‘ทักษิณ’คิด‘ทนง’ทำ!ปรับภาษีเหล้าปี47-48 เทียบข้อมูลก.ล.ต.สหรัฐฯคดีสินบนดิอาจิโอ
"…กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาทางเลือกในการปรับโครงสร้างภาษี ทั้งสุราในประเทศ และสุรานำเข้าจากต่างประเทศ ที่นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายมาว่า การปรับโครงสร้างภาษีสุราควรจะอิงการปรับโครงสร้างภาษีกับระดับดีกรี (แอลกอฮอล์) ซึ่งจะไปดูในรายละเอียดของกฎหมายที่ประเทศไทยบังคับใช้อยู่ว่ามีช่องว่างการเรียกเก็บภาษีเป็นอย่างไร เพราะการเก็บภาษีสุราในปัจจุบันเรียกเก็บภาษีทั้งจากราคาที่นำเข้าและดีกรี แต่ต่อไปอาจจะให้ไปอิงกับดีกรีมากขึ้น แต่ยังไม่เปลี่ยนแปลงกฎหมาย ที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียกเก็บภาษีสุราใหม่จะไม่ทำให้รัฐบาลสูญเสีย รายได้อย่างแน่นอน…"
เป็นอีกหนึ่งคดีเกี่ยวกับการจ่ายสินบนข้ามชาติ ที่ประเทศไทยตกเป็นที่อื้อฉาวบนเวทีโลก โดยกรณีล่าสุดคือ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา (เอสอีซี) ระบุว่า บริษัท ดิอาจิโอ พีแอลซี ผู้ผลิตเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ระดับโลก เช่น สก็อตช์วิสกี้ ยี่ห้อ ‘จอห์นนี่ วอล์คเกอร์’ หรือ ‘วินเซอร์’ ตกลงยอมจ่ายเงินประมาณ 492 ล้านบนาท เพื่อเป็นค่าข้อตกลงระงับคดี หลังถูกตั้งข้อหาติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐบาลอินเดีย เกาหลีใต้ และไทย มานานกว่า 6 ปี
เอสอีซี ระบุถึงข้อมูลเฉพาะประเทศไทยว่า บริษัท ดิอาจิโอฯ จ่ายเงินประมาณ 5.9 แสนดอลล่าร์สหรัฐฯ (ประมาณ 18 ล้านบาท) ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยระดับสูงคนหนึ่งในช่วงปี 2547-2551 เพื่อให้ช่วยวิ่งเต้นในการสู้คดีด้านภาษี และศุลกากรหลายคดี
โดยระหว่างเดือน เม.ย. 2547-ก.ค. 2551 บริษัท ดิอาจิโอฯ ผ่านทาง DT (Diageo Moet Hennessy Thailand) ได้ล็อบบี้หน่วยงานราชการไทยอื่น ๆ เพื่อจัดการให้บริษัท ดิอาจิโอฯ หลบเลี่ยงเงินภาษีหลายล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ และข้อพิพาทด้านศุลกากร โดยจ่ายเงินราว 12,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อเดือน เป็นเวลา 49 เดือน รวมเป็นเงิน 599,322 ดอลล่าร์สหรัฐฯ จ่ายค่าชดเชยโดยตรงให้ทางการไทยทั้ง 49 ครั้ง ให้กับบริษัทที่ปรึกษาทางการเมือง โดยมีทางการไทยเป็นหัวเรือหลัก
โดยตัวแทนจากทางการไทยซึ่งดำเนินการในนามรัฐบาลไทย และ/หรือพรรคการเมืองในช่วงเวลาดังกล่าว รับเงินค่าตอบแทนจาก DT โดยตัวแทนทางการไทยรายนี้ มีโอกาสเข้ามารับตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ รวมถึงเป็นกรรมการในพรรคไทยรักไทยขณะนั้นด้วย (สำนักข่าวอิศรา : นายทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ขณะนั้น)
(อ่านประกอบ : เปิดสำนวนคดีสินบน บ.เหล้าข้ามชาติ ระบุชัดรองเลขาธิการนายกฯ-คน ทรท. เอี่ยว?)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ไล่เรียงช่วงเวลาเหตุการณ์ตามข้อมูลตรวจสอบของ เอสอีซี ดังกล่าว แบ่งได้คร่าว ๆ 2 ช่วง ได้แก่
หนึ่ง ช่วงปี 2547 ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการจ่ายสินบนครั้งนี้ตามการอ้างของบริษัท ดิอาจิโอฯ
จากการสืบค้นมติคณะรัฐมนตรี พบว่า เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2547 กระทรวงการคลัง มีหนังสือ ‘ลับมาก’ ที่ กค 0623/ล. 289 ถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เสนอร่างกฎหมายเพื่อยกเว้นภาษีสรรพสามิต ภาษีสุรา ค่าแสตมป์ยาสูบ และค่าธรรมเนียมสำหรับการประทับตราไพ่ โดยหนึ่งในกฏหมายดังกล่าว มีการเสนอร่างกฏกระทรวง ว่าด้วยการงดเว้นไม่เรียกเก็บภาษีสุรา พ.ศ. …. ด้วย
ถัดมาเพียงวันเดียว เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2547 คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษากันแล้วมีมติอนุมัติตามที่กระทวงการคลังเสนอ กระทั่งเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2547 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำหนังสือแจ้ง รมว.คลัง (ข้อมูลจากเว็บไซต์เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ปรากฏชื่อ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ เป็น รมว.คลัง แต่ไม่มีข้อมูลยืนยันว่า ร.อ.สุชาติ เป็นคนเสนอเรื่องนี้) ว่าได้นำร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
