ลุย บุก รุกไปข้างหน้า "ฟื้นวัด คืนเมือง"
ชีวิตแบบเมือง คือพื้นที่คนทุกข์ ทุกข์กาย ทุกข์ใจสารพัด จนถึงฆ่าตัวตาย สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ เมืองจึงเป็นพื้นที่คนทุกข์ไม่เฉพาะประเทศไทย แต่เหมือนกันทั่วโลก โดยเฉพาะกับคนจน
ชีวิตเราเริ่มห่างจากวัด และวัดก็เริ่มห่างจากชีวิต ในอดีตเรามีวัดเป็นมากกว่าวัด ที่ไหนมีวัดที่นั่นก็มีชีวิต เราไปวัดแม้ไม่มีวาระทางศาสนา เราได้เห็นวัฒนธรรมประเพณีของบรรพบุรุษ พร้อมๆกับได้เห็นตัวเราเองว่า เราเป็นใคร หรือเราต้องการอะไร หรือเป็นวัดให้เราหลบร้อนใต้ต้นไม้
... จะดีไหม หากวัด 3.9 หมื่นแห่งทั่วประเทศจะพลิกฟื้นสู่ความเป็นธรรมชาติ ศูนย์กลางชีวิตและจิตวิญญาณอีกครั้ง
รองศาสตราจารย์ ดร.อรศรี งามวิทยาพงศ์ เปิดคลิปวีดีโอ วัดบันดาลใจ เพื่อสร้างความเข้าใจก่อนนำเสนอผลงานวิจัยหัวข้อ “ฟื้นวัด คืนเมือง ฝันเฟื่องหรือเปล่า” ในเวทีการสัมมนานำเสนอผลงานวิจัย วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เรื่อง “พัฒนศาสตร์กับการอยู่ร่วมกันในสังคมที่ (ไม่) เป็นธรรม” ณ ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
รศ.ดร.อรศรี ยอมรับว่า ช่วงแรกที่จะทำวิจัยชิ้นนี้ ความรู้สึกแรก
“เป็นไปได้หรือ ฝันไปแล้วมั๊ง ในสถานการณ์ที่เราเห็นสถาบันทางศาสนาไม่ว่าจะเป็นวัด เป็นคณะสงฆ์เป็นแบบนี้ จนมาคิดแบบพัฒนศาสตร์ คิดนอกกรอบ แล้วเราจะไม่ทำหรือ... ยิ่งยาก ยิ่งท้าทาย”
งานวิจัยฟื้นวัด คืนเมือง จึงเริ่มต้นขึ้น
รศ.ดร.อรศรี บอกว่า คนที่เริ่มต้นคิดคือกลุ่มสถาปนิกเข้าไปจับสิ่งที่เขาฝันว่า วัดจะต้องไม่ใช่ที่จอดรถ หรือที่เลี้ยงหมาแมว จะต้องมีสัปปายะ คือมีสภาพแวดล้อม พร้อมให้คนเข้าไปใช้ประโยชน์ เรียนรู้
สำหรับการวิจัยเรื่อง ปัจจัยที่เอื้อต่อการฟื้นฟูบทบาทหน้าที่การพัฒนาจิตวิญญาณของวัดในเขตเมือง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาว่า มีปัจจัยและเงื่อนไขอะไรที่เอื้อต่อการฟื้นฟูบทบาทหน้าที่ของวัดในเขตเมืองให้กลับมาเป็นศูนย์เรียนรู้สุขภาวะด้านจิตวิญญาณอันเคยเป็นบทบาทสำคัญในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งได้เสื่อมถอยไปจากการพัฒนาเมือง
"เราไม่แปลกใจสำหรับสังคมชนบท แต่ในเขตเมืองทำได้หรือไม่"
คำถามตัวโตๆ ที่นักวิจัย ตั้งไว้ ก่อนไปค้นวิธีหาคำตอบที่เริ่มต้นด้วยการสังเคราะห์ข้อมูลร่วมกันกับข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ รวมไปถึงแหล่งข้อมูลเอกสารทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
นักวิจัยบอกว่า งานวิจัยชิ้นนี้ไม่เลือกวัดที่ประสบความสำเร็จแล้ว เธอเลือกหาวัดที่เป็นเมือง หรือกึ่งเมือง ไม่ใช่วัดที่รู้จักอย่างกว้างขวาง กระทั่งได้มา 4 แห่ง ได้แก่ วัดไผ่เหลือง อำเภอบางบัวทอง และวัดโพธิ์เผือก จังหวัดนนทบุรี วัดโพธาราม จังหวัดราชบุรี และวัดคลองแห จังหวัดสงขลา
