกเป็นจำนวนมาก สื่อของทางการกล่าว
แผนกกสิกรรมและป่าไม้นครเวียงจันทน์ ได้จัดประชุมร่วมกับผู้ลงทุนเมื่อไม่นานมานี้ กำชับให้ผู้ประกอบการทุกราย แก้ไขและดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งยังกำหนดระเบียบปฏิบัติ เกี่ยวกับการจัดเก็บ และ ทำลายสารเคมีที่เหลือใช้ อย่างถูกต้องอีกด้วย
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันนี้ ภาชนะที่ใช้บรรจุยาปราบศัตรูพืชทุกชนิด จะต้องนำไปฝังดินในเขตที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น หากมีจำนวนมาก จะต้องจัดการเผาทำลายทิ้ง ในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต จากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อมิให้ก่อมลพิษอีก และ ห้ามใช้สารพิษ ชนิดที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชียกเลิกของ สปป.ลาว
ยาปราบศัตรูพืชทุกชนิด รวมทั้งปุ๋ยเคมีที่ใช้จะต้องได้มาตรฐานการผลิต ที่กำหนดทางการลาว พร้อมกำหนดปริมาณที่ใช้ วันเดือนปีที่นำออกใช้ และ พื้นที่ที่ใช้อย่างขัดเจน รวมทั้งติดป้ายเตือนในพื้นที่ หลังจากใช้สารเคมที หรือ ปุ๋ยเมีไปแล้ว รวมทั้งจะต้องแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกครั้ง
ระเบียบของทางการยังกำหนด ไม่ให้คนงานผู้ใช้ยาปราบศัตรูพืช และสารเคมีมีพิษต่างๆ ในส่วนกล้วย ทำงานเกิดวันละ 4 ชั่วโมง และ ต้องมีชุดพ่นยา และ อุปกรณ์ป้องกันอย่างครบถ้วน นอกจากนั้นยาปราบศัตรูพืช ที่เหลือจากการใช้ทุกชนิด ห้ามมิให้เททิ้งลงลำน้ำลำห้วย แหล่งน้ำ รวมทั้งในย่านที่มีสัตว์เลี้ยงโดยเด็ดขาด
เจ้าหน้าที่แผนกกสิกรรมฯ กล่าวว่าผู้ประกอบการที่ยังดำเนินการอย่างผิดกฎหมาย ไม่ได้มาตรฐาน จะมีบทลงโทษ จากหนักไปหาเบา ซึ่งได้แก่ การเรียกไปอบรม ปรับไหม และ ให้ปิดกิจการในที่สุด
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ สวนกล้วยของนักลงทุนจีน ได้กลายเป็นปัญหาระดับชาติใน เพราะทุกแห่งสร้างมลพิษในสภาพแวดล้อม ส่งผลกระทบ ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรจำนวนมาก ไม่ได้สร้างงานอย่างถาวร ตามที่เข้าใจเมื่อก่อนนี้
ตามข้อมูลที่เก็บรวมรวบได้ และ ผู้จัดการออนไลน์รายงานไปก่อนหน้านี้ ใน 3 แขวงภาคเหนือของลาว ที่อยู่ใกล้ชายแดนจีน ซึ่งได้แก่ บ่อแก้ว หลวงน้ำทา อุดมไซ กับ แขวงหลวงพระบาง ปัจจุบันมีพื้นที่สวนกล้วยจีน รวมกันกว่า 1 แสนไร่ กระจายอยู่ตามเมืองต่างๆ ที่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ
ทั้งนี้ยังไม่มีข้อมูลจากแขวงอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ผ่งสาลี ซึ่งอยู่ติดชายแดนจีนทางตอนเหนือสุดของประเทศ ซึ่งมีด่านชายแดนอีกแห่งหนึ่ง และ ปัจจุบันมีการคมนาคมที่สะดวกขึ้น
ปลายปี 2558 รัฐบาล สปป.ลาว รัฐบาลได้สั่งการไปยังแขวงต่างๆ ทั่วประเทศ ไม่ให้ออกใบอนุญาตให้นักลงทุนจากจีน ทำสวนกล้วยอีก ที่มีอยู่แล้วไม่อนุญาตให้ขยายอีก รวมทั้งคาดโทษหนัก สำหรับนักลงทุนที่ฝ่าฝืน แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่เคย มีรายงานผ่านสื่อของทางการว่า ได้มีการสั่งปิดกิจการสวนกล้วยของชาวจีนไปบ้างแล้วหรือยัง
ขอบคุณข่าวจาก