เปิดสำนวนคดีสินบน บ.เหล้าข้ามชาติ ระบุชัดรองเลขาธิการนายกฯ-คน ทรท. เอี่ยว?
“...ตัวแทนจากทางการไทยซึ่งดำเนินการในนามรัฐบาลไทย และ/หรือ พรรคการเมือง (ในช่วงเดือน เมษายน 2547 -กรกฎาคม 2551 ) รับเงินค่าตอบแทนจาก DT ตัวแทนจากทางการไทยมีโอกาสเข้ามารับตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยู่หลายครั้ง อีกทั้งยังนั่งเก้าอี้คณะกรรมการของพรรคไทยรักไทย และยังเป็นสมาชิก และ/หรือที่ปรึกษาให้กับคณะกรรมการของกิจการด้านอุตสาหกรรมที่เป็นรัฐเป็นเจ้าของและควบคุมดูแลอยู่มากพอสมควร..”
ในบรรดาคดีสินบนข้ามชาติ ที่กำลังรุมถาโถมประเทศไทยอยู่ในขณะนี้คดี “ดิอาจิโอ พีแอลซี” บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ของโลก อย่างสก็อตช์วิสกี้ “จอห์นนี่ วอล์คเกอร์” และ “วินเซอร์” ตกลงจ่ายเงิน 492 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าข้อตกลงระงับคดี หลังถูกตั้งข้อหาติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐบาลอินเดีย เกาหลีใต้ และไทย มานาน 6 ปี
เป็นอีกหนึ่งคดีที่กำลังถูกจับตามองอย่างมากเพราะว่า ข้อมูลการสอบสวนคดีนี้ มีการระบุข้อมูลในส่วนของประเทศไทย ดิอาจิโอฯ จ่ายเงินประมาณ 600,000 ดอลลาร์ ( ประมาณ 18,000,000 บาท) ให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยระดับสูงคนหนึ่ง ในช่วงปี 2547-2551 เพื่อให้ช่วยวิ่งเต้นในการสู้คดีด้านภาษีและศุลกากรหลายคดี แต่ยังไม่มีการเปิดเผยชื่อเจ้าหน้าที่ผู้รับสินบนเหล่านี้
ขณะที่ มีข้อมูลปรากฏว่า คดีนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในยุคที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เคยทำหนังสือแจ้งไปยังกรมศุลกากรในช่วงปลายเดือนธ.ค. 2553 กรณีบริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) หรือชื่อเดิมว่า ริชมอนเด้ (บางกอก) บริษัทลูกของดิอาจิโอ พีแอลซี ในประเทศไทย ผู้ต้องหาในคดีพิเศษที่ 72/2550 ได้มีหนังสือขอทำความตกลงระงับคดีเลี่ยงภาษี ในจำนวนเงินประมาณ 1,500 ล้านบาท
หลังจากที่ในช่วงปี 2546 กองปราบปรามได้เข้าตรวจค้นและอายัดเหล้านอกยี่ห้อแบล็ค เลเบิล และเรด เลเบิล ขนาด 1 ลิตรของบริษัทริชมอนเด้ ประมาณ 45,000 ลัง การสอบสวนขณะนั้นพบว่า อาจมีการทำความผิดในช่วงปี 2545-2548 และเดือนต.ค. 2550 คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) จึงมีมติให้ดีเอสไอรับทำเป็นคดีพิเศษ และตั้งข้อกล่าวหาบริษัทริชมอนเด้ หรือชื่อใหม่ว่า ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) แสดงรายการเท็จเพื่อเลี่ยงภาษีนำเข้าสุราจากต่างประเทศ.
ต่อมาในช่วงเดือนมิ.ย. 2554 กรมศุลกากรมีหนังสือแจ้งกลับมาว่า คณะกรรมการพิจารณาเปรียบเทียบปรับ กรมศุลกากร มีมติให้บริษัทดิอาจิโอฯ ต้องจ่ายค่าปรับให้กรมศุลกากร 2 เท่าของภาษีที่จ่ายไม่ครบ คาดว่าจะเป็นวงเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโทษสูงสุด และขั้นตอนต่อไป ดีเอสไอต้องทำหนังสือไปแจ้งให้ดิอาจิโอฯ เข้ามาเสียค่าปรับ เพื่อขอระงับคดี ถือว่าเป็นสิทธิตามกฎหมาย
ทั้งนี้ การดำเนินงานในส่วนของการเสียค่าปรับ เพื่อระงับคดีความของเอกชนรายนี้ ปัจจุบันไม่แน่ใจว่ามีการจ่ายเงินไปเรียบร้อยแล้วหรือยัง?