อย่างไรก็ดีจากการสืบค้นข้อมูลในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ไม่ปรากฏว่าเผยแพร่กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวในช่วงเดือน พ.ค. 2547 แต่อย่างใด
(อ่านประกอบ : ก.คลังชง‘ลับมาก’-ครม.แม้ว ไฟเขียวกฏกระทรวงงดเว้นภาษีเหล้าปี47 คดีดิอาจิโอ)
สอง ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2548 เอสอีซี ระบุว่า มีการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของรัฐบาลไทย และทางเจ้าหน้าที่อาวุโสของบริษัท ดิอาจิโอฯ และ DT โดยการประชุมครั้งนี้มีนายกรัฐมนตรีเข้าร่วม(สำนักข่าวอิศรา : นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะนั้น) ต่อมาในเดือน พ.ค. 2548 ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรีได้รับรองบริษัท ดิอาจิโอฯ ให้เข้ามาจัดการด้านภาษี และข้อพิพาทด้านศุลกากร รวมไปถึงนายกรัฐมนตรีกล่าวทางวิทยุ เรื่องรับรองสถานะของบริษัท ดิอาจิโอฯ โดยรับรองว่า กรณีนี้สามารถคิดภาษีสำหรับสินค้าในประเทศตามรูปแบบ ‘เฉพาะ’ ที่คิดตามปริมาณ โดยไม่จำเป็นต้องใช้รูปแบบ ‘ad valorem’ หรือคิดตามราคาสินค้า
จากการสืบค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต พบว่า ในช่วงปี 2548 มีสื่อหลายสำนัก เขียนรายงาน และบทความอ้างอิงคำพูดของนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ที่กล่าวผ่านรายการวิทยุกระจายเสียง ‘นายกฯทักษิณคุยกับประชาชน’
โดยหนังสือพิมพ์สยามรัฐ คอลัมน์คิดระหว่างวัน เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2548 อ้างอิงคำพูดของนายทักษิณ เกี่ยวกับกรณีการเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สรุปได้ว่า เพิ่งได้รับทราบข้อมูลจากชาวต่างประเทศว่า โครงสร้างภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยที่มีการจัดเก็บโดยกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลังมาตลอดนั้น เป็นโครงสร้างภาษีที่ไม่สะท้อนภาพแห่งความจริง และไม่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ล้าสมัย เพราะมีการเลือกใช้วิธีเก็บภาษีแบบไม่คงที่ ไม่ยอมเก็บภาษีตามระดับดีกรีของแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดตลอดมา
ขณะเดียวกันเว็บไซต์ผู้จัดการ 360 องศา เผยแพร่รายงานข่าวอ้างว่า เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2548 นายทักษิณ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ นายทนง พิทยะ รมว.คลัง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายประวิช รัตนเพียร รมว.วิทยาศาสตร์ นายชาติศิริ โสภณพนิช ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจได้หารือร่วมกันเพื่อรายงานสภาวะเศรษฐกิจรายเดือน โดยมีภารกิจปรับโครงสร้างภาษีสุราตามดีกรีด้วย
นายทนง พิทยะ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในส่วนกระทรวงการคลัง วาระสำคัญที่จะมีการประชุมร่วมกันคือ การนำเสนอความคิดเห็นและแนวทางในเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีสุรา โดยจะนำเสนอความคิดเห็นของกระทรวงการคลัง ถึงแนวทางและนโยบายต่อนายกรัฐมนตรีให้ได้รับทราบ เบื้องต้นนายกรัฐมนตรีก็ได้ให้ข้อเสนอแนะมาแล้วในแนวทางปรับโครงสร้างภาษีสุรา
"กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาทางเลือกในการปรับโครงสร้างภาษี ทั้งสุราในประเทศ และสุรานำเข้าจากต่างประเทศ ที่นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายมาว่า การปรับโครงสร้างภาษีสุราควรจะอิงการปรับโครงสร้างภาษีกับระดับดีกรี (แอลกอฮอล์) ซึ่งจะไปดูในรายละเอียดของกฎหมายที่ประเทศไทยบังคับใช้อยู่ว่ามีช่องว่างการเรียกเก็บภาษีเป็นอย่างไร เพราะการเก็บภาษีสุราในปัจจุบันเรียกเก็บภาษีทั้งจากราคาที่นำเข้าและดีกรี แต่ต่อไปอาจจะให้ไปอิงกับดีกรีมากขึ้น แต่ยังไม่เปลี่ยนแปลงกฎหมาย ที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียกเก็บภาษีสุราใหม่จะไม่ทำให้รัฐบาลสูญเสีย รายได้อย่างแน่นอน"
