สุราษฎร์นำร่อง ปฎิรูปการศึกษาผ่านคำสอน "พุทธทาสภิกขุ"
คุณธรรมก็เป็นคำๆเดียวกับคำว่า ศีลธรรม คือหลักของการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม สิ่งที่เราสอนในหลักสูตรไม่ใช่พิธีกรรม แต่เป็นคำสอนในลักษณะของความเป็นสากล เป็นลักษณะร่วมกันของในแต่ละศาสนา ไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไรเมื่อเรียนพุทธทาสศึกษาเขาก็สามารถทำความเข้าใจในศาสนาของตนเองได้อย่างชัดเจนขึ้น
ในความยิ่งใหญ่ของคำสอนจากท่านพุทธทาส สวนโมกขพลาราม ดูเหมือนจะเล็กเกินไปเสียด้วยซ้ำ ประโยคที่ว่า "คนดีสำคัญกว่าทุกสิ่ง" จึงถูกหยิบยกมาใช้บูรณาการเข้ากับการเรียนการสอนของโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ดร.สุมาลัย กาลวิบูลย์ ตัวแทนคณะผู้พัฒนาหลักสูตรพุทธทาสศึกษา ได้ขยายใจความสิ่งที่ท่านพุทธทาสทิ้งเอาไว้ให้ฟัง
"ท่านพุทธทาสพูดไว้ว่า ที่การศึกษามีปัญหาเพราะแยกออกจากศีลธรรม ทำให้มีแต่ความรู้ในการเอาเปรียบคนอื่น และความรู้ที่มีอยู่ถ้ามันแยกออกจากศีลธรรมและศาสนา ก็จะพัฒนาต่อไปไม่ได้"
"หลักสูตรพุทธทาสศึกษา" นี้จะนำไปบูรณาการร่วมกับ 8 กลุ่มสาระวิชาหลัก เพื่อหวังให้เด็กนักเรียนจะมีความรู้ควบคู่ไปกับการมีคุณธรรมด้วย แม้ชื่อของวิชานี้จะดูเหมือนเป็นการเน้นไปที่พุทธศาสนาเป็นหลัก แต่ดร.สุมาลัยก็ยืนยันว่า หลักคำสอนนี้สามารถปรับใช้กับนักเรียนที่นับถือศาสนาอื่นได้ด้วย
"คุณธรรมก็เป็นคำๆเดียวกับคำว่า ศีลธรรม คือหลักของการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม และสิ่งที่เราสอนในหลักสูตรไม่ใช่พิธีกรรม แต่เป็นคำสอนในลักษณะของความเป็นสากล เป็นลักษณะร่วมกันของในแต่ละศาสนา ดังนั้นไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไรเมื่อเรียนพุทธทาสศึกษาเขาก็สามารถทำความเข้าใจในศาสนาของตนเองได้อย่างชัดเจนขึ้น"
ดร.สุมาลัย ยืนยันว่า สิ่งที่บรรจุในหลักสูตรเป็นสากลทุกคนเรียนรู้ได้
ด.ญ. กรกฎ ฮั่นสกุล อายุ 12 ปี นักเรียนโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี 3 นำพุทธทาสศึกษาไปใช้
"ตอนที่ได้เรียนหลักสูตรพุทธทาสศึกษาทำให้เราได้เห็นตัวอย่างสามารถนำไปปฎิบัติใช้ในชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น เพื่อนในห้องพอได้เรียนหลักสูตรนี้ก็เป็นคนดีมากขึ้นเห็นประโยชน์ร่วมมากกว่าส่วนตน ผลการเรียนก็ดีขึ้น รู้ว่าหน้าที่ของตัวเองคือการเรียนก็จะตั้งใจเรียนขึ้น" เด็กหญิงป.6 ได้บอกเล่าถึงผลที่ได้จากการเรียนในรูปแบบใหม่
โดยหลักสูตรพุทธทาสศึกษานี้ เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการวิจัยและปฎิบัติพัฒนามาตรฐานการศึกษาในโรงเรียนขนาดกลางและเล็กอย่างยั่งยืน” ที่สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) เล็งเห็นถึงการพัฒนาเยาวชนต้นกล้าเหล่านี้ให้เติบโตไปเป็นต้นไม้ใหญ่กำลังหลักของชาติในอนาคต ด้วยการใช้แนวคิดการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ AREA-Based Education (ABE)