แต่ในส่วนของคดีการรับสินบน ของเจ้าหน้าที่รัฐ สำหรับคดีนี้ ดูเหมือนจะยังไม่ปรากฏข้อมูลให้เห็นเป็นรูปธรรมมากนัก
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranes.org ตรวจสอบพบว่า ในรายงานการสอบสวนของ คณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (เอสอีซี) มีการระบุข้อมูลการตรวจสอบคดีนี้ ซึ่งมีเนื้อหาบางส่วน ระบุถึงข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องสินบน ไว้ดังนี้
ตั้งแต่เดือนเมษายน 2547 ถึง กรกฏาคม 2551 บริษัท Diageo ผ่านทาง DT(Diageo Moet Hennessy Thailand)ได้รักษาความสัมพันธ์ทางการค้ากับรัฐบาลไทยและพรรคการเมืองต่างชาติ(ทางการไทย) ในการล็อบบี้ หน่วยงานราชการไทยอื่นๆ เพื่อจัดการให้บริษัท Diageo หลบเลี่ยงเงินภาษีหลายล้านดอลล่าร์สหรัฐฯและข้อพิพาทด้านศุลกากร สำหรับกระบวนการครั้งนี้ DT จ่ายเงินเพื่อล็อบบี้ราว 12,000 ดอลล่าร์สหรัฐต่อเดือน เป็นเวลา 49 เดือน รวมเป็นเงิน 599,322 ดอลล่าร์สหรัฐฯ DT จ่ายค่าชดเชยโดยตรงให้ทางการไทยทั้ง 49 ครั้งให้กับที่ปรึกษาการเมือง (บริษัทที่ปรึกษา)โดยมีทางการไทยเป็นหัวเรือหลัก จำนวนเงินส่วนใหญ่ (หรืออาจจะทั้งหมด) ของยอด 599,322 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ที่จ่ายไปยังบริษัทที่ปรึกษานั้น ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกและการหาประโยชน์ส่วนตน
ตัวแทนจากทางการไทยซึ่งดำเนินการในนามรัฐบาลไทย และ/หรือ พรรคการเมือง (ในช่วงเดือน เมษายน 2547 -กรกฎาคม 2551 ) รับเงินค่าตอบแทนจาก DT ตัวแทนจากทางการไทยมีโอกาสเข้ามารับตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยู่หลายครั้ง
อีกทั้งยังนั่งเก้าอี้คณะกรรมการของพรรคไทยรักไทย (สำนักข่าวอิศรา : นายทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ในขณะนั้น) และยังเป็นสมาชิก และ/หรือที่ปรึกษาให้กับคณะกรรมการของกิจการด้านอุตสาหกรรมที่เป็นรัฐเป็นเจ้าของและควบคุมดูแลอยู่มากพอสมควร ในช่วงที่มีการพูดคุยกับบริษัทที่ปรึกษา ทางผู้จัดการอาวุโสของบริษัท DT ทราบว่าตัวแทนทางการไทยคือคนในรัฐบาล โดยตัวแทนทางการไทยนั้นคือพี่น้อง(น้องชายหรือพี่ชาย)ของผู้จัดการอาวุโสของบริษัท DT
ในขณะนั้น สมาชิกบางส่วนของบริษัท Diageo ทั้งในระดับสากลและส่วนภูมิภาคได้เข้าร่วมพูดคุยกับทางตัวแทนทางการไทยและเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของรัฐบาลไทย ตัวแทนทางการไทยได้จัดการล็อบบี้ในนามของบริษัท Diageoและ DT เพื่อหลบเลี่ยงการจัดการด้านภาษีและข้อพิพาททางศุลกากรที่เกิดขึ้นระว่าง Diageo และรัฐบาลไทย ยกตัวอย่างเช่น การจัดการภาษีสรรพสามิต ทางตัวแทนของทางการไทยได้ให้ความร่วมมือและเข้าร่วมการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของรัฐบาลไทยและทางเจ้าหน้าอาวุโสของ Diageo และทาง DT โดยการพูดคุยเกิดขึ้นถึงสองครั้งในช่วงเดือนเมษายนและ พฤษภาคม 2548 โดยมีนายกรัฐมนตรีร่วมด้วย
ในเดือน พฤษภาคม 2548 ภายหลังจากการประชุมสองครั้งนั้นไม่นาน นายกรัฐมนตรีของไทยได้รับรอง บริษัท Diageo ให้เข้ามาจัดการ