รศ.ดร.อรศรี กล่าวถึงผลการศึกษาที่ได้ค้นพบชีวิตแบบเมือง คือ พื้นที่คนทุกข์ ทุกข์กาย ทุกข์ใจสารพัด จนถึงฆ่าตัวตาย สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ เมืองจึงเป็นพื้นที่คนทุกข์ไม่เฉพาะประเทศไทย แต่เหมือนกันทั่วโลก โดยเฉพาะกับคนจน ความเป็นเมืองได้ทำลายระบบความสัมพันธ์ของผู้คน ทำให้ต่างคนต่างอยู่ เกิดอาชญากรรม จี้ปล้น ความไม่มั่นใจคนที่เราเจอจริงใจกับเราหรือไม่ หรือใส่หน้ากากเข้าหากัน ขนาดที่ว่า ความเป็นเมือง สังคมเมืองได้ทำลายเด็ก เรายังพบเด็กถูกทอดทิ้ง วัยรุ่น เยาวชนก็เช่นเดียวกัน
นี่คือสภาพการณ์ความเป็นเมืองที่เปลี่ยนไป
ขณะที่ความเป็นวัด ซึ่งวัดแต่เดิมในอดีตมีบทบาทสำคัญ คือบทบาทด้านจิตวิญญาณ เอื้อให้คนมีความสุขทางจิตใจ รู้ปลายทางชีวิตเป็นอย่างไร เป็นแหล่งของคำตอบมนุษย์เกิดมาทำไมและอยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างไร รวมถึงบทบาทวัดที่เป็นทั้งโรงพยาบาล ศูนย์กระจายอาหาร
เมื่อความเป็นเมืองได้เปลี่ยนความเป็นวัด นักวิจัย ชี้ว่า ได้ทำลายเศรษฐกิจแบบเกื้อกูลสู่เศรษฐกิจแบบตัวใครตัวมัน ทุกคนแสวงหาเงิน รายได้ ความร่ำรวย มั่งคั่ง ซึ่งเหล่านี้สามารถสัมผัสได้เอง นอกจากนี้ยังทำลายปัจจัยการเรียนรู้แก่นธรรม สู่การเรียนรู้เฉพาะเปลือก กระพี้
"การที่เราไม่เคยปฏิรูปการศึกษาของคณะสงฆ์ พระท่านเรียนมาเติบโตมากับสังคมเกษตรกรรม ความรู้ในชุดของท่านไม่พอเข้าไปตอบโจทย์ความทุกข์ของคนรุ่นใหม่ได้ เช่น การถูกลูกทอดทิ้ง ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมชนบท เมื่อวัดไม่ได้รับการปฏิรูปความรู้ พระสงฆ์จึงไม่สามารถให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ในทางปฏิบัติกับญาติโยมได้"
จากการลงสนามเก็บข้อมูล ที่วัดโพธาราม จังหวัดราชบุรี กึ่งเมือง ซึ่งมีการมากว้านซื้อที่ดินเพื่อปลูกกล้วยไม้ส่งออก พบว่า คนในชุมชนขายแรงงาน ดังนั้นโอกาสไปวัดแทบเป็นไปไม่ได้ วันหยุดถูกกำหนดโดยโรงงาน วิถีชีวิตความเป็นเมืองเช่นนี้ นักวิจัย ระบุว่า ได้ทำลายโอกาสที่คนเข้าใกล้วัด ทำลายวัฒนธรรมจิตวิญญาณสู่วัฒนธรรมบริโภคนิยม
"การที่คนเราไม่มีโอกาสพบปะกัน นำมาสู่วัฒนธรรม ใครดีใครอยู่ ใครรวยก็มีอำนาจไป เราพบว่า ชาวบ้านมีหนี้สินมากขึ้น"
ส่วนเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้วัดแสดงบทบาทไม่ได้ ตามหลักพุทธศาสนามาจากหลายสาเหตุ
ข้อค้นพบจากงานวิจัยนั้น ชี้ว่า การรวมศูนย์อำนาจการปกครองของคณะสงฆ์ ทำให้พระไม่สามารถผูกพันและมีบทบาทกับชุมชนได้, รัฐทอดทิ้งการศึกษาของคณะสงฆ์เพราะรัฐมุ่งผลิตคนเพื่อสู่ตลาดการจ้างงาน โดยละเลยการจัดการศึกษาให้เด็กบวชเรียนแบบเณร เพื่อเป็นเสาหลักทางสติปัญญา อีกทั้งฆราวาสห่างวัด ไม่ร่วมสร้างสรรค์คุณภาพและพระสงฆ์ จนทำให้เกิดคติ ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์ จากแต่ก่อนกิจของวัด คือกิจของคนในชุมชน