ซึ่งที่มาของโครงการนี้เกิดจากการที่ปัจจุบันการศึกษาในชนบทมีช่องว่างของคุณภาพการศึกษามากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าเทียบกับการศึกษาในเมือง โดยนพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) ให้ข้อมูลว่า
"นักเรียนในเขตชนบทจะมีคะแนนต่ำกว่านักเรียนในโรงเรียนเขตเมืองถึง 3 ปีการศึกษา ซึ่งต้นตอของปัญหาเกิดจากการพุ่งเป้าพัฒนาแต่โรงเรียนในเขตเมือง ถ้าอยากจะแก้ไขปัญหานี้ก็ต้องพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ชนบท" นพ.สุภกร ระบุ และว่า ตรงนี้ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก
แม้โครงการนี้จะเป็นโครงการปฎิรูปการศึกษาที่ดูจริงจังเพื่อให้นักเรียนในพื้นที่ชนบทมีความรู้ใกล้เคียงกับนักเรียนในเมือง แต่นายนคร ตังคะพิภพ หัวหน้าโครงการวิจัยและปฎิบัติการโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง ก็ได้เผยถึงกลยุทธที่เตรียมไว้ว่า“โรงเรียนต้องเป็นแหล่งความรู้ที่มีความสุข"
นอกจากโครงการนี้จะมีเป้าหมายพัฒนาคุณภาพของนักเรียนเป็นหลักแล้ว แต่นายนครยังเน้นย้ำว่าจะต้องพัฒนาจุดเริ่มต้นของความรู้ นั่นคือครูและบุคลากรในโรงเรียนให้มีคุณภาพ
"ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทุกคนจะเติบโตในเชิงวิชาชีพสูงขึ้น และเป็นมืออาชีพมากขึ้น และนักเรียนจะต้องเข้าถึงโอกาสทางการเรียนรู้ที่สร้างคุณภาพตามศักยภาพ"
นายชัยวัฒน์ แก้วบัวทอง ประธานโครงการพัฒนาครูโดยใช้พื้นที่เป็นจังหวัดสุราฎร์ธานี ได้อธิบายให้ฟังว่า PLC เป็นวิธีการพัฒนาครูที่ใช้สถานการณ์ปัญหาจริงในชั้นเรียนหรือในโรงเรียนเป็นโจทย์ในการทำงาน โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของตัวครูและตัวผู้เรียน เพราะแต่ละโรงเรียนจะมีปัญหาที่แตกต่างกัน และยืนยันว่าจะไม่ไปรบกวนเวลาการสอนของครูเหมือนที่ปัจจุบันทำกันอยู่
"PLCเป็นแนวคิดในการที่จะพัฒนาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ไม่ได้เชิญวิทยากรนอกมานั่งบรรยาย หรือเชิญครูที่ขาดแคลนในแต่ละชั้นเรียนอยู่แล้วออกจากโรงเรียนไปอบรมที่โรงเรียนเหมือนกับที่ผ่านๆมา โดยจะให้ครูจับคู่กันกันทำงานเพื่อหาจุดอ่อนและแก้ไข"
ตอนนี้โครงการมีเป้าหมายที่จะปฎิรูปการศึกษา และพัฒนาโรงเรียนทั่วประเทศกว่า 4,514 แห่งให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ระดับตำบล ใน 14 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน ลำปาง สุโขทัย อำนาจเจริญ สุรินทร์ เพชรบุรี กาญจนบุรี ชลบุรี อยุธยา สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต
แม้โครงการนี้อยู่ในช่วงนำร่อง แต่ก็ถือว่าเป็นนิมิตรหมายอันดีที่เริ่มเห็นการขยับปฎิรูปการศึกษาแบบจริงจัง โดยใช้หลักคำสอนทางศาสนาสอดแทรกเข้าไปสอนควบคู่กัน ซึ่งในอนาคตก็ได้แต่หวังว่าคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียนต่างจังหวัดไม่แพ้โรงเรียนในเมืองเช่นกัน