นายกรัฐมนตรีกล่าวทางวิทยุเรื่องการรับรองสถานะของ Diageo อย่างเป็นทางการ โดยรับรองว่าในการนี้สามารถคิดภาษีสำหรับสินค้าในประเทศตามรูปแบบ “เฉพาะ” (ที่คิดตามปริมาณ) โดยไม่จำเป็นต้องใช้รูปแบบ “ad valorem” ที่คิดตามราคาสินค้า
ตัวแทนจากทางการไทยในนามของบริษัท Diageo ได้พูดคุยกับทางผู้บริหารอาวุโสการคลังและกรมศุลกากรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการจัดการด้านภาษีนำเข้า แลกเปลี่ยนสินค้าอยู่บ่อยครั้ง ทั้งนี้ยังพบว่ามีคนในรัฐสภามีสวนรู้เห็นด้วยเช่นกัน ตัวแทนทางการไทยได้จัดการปัญหาด้านภาษีจะเป็นที่น่าพอใจให้กับบริษัท Diageo ยกตัวอย่างเช่น ช่วงระหว่างปี 2547และ 2548
บริษัท Diageo และ DT ได้ร่วมมือกับทางรัฐบาลไทยในการจัดการภาษีเหล้าที่มีขนาด 1 ลิตร ยี่ห้อ จอนนี่ วอล์คเกอร์ เรด เลเบล และ แบล็ค เลเบล สก็อต วิสกี้ อ้างอิงจาก ความพยายามล็อบบี้ของตัวแทนทางการไทย เพื่อให้รัฐบาลไทยนั้นยอมรับข้อตกลงของ DT ในการใช้วิธีการดังกล่าวโดยมีเงินตอบแทนสูงถึง 7 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เป็นตัวการันตีว่าทาง DT นั้น จะสามารถเลี่ยงภาษีตรงนั้นได้ ตามข้อเรียกร้อง บริษัท DT ได้จ่ายเงินเป็นรายเดือนเพื่อรักษาสถานภาพทางการค้ากับทางตัวแทนทางการไทยผ่านบริษัทที่ปรึกษา
การจ่ายเงินแต่ละครั้งนั้น คิดเป็นจำนวนราว 11,989 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ให้กับบริษัทที่ปรึกษา สำหรับค่าปรึกษาและค่านอกเหนือ(ค่านายหน้า) เงินราว 15,169 ดอลล่าร์สหรัฐ ได้ถูกจ่ายในนามค่าทำขวัญ รวมไปถึงค่าจัดการที่เกิดขึ้นในนามรัฐบาล บริษัท DT ได้บันทึกการใช้จ่านส่วนนี้ไว้ว่า (ก) ค่าบริการภายนอก (ข) การจัดทำกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) (ค) การสื่อสาร (ง) ค่าจัดการภายนอก( EA) หรือ (จ) ค่าจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย DT ได้สั่งจ่ายเงินให้กับบริษัทที่ปรึกษาในบัญชีเดียวกัน ก่อนจะย้ายไปยังอีกบัญชีโดยไม่ได้ให้เหตุผลใดๆ ในสมุดบัญชีของ บริษัท DT ไม่ได้มีการบันทึกว่ามีการจ่ายเงินให้กับรัฐบาลไทยและพรรคการเมืองในประเทศในการจัดการล็อบบี้เพื่อหลบเลี่ยงภาษีในครั้งนี้
(อ่านฉบับเต็ม https://www.sec.gov/litigation/admin/2011/34-64978.pdf)
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องสินบนที่ปรากฏอยู่ในรายงานการสอบสวนของ คณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (เอสอีซี) และนำไปสู่ความท้าทายต่อบรรดาหน่วยงานด้านการตรวจสอบของประเทศไทย โดยเฉพาะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า เคยได้รับทราบข้อมูลเรื่องสินบนเหล่านี้หรือไม่
ถ้ารับทราบแล้ว ที่ผ่านมาทำอะไรไปแล้วบ้าง ทำไมข้อมูลส่วนนี้ ถึงเงียบหายไปกับสายลมเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้นแบบที่เห็นและเป็นอยู่ในขณะนี้ ?
ขอบคุณภาพประกอบข่าวจากhttp://oknation.nationtv.tv/blog/home/blog_data/281/281/images/thaksin-sad.jpg