พบแนวโน้มคนเจนวายแต่งงานช้าลง มีลูกอายุมากเสี่ยงทารกพิการแต่กำเนิดสูง
นายกสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด เผยข้อมูลแต่ละปีมีเด็กพิการแต่กำเนิด 3 หมื่น องค์การอนามัยโลกแนะกินผักใบเขียวที่มีโฟเลตสูงให้ได้อย่างน้อย 0.4 มิลลิกรัม/วัน หรือกินวิตามินโฟลิกในรูปแบบเม็ด ชี้หญิงวัยเจริญพันธุ์ควรทานสัปดาห์ละ 1 เม็ด
เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิดประเทศไทย และกรุงเทพมหานคร แถลงข่าว “ชวนคู่รัก...กินวิตามินโฟลิกก่อนท้อง ป้องกันลูกพิการ”
ศ.เกียรติคุณ พญ.พรสวรรค์ วสันต์ นายกสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด กล่าวว่า ในแต่ละปีมีเด็กพิการแต่กำเนิดประมาณ 30,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่สะสมมากขึ้นทุกปี การป้องกันเด็กพิการแต่กำเนิดสามารถทำได้ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ปรับนิสัยการรับประทานอาหารโดยรับผักใบเขียวที่มีโฟเลตสูงให้ได้อย่างน้อย 0.4 มิลลิกรัมต่อวัน หรือกินวิตามินโฟลิกในรูปแบบเม็ด โดยหญิงวัยเจริญพันธุ์ควรทานสัปดาห์ละ 1 เม็ด ส่วนหญิงที่ต้องการจะมีลูกต้องกินก่อนตั้งท้อง 3 เดือน ต่อเนื่องจนถึง 3 เดือนแรกของการตั้งท้อง ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสี่ยงจากความพิการ ได้แก่ หลอดประสาทไม่ปิด ปากแหว่งเพดานโหว่ ความผิดปกติของแขนขา หัวใจพิการแต่กำเนิด ระบบทางเดินปัสสาวะผิดปกติ ไม่มีรูทวารหนัก และกลุ่มอาการดาวน์
“ยังมีความเข้าใจที่ผิดว่า เมื่อตั้งครรภ์ถึงจะรับประทานวิตามินโฟลิกแต่ในความเป็นจริงแล้วต้องกินก่อนท้อง เพราะวิตามินโฟลิกช่วยการสร้างและแบ่งเซลล์ในตัวอ่อนให้สมบูรณ์ตั้งแต่หลังปฏิสนธิภายใน 28 วัน จึงต้องกินก่อนท้อง ซึ่งวิตามินนี้ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปราคาเม็ดละไม่เกิน 1 บาท ขนาด 5 มิลลิกรัม และขณะนี้มี 85 ประเทศทั่วโลกที่เห็นความสำคัญของการป้องกันเด็กพิการแต่กำเนิดจึงผสมโฟลิกในอาหารและออกเป็นกฎหมาย”ศ.เกียรติคุณ พญ.พรสวรรค์ กล่าว
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันอายุของคู่สมรสที่มาจดทะเบียนมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเจนวาย ที่เกิดระหว่างปี 2525-2548 ที่ผู้ชายแต่งงานอายุเฉลี่ย 29 ปี ส่วนผู้หญิงอยู่ที่อายุ 28 ปี ซึ่งการแต่งงานช้าลงและการมีบุตรในอายุมากขึ้น ทำให้เพิ่มโอกาสความเสี่ยงทางสุขภาพ โดยเฉพาะหากมีลูกอายุ 35 ปีขึ้นไป จะเสี่ยงต่ออาการดาวน์ 2-3 เท่า การทำงานของสสส.เน้นการป้องกันก่อนรักษา จึงจัดทำชุดความรู้และพัฒนาให้เกิดพื้นที่ต้นแบบ 22 จังหวัดโดยหน่วยบริการสุขภาพให้ความรู้เรื่องการป้องกันความพิการแต่กำเนิดด้วยวิตามินโฟลิกแก่หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มารับบริการสุขภาพและให้ความรู้ในสถานศึกษา พร้อมกับทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการส่งเสริมการกินอาหารและผักใบเขียวที่มีโฟแลตสูง ตลอดจนความร่วมมือจากกรมการปกครองและกรุงเทพมหานครที่เล็งเห็นความสำคัญของกลุ่มเป้าหมายคือหญิงที่มาจดทะเบียนสมรสที่ต้องการจะมีบุตรเพื่อป้องกันความพิการแต่กำเนิดตั้งแต่ต้นทาง
นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองอธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า ในปี 2559 มีคู่สมรสที่มาจดทะเบียนสมรสทั้งสิ้น 307,746 คู่ เฉพาะวันวาเลนไทน์มีคู่สมรสที่มาจดทะเบียนในเขตกทม.สูงถึง 3,486 คู่ อย่างไรก็ตามแนวโน้มของคู่ที่มาจดทะเบียนสมรสมีอายุมากขึ้นและอัตราการมีลูกลดลง โดยเฉลี่ยไม่ถึง 2 คน โจทย์สำคัญที่ตามมาคือทำอย่างไรจะได้ประชากรที่เกิดน้อยมีคุณภาพ โดยเฉพาะการลดความเสี่ยงจากความพิการแต่กำเนิดจะช่วยประหยัดรายจ่ายของประเทศถึง 1,000 ล้านบาทต่อปี
พญ.นภาพรรณ วิริยะอุตสาหกุล ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปี 2558 หญิงเจริญพันธุ์อายุระหว่าง 15-49 ปี มีทั้งหมด 18 ล้านคน ในจำนวนนี้ 5 ล้านคนจดทะเบียนสมรส และอีก 5 ล้านคนไม่จดทะเบียนสมรส ซึ่งกลุ่มคนที่จดทะเบียนสมรสถือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องให้ความรู้ เพราะเป็นกลุ่มที่ต้องการวางแผนจะมีลูก ทั้งนี้การดูแลสุขภาพในหญิงที่ต้องการจะมีลูกพื้นฐานควรทานผักผลไม้อย่างน้อย 4 ขีดต่อวัน หรือเสริมวิตามินโฟลิกและธาตุเหล็ก เพื่อป้องกันความพิการแต่กำเนิดและธาตุเหล็กยังส่งผลต่อไอคิวของเด็ก