กระบวนการฟื้นวัด คืนเมือง ต้องทำอย่างไร คำตอบนี้ รศ.ดร.อรศรี บอกว่า กรณีจากการศึกษา 4 วัด พบว่า ลุย บุก รุกไปข้างหน้า แทนที่จะรอให้ญาติโยมมาวัด
ตัวอย่างที่วัดไผ่เหลืองอยู่ใกล้เซ็นทรัลเวสท์เกต ออกไปหาหมู่บ้านจัดสรร แรกๆชาวบ้านนึกว่ามาเรี่ยไร แต่ท่านก็ทำให้เห็นว่า เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ญาติโยมบริจาค ประโยชน์กลับคืนชุมชน อีกทั้งวัดยังไปหาอบต. ห้างสรรพสินค้า นำกิจกรรมบางของวัดไปเผยแพร่
เช่นเดียวกับที่วัดโพธาราม จังหวัดราชบุรี มีการกำหนดพระทุกรูปต้องออกบิณฑบาท ไปคุยกับญาติโยม และหาความทุกข์ของคนในชุมชนให้ได้ว่า คืออะไร
"4 วัดที่งานวิจัยชิ้นนี้ได้ศึกษา เพราะการจัดทัพปรับกระบวนการทำงานของพระสงฆ์ มีการแบ่งบทบาทในกลุ่มพระ และให้ฆราวาสมีส่วนร่วม สร้างวัดเป็นพื้นที่สร้างการเรียนรู้กับคนในชุมชน จนทำให้วัดมีกิจกรรมที่เกิดภาพลักษณ์ว่า ธรรมะไม่ใช่เรื่องของพระสงฆ์ เช่นที่วัดคลองแห จังหวัดสงขลา มีคณะกรรมการคฤหัสถ์ร่วมกันคิดจัดอบรมนักศึกษา อะไรคือความทุกข์ของนักศึกษาที่พระต้องเข้าใจ ไม่ใช่การขึ้นเทศน์อย่างเดียว เป็นต้น"
รศ.ดร.อรศรี ให้ข้อมูลอีกว่า มีวัดบางแห่งลงไปขอข้อมูลจากอบต. ทำงานโดยใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์ ขอข้อมูลชุมชนในพื้นที่วัดตั้งอยู่ มีโรงพยาบาลหรือไม่ หรือมีคนใกล้เสียชีวิต คนทุกข์หรือไม่ เช่น ทุกข์เพราะกลัวเสียชีวิต ลูกหลานทุกข์ ก่อนที่พระท่านจะนำไปออกแบบกิจกรรมไปพบ ไปเทศน์ ทำหนังสือแจก เพื่อให้งานของท่านตอบโจทย์วิถีชีวิตสมัยใหม่ เรียกว่า "จัดธรรมให้นำสมัย" รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่โดยเฉพาะวัฒนธรรมบริโภคนิยม
"4 วัดที่เราไปทำวิจัย ยังพบว่า หลวงพ่อ หลวงพี่ พระอาจารย์ท่านรู้หมดอันตรายของวัฒนธรรมบริโภคนิยมทำลายคุณภาพชีวิตและจิตวิญญาณของคนอย่างไร ทำให้คนที่อาจไม่เห็นแก่ตัว กลายเป็นคนเห็นแก่ตัว เอาตัวรอด ไม่สนใจชีวิตอื่น"
ทั้งนี้ ช่วงท้ายการนำเสนอผลวิจัย รศ.ดร.อรศรี เชื่อว่าปัจจัยที่เอื้อต่อการฟื้นฟูบทบาทหน้าที่วัดด้านการพัฒนาจิตวิญญาณ สิ่งแรกคือทำวัดให้มีความสงบ ร่มรื่น เป็นธรรมชาติ ไม่ใช่เป็นเพียงสถานที่จอดรถ
สุดท้าย ปัจจัยการจัดการเงินทุนให้เอื้อต่อความศรัทธา ก็สำคัญ ไม่ใช่ให้ญาติโยมมีข้อสงสัยในเรื่องของความไม่โปร่งใสการบริหารจัดการเงินในวัด
ก่อนจะย้ำทิ้งท้ายว่า "ที่วัดหลายแห่งสูญเสียความศรัทธาไปก็เพราะการบริหารการเงินไม่โปร่งใส ฉะนั้น ข้อเสนอแนะจากงานวิจัยชิ้นนี้ คือการบริหารงานของวัดต้องโปร่งใส สามารถแจกแจงได้ เช่น การติดบอร์ด แจ้ง ประชุม ทำให้ญาติโยมรู้ว่า ไม่มีใครได้ประโยชน์จากเงินบริจาค ไม่มีการถือบัญชีคนเดียว"
ทั้งหมด คือปัจจัยจำเป็นที่มิอาจขาดได้ สำหรับการฟื้นวัด คืนเมือง ให้วัดเกื้อกูลสังคม เชื่อมโยงภูมิรู้ด้านโลกุตรธรรม และบทบาทของวัดที่ญาติโยมอยากเห็นต้องไม่เบี่ยงเบนออกจากแก่นพุทธธรรมด้วย
ที่มาภาพ:https://www.facebook.com/watbundanjai/