นายทนงยืนยันว่า จะไม่สร้างความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างสุราในประเทศ และสุรานำเข้าจากต่างประเทศ แต่ต้องการเห็นผู้บริโภคได้เลือกสุรามีคุณภาพดีมากกว่า นี่คือหัวใจในการปรับโครงสร้าง (อ่านประกอบ : http://info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=38776)
ภายหลังนายทักษิณ มีแนวคิดปรับโครงสร้างภาษีสุราดังกล่าว ในช่วงเดือน มิ.ย. 2548 ส่วนนายทนง ออกมารับลูกตามนโยบายของนายทักษิณเมื่อเดือน ส.ค. 2548
จากการสืบค้นมติคณะรัฐมนตรี พบว่า เมื่อเดือน ก.ย. 2548 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ในการออกกฎกระทรวงกำหนดชนิดของสุราและอัตราภาษีสุรา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2548 และมีการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยมีการปรับอัตราภาษีใหม่ โดยมีนายทนง พิทยะ รมว.คลัง (ขณะนั้น) ลงนาม (ดูเอกสารประกอบ)
โดยในราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กฏกระทรวงฉบับดังกล่าว ระบุสาระสำคัญว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงอัตราภาษีของสุรากลั่น ชนิดสุราปรุงพิเศษ และชนิดสุราพิเศษให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนลดการบริโภคสุรา เนื่องจากการบริโภคสุราที่มีแรงแอลกอฮอล์สูง ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนมากกว่าการบริโภคสุราที่มีแรงแอลกอฮอล์ต่ำ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ (อ่านกฏกระทรวงกำหนดชนิดของสุราและอัตราภาษีสุรา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2548 : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2548/00170270.PDF)
(อ่าน กฎกระทรวงกำหนดชนิดของสุราและอัตราภาษีสุรา พ.ศ.2546 : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/00118945.PDF)
ทั้งหมดคือข้อมูลเบื้องต้นของรายงานข่าว และมติคณะรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ที่มีช่วงเวลาเกี่ยวเนื่องกันตามข้อมูลการตรวจสอบของ เอสอีซี ที่ระบุว่า บริษัท ดิอาจิโอฯ ยอมรับว่า มีการจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงของไทย รวมเป็นเงินประมาณ 5.9 แสนดอลล่าร์สหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี เอสอีซี ไม่ได้ระบุรายชื่อเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับสินบนแต่อย่างใด ดังนั้นจึงถือว่ายังไม่มีใครเป็นผู้ถูกกล่าวหา ขณะที่เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2560 นายสุวพันธ์ุ ตันยุวรรธณะ รมว.ยุติธรรม เป็นประธานในการประชุมศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ระบุตอนหนึ่งว่า คดีการจ่ายสินบนเจ้าหน้าที่รัฐของบริษัท ดิอาจิโอฯ นั้น ปัจจุบันคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว
ล่าสุดในช่วงเย็นวันที่ 10 ก.พ. 2560 นายทนง พิทิยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา กรณีที่มีการปรับโครงสร้างภาษีสุรา ว่า ไม่เคยได้ยินชื่อบริษัท ดิอาจิโอฯ มากอ่น และไม่ทราบเรื่องที่ล็อบบี้ แต่สาเหตุที่มีการปรับโครงสร้างภาษีสุราดังกล่าว เนื่องจากเจ้าของบริษัทเบียร์แห่งหนึ่ง มาพบและมาเล่าให้ฟังว่า ที่ผ่านมาการเก็บภาษีแอลกอฮอล์ที่คิดตามปริมาณ ทำให้เสียเปรียบคู่แข่ง เนื่องจากคู่แข่งมีดีกรีสูงกว่าในปริมาณที่เท่ากัน จึงอยากให้มีการคิดภาษีให้เป็นไปตามดีกรี นอกจากนั้น การเก็บภาษีสุราของไทย มีหลายรูปแบบไม่เป็นมาตรฐาน ขณะที่ไทยกำลังปรับตัวเข้าสู่อาเซียน จึงได้มอบหมายให้กรมสรรพามิต ไปศึกษาเรื่องนี้ และก็มีการเสนอให้มีการปรับโครงสร้างภาษีตามที่ปรากฎเป็นข่าว ซึ่งไม่ได้มียี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งได้ประโยชน์ ให้เป็นไปตามหลักสากล
นายทนงกล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีการล็อบบี้จ่ายเงินให้กับใครคนใดคนหนึ่ง ที่มีการระบุชัดในรายงานก็คงต้องไปหามาให้ได้ว่าเป็นใคร แต่ตนไม่เคยทราบเรื่องนี้มาก